“การะเกด” พาครอบครัวหนีไป “เมืองพริบพรี” เพราะเหตุใด?

ออกญาวิสูตรสาคร พ่อเดช คุณหญิง การะเกด ใน ละคร พรหมลิขิต
ออกญาวิสูตรสาคร (พ่อเดช) กับ คุณหญิงการะเกด (เกศสุรางค์) ในละคร พรหมลิขิต (ภาพจาก เฟซบุ๊ก Broadcast Thai Television )

ในละคร “พรหมลิขิต” ตอนจบ คุณหญิง “การะเกด” และสามี ออกญาวิสูตรสาคร (พ่อเดช) ตัดสินใจที่จะพาครอบครัวย้ายไปอาศัยอยู่ที่ “เมืองพริบพรี” หรือ “เพชรบุรี” หลายคนก็คงจะนึกสงสัยว่า ทำไมถึงต้องย้ายไปยังที่นั่น ใช่ด้วยเหตุว่า เพื่อหลีกหนีสงครามการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ที่พม่าจะยกกองทัพมาโจมตี หรือไม่?

ประเด็นของคำถามนี้จึงอยู่ที่ว่า เมืองพริบพรี เป็นอย่างไรในช่วงสงครามเสียกรุง

คำตอบคือ ไม่รอด!

ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สงครามการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มีการทำสงครามแบ่งออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ ๆ คือ ช่วงแรก พ.ศ. 2303 ที่พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่ายกกองทัพมาด้วยพระองค์เอง และช่วงที่สอง พ.ศ. 2307-2310 ในช่วงที่พระเจ้ามังระเป็นกษัตริย์พม่า

ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีว่า สงครามทั้งสองช่วง เมืองเพชรบุรีอยู่ในเส้นทางเดินทัพของพม่า และก็ไม่รอดพ้นจากการศึกสงคราม

สงครามช่วงแรก พงศาวดารระบุว่า “…พระเจ้าอังวะจึงดำเนินทัพเข้ามา ณ เมืองกุย เมืองปราณ เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี…” แม้กรุงศรีอยุธยาจะไม่เสียแก่พม่าในสงครามช่วงนี้ แต่สงครามในครั้งหลัง เมื่อพม่ายกกองทัพมาอีก เมืองเพชรบุรีก็ต้องรับศึกพม่าอีกครั้ง ดังความว่า “…ครั้นปรึกษาพร้อมกันแล้ว ก็ดำเนินพลพยุหโยธาทัพ สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธทั้งปวงเข้าตีเมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี ยกมาบรรจบกัน ณ บ้านลูกแก…”

เช่นเดียวกับ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน (ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน) ก็กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีในสงครามช่วงแรกว่า “…ฝ่ายทับหน้าพม่าก็ยกมาทางเมืองกุย เมืองปราน เมืองชอ่ำ เมืองเพชบูรีย์ เมืองราชบูรีย จนถึงเมืองสุพรรณบูรี ไม่มีหัวเมืองใดต่อรบแตกหนีไปสิ้น…”

และสงครามในครั้งหลัง ราว พ.ศ. 2308 เมืองเพชรบุรีก็เจอสงครามประชิดเมืองเช่นกัน ดังความว่า “…พม่าก็ยกไปตั้งค่ายอยู่ ณะ ตอกระออม แลดงรัง หนองขาว ให้ต่อเรือรบเรือไล่อยู่ที่นั้นแล้วจัดทับให้ยกแยกกันไปตีเมืองราชบูรี เมืองเพชร์บูรี มิได้มีผู้ใดต่อรบ ยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น พม่าเที่ยวไล่ค้น จับผู้คนครอบครัวได้บ้าง แล้วยกกลับไปยังค่ายซึ่งตั้งอยู่ที่นั้น…” 

นั่นจึงหมายความว่า เมืองเพชรบุรีในสงครามช่วงที่สองนี้ อาจไม่ได้ต่อกรรบกับกองทัพพม่าเลย เพราะชาวบ้านต่างก็หนีเข้าป่าเอาตัวรอดกันไปจนหมด

สรุปแล้ว เมืองเพชรบุรีในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ไม่รอดพ้นเงื้อมมือของกองทัพพม่า ถ้าเป็นเช่นนั้น การะเกดพาครอบครัวไปเมืองเพชรบุรีด้วยเหตุอื่นใดกันแน่?

คำตอบก็หนีไม่พ้น “สงคราม” แต่เป็น “สงครามกลางเมือง” ในช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าท้ายสระนั่นเอง

สงครามกลางเมืองครั้งนี้นับว่าส่งผลกระทบต่อกรุงศรีอยุธยามากทีเดียว การรบราฆ่าฟันกันเองในหมู่พระราชวงศ์และขุนนางน้อยใหญ่ ส่งผลเสียที่คาดไม่ถึงตามมาในระยะยาว นั่นคือ การขาดกำลังคน เพราะฝ่ายพ่ายแพ้ที่ต้องโทษประหาร เจ้านายบางคนหรือขุนนางบางคนคงเป็นผู้มีความรู้ความสามารถต่อการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ไม่มากก็น้อย

ดังที่ รัชกาลที่ 5 เคยมีพระราชวิจารณ์ถึงเรื่องนี้ว่า

“…แผ่นดินขุนหลวงท้ายสระเคราะห์ดีไม่ต้องฆ่าใคร แต่ขุนนางแผ่นดินขุนหลวงเสือเห็นจะมีน้อย เพราะอยู่ในราชสมบัติน้อยตั้งไม่ทันเต็มที่ แผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐ ชาววังหลวงเห็นจะตายเกือบหมด แต่สมุหนายกยังถอดลงเป็นพระยาราชนายก ซึ่งนับว่าเปนคนออกหน้าค่าชื่ออยู่คนเดียว เพราะฉนั้น ขุนนางตามในจดหมายตำรานี้จึงได้ร่องแร่ง เพราะแรกเสวยราชย์หาคนตั้งไม่ทัน ฤาตั้งผู้ใดขึ้นก็ไม่รู้ตำราเก่าเลยทั้งสิ้น…”

แต่ที่จริงแล้ว พรหมลิขิต ในฉบับนิยาย การะเกดก็ได้บอกเหตุผลถึงการย้ายไปอาศัยยังเมืองเพชรบุรีเอาไว้ชัดเจน ดังความว่า “…เรากำลังหาที่ยกครัวย้ายที่อยู่อาศัยใหม่ อีกไม่นานคงต้องให้คุณพี่และพ่อริดลาออกจากราชการจะได้พ้นเหตุการณ์อันตราย ที่อาจจะเกิดขึ้นตอนสงครามกลางเมืองปลายยุคพระเจ้าท้ายสระ และคงต้องเตรียมตัวให้ลูกหลานพร้อมรับเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่สอง…”

การะเกด คงทราบดีว่า ต่อให้อาศัยอยู่ในอยุธยาต่อไป และเลือกเข้ากับฝ่าย “วังหน้า” ซึ่งเป็นฝ่ายชนะตามประวัติศาสตร์ แต่นั่นก็ไม่อาจจะรับประกันว่า พ่อริดจะรอดจากการทำสงครามกลางเมือง การะเกดจึงตัดสินใจย้ายออกไปจากกรุงศรีอยุธยาให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย 

แต่ในส่วนสงครามการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นให้หลังอีกหลายสิบปี การะเกดคงไม่อาจอยู่ถึงวันนั้น แต่เธอก็คงจะเตรียมการให้ลูกหลานรับมือกับสงครามที่จะมาถึง 

การะเกดกล่าวว่า “…เราคิดว่าจะวางแผนให้ลูกหลานเผื่อว่าจะมีใครอยากเป็นทหารกอบกู้บ้านเมือง อย่างน้อยก็จะได้เลือกถูกฝ่าย…” 

คงต้องฝากเป็นคำถามไปถึงการะเกดว่า ทำไมไม่บอกให้ลูกหลานเลือกฝ่าย “มอญ” เพราะถ้าลูกหลานดันไปเป็นทหารกอบกู้บ้านเมืองฝ่าย “เจ๊ก” มีหวังคงถูกประหารฟันคอริบเรือนตามผู้เป็นนายเหนือหัวไปแน่ๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2566