ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
แม้ปัจจุบัน “วัดกุฎีดาว” ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะกลายเป็นวัดที่มีสภาพร้าง แต่ครั้งสมัยพระเจ้าท้ายสระ วัดแห่งนี้กลับได้รับการปฏิสังขรณ์อย่างดี ในสมัย “พระเจ้าท้ายสระ” โดย เจ้าฟ้าพร หรือต่อมาคือ “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ”
“วัดกุฎีดาว” ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองทางทิศตะวันออก ใน จ. พระนครศรีอยุธยา ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่หากสันนิษฐานจากข้อมูล ก็มีปรากฏไว้ 2 ทาง คือ ใน พงศาวดารเหนือ ที่เรียบเรียงขึ้นโดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) กล่าวไว้ว่าเป็น “พระเจ้าธรรมราชา” กษัตริย์ยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ตามข้อความว่า “จุลศักราช 671 (พ.ศ.1852) ปีเถาะ เอกศก พระองค์ทรงสร้างวัดกุฎีดาววัด 1 พระอัครมเหสีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์วัด 1”
ขณะเดียวกันก็มีหลักฐานปรากฏใน “คำให้การชาวกรุงเก่า” ที่ระบุไว้ว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ พ.ศ. 2275-2301) โปรดฯ ให้สร้างวัดมากมาย หนึ่งในนั้นคือ วัดกุฎีดาว “แลพระมหาธรรมราชานั้นมีพระราชศรัทธามาก ให้สร้างพระอารามใหญ่ถึง ๗ พระอาราม คือ วัดคูหาสระ ๑ วัดกุฎีดาว ๑ วัดวรเสลา ๑ วัดราชบุรณะ ๑ วัดวรโพธิ์ ๑ วัดพระปรางค์ ๑ วัดปราไทย ๑…”
แต่ก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าท้ายที่สุดแล้ว ผู้ใดโปรดฯ ให้สร้างกันแน่ เพราะหากเป็น “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” เมื่อเทียบเคียงกับหลักฐานชิ้นอื่นที่ร่วมสมัยกัน กลับไม่ปรากฏข้อมูลดังกล่าวอีก
มีเพียงแค่หลักฐานซึ่งกล่าวถึงการปฏิสังขรณ์ โดย “เจ้าฟ้าพร” ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ หรือต่อมาคือ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยวัดดังกล่าวได้รับการขนานนามว่าเป็นวัดพี่วัดน้องกับ “วัดมเหยงคณ์” เนื่องจากมีการสันนิษฐานว่าอาจสร้างในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งวัดมเหยงคณ์ยังได้รับการปฏิสังขรณ์โดย พระเจ้าท้ายสระ ผู้เป็นพระเชษฐา ขณะที่วัดกุฎีดาวได้รับการปฏิสังขรณ์โดยเจ้าฟ้าพร
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน กล่าวไว้ว่า
“ในปีฉลู เอกศกนั้น มีพระราชบริหารให้ช่างปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ เสด็จพระราชดำเนินไปให้ช่างกระทำวัดเนือง ๆ บางทีก็เสด็จอยู่ที่พระตำหนักริมวัดมเหยงคณ์ เดือนหนึ่งบ้าง ๒ เดือนบ้าง ว่าราชการอยู่ในที่นั้น ๓ ปีเศษ วัดนั้นจึ่งสำเร็จแล้วบริบูรณ์
สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ให้ช่างปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาวอันใหญ่ในปีเถาะ ตรีศก เสด็จไปทอดพระเนตรการที่วัดนั้น เดือนหนึ่งบ้าง ๒ เดือนบ้างเหมือนพระเชษฐาธิราช ๓ ปีเศษ วัดนั้นจึ่งสำเร็จแล้วบริบูรณ์”
นอกจากพระองค์จะปฏิสังขรณ์ ทำนุบำรุงพุทธศาสนสถานแล้ว พระองค์ยังทรงจัดงานฉลองใหญ่ให้แก่วัดแห่งนี้อีกด้วย ปรากฏข้อความใน พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน ว่า
“ในปีมะแม สัปตศกนั้น พระมหาอุปราชให้ฉลองวัดกุฎีดาว บำเพ็ญพระราชกุศล ให้ทานสักการบูชาแก่พระรัตนตรัยเป็นอันมาก ให้เล่นมหรสพสมโภช ๗ วัน การฉลองนั้นสำเร็จบริบูรณ์”
ในสมัยอยุธยาตอนปลาย “วัดกุฎีดาว” จึงเป็นวัดที่มีความสำคัญอย่างมาก ก่อนที่จะค่อย ๆ หมดความสำคัญลงตามกาลเวลา และทิ้งร้างอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “วัดมเหยงคณ์” ศาสนสถานสำคัญแห่งอยุธยา ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์สมัย “พระเจ้าท้ายสระ”
- รู้จัก “พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์” สุดอลังการ ที่มาพระนาม “สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ”
- ดราม่าศาสนายุค “พระเจ้าท้ายสระ” เมื่อ “นายเต็ง” นับถือคริสต์ แต่ถูกบังคับให้บวชพระสงฆ์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.matichonweekly.com/column/article_314125
https://www.matichonweekly.com/column/article_248973
https://ww2.ayutthaya.go.th/travel/detail/46
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ธันวาคม 2566