“วัดมเหยงคณ์” ศาสนสถานสำคัญแห่งอยุธยา ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์สมัย “พระเจ้าท้ายสระ”

วัดมเหยงคณ์ พระเจ้าท้ายสระ
ภาพ : matichon academy

“วัดมเหยงคณ์” ในปัจจุบัน เป็นศาสนสถานร่มรื่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมทางศาสนามากมาย และถ้าย้อนไปสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดมเหยงคณ์ ถือเป็นพุทธศาสนสถานสำคัญ โดยเฉพาะในสมัย “พระเจ้าท้ายสระ”

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าแท้จริงแล้ว “วัดมเหยงคณ์” สร้างขึ้นเมื่อใดกันแน่ เพราะหากอ้างอิงจาก พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา และ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ จะปรากฏหลักฐานว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า หรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดฯ ให้สร้างวัดมเหยงคณ์ขึ้น แต่ต่างปีกัน โดยฉบับแรกกล่าวว่าสร้างขึ้น พ.ศ. 1967 ศักราช 786 มะโรงศก ส่วนอีกฉบับบันทึกว่า พ.ศ. 1981 ศักราช 800 มะเมียศก

ทว่าหากดูใน พงศาวดารเหนือ กลับกล่าวว่า พระอัครมเหสีของพระเจ้าธรรมราชา เป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์

แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าวัดมเหยงคณ์สร้างขึ้นในปีไหน แต่ในสมัย “พระเจ้าท้ายสระ” ปรากฏหลักฐานว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัด โปรดให้ปลูกพระตำหนักอยู่ริมวัดเพื่อบัญชาการปฏิสังขรณ์ ทั้งยังมีการทำนุบำรุงวัดมากมาย แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของวัดมเหยงคณ์ในสมัยนั้น 

ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 82 เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน หน้า 310-311 ได้กล่าวไว้ว่า 

“ในปีฉลู เอกศกนั้น มีพระราชบริหารให้ช่างปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ เสด็จพระราชดำเนินไปให้ช่างกระทำวัดเนือง ๆ บางทีก็เสด็จอยู่ที่พระตำหนักริมวัดมเหยงคณ์ เดือนหนึ่งบ้าง ๒ เดือนบ้าง ว่าราชการอยู่ในที่นั้น ๓ ปีเศษ วัดนั้นจึ่งสำเร็จแล้วบริบูรณ์…

ในปีมะเส็งให้ฉลองวัดมเหยงคณ์ ทรงพระราชศรัทธาบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นอันมาก ทรงพระราชทานเครื่องบริขารและวัตถุทานต่าง ๆ แก่พระสงฆ์ ๑,๐๐๐ ตามราชประเพณีแต่ก่อน มีงานมหรสพสมโภช ๗ วันเสร็จบริบูรณ์การฉลองนั้น ในปีมะเมียฉศก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้ช่างไม้ต่อกำปั่นไตรมุข ยาว ๑๘ วา ๒ ศอก ปากกว้าง ๖ วา ๒ ศอก

ให้ตีสมอใหญ่ที่วัดมเหยงคณ์ ๕ เดือนกำปั่นใหญ่นั้นแล้ว ให้เอาออกไปยังเมืองมะริด บรรทุกช้างได้ ๓๐ ตัวเศษ ให้ไปขายช้าง ณ เมืองเทศโน้น คนทั้งหลายลงกำปั่นใช้ใบไปถึงเมืองเทศแล้วขายช้างนั้นได้เงินและผ้าเป็นอันมาก แล้วกลับคืนมายังเมืองมะริด สิ้น (เวลา) ปีเศษ”

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้วัดมเหยงคณ์รุ่งเรืองตลอดสมัยปลายอยุธยา ก่อนที่วัดแห่งนี้จะกลายเป็นวัดร้าง เนื่องจากเหตุการณ์กรุงแตกในปี 2310 

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

www.watmahaeyong.or.th/history/

www.matichonweekly.com/column/article_248973


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2566