กรมหลวงประชานุรักษ์ “พระอัครมเหสี” พระเจ้าท้ายสระ

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงมี พระมเหสี พระนาม กรมหลวงประชานุรักษ์ ทรงมี พระราชโอรส และ พระราชธิดา หนึ่งในนั้นคือ เจ้าฟ้าอภัย
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (ภาพจากละครเรื่องพรหมลิขิต)

เรื่องราวของ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ กษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ปรากฏในหลักฐานกรุงศรีอยุธยาไม่มากนัก อย่างไรก็ดี ก็ยังพอมีกล่าวถึงให้คนรุ่นหลังได้ทราบพระราชประวัติของพระองค์อยู่บ้าง เช่น พระอัครมเหสีของพระองค์ ทรงมีพระนามว่า กรมหลวงประชานุรักษ์

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึง กรมหลวงประชานุรักษ์ ว่า ทรงเป็น “พระอัครมเหสี” ไว้ดังนี้

“สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา มีพระราชบุตรด้วยพระอัครมเหสีกรมหลวงประชานุรักษ์นั้น ๕ พระองค์ คือเจ้าฟ้านเรนทร ๑ หญิงเจ้าฟ้าเทพ ๑ หญิงเจ้าฟ้าปทุม ๑ เจ้าฟ้าอภัย ๑ เจ้าฟ้าบรเมศ ๑…”

ส่วน คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงมี “พระมเหสี” พระนามว่า “เจ้าท้าวทองสุก”

“ครั้นพระสุริเยนทราธิบดีสวรรคตแล้ว พระราชโอรสอันชื่อพระสุรินทรกุมาร อันเปนพระเชษฐานั้น ได้ผ่านพิภพธานีสืบไป ในเมื่อจุลศักราชได้ ๑๐๖๙ ปีชวดนพศก จึ่งทำราชาภิเศกตามประเพณี จึ่งถวายนามเรียกว่าพระภูมินทราชาก็เรียก พระบรรยงก์รัตนาศน์ก็เรียก ทรงเบ็ดก็เรียก พระมเหษีนั้นพระนามเรียกเจ้าท้าวทองสุก จึ่งมีพระราชบุตรแลพระราชธิดาในเจ้าท้าวทองสุกนั้นหกองค์

“พระราชโอรสองค์ใหญ่นั้น พระนามเรียกเจ้าฟ้านเรนทร์ ถัดมาชื่อเจ้าฟ้าอไภย แล้วถัดมาชื่อเจ้าฟ้าปรเมศร์ ถัดมาชื่อเจ้าฟ้า ถัดพระกุมาร ๔ องค์ยังพระราชธิดาอิกสององค์ องค์หนึ่งพระนามเรียกเจ้าฟ้าเทพ พระธิดาสุดพระครรภ์นั้น ชื่อเจ้าฟ้าประทุม ในพระครรภ์เจ้าท้าวทองสุกนั้น ทั้งพระราชบุตรีเปนหกองค์ด้วยกัน

“แล้วมีในพระสนมเอกนั้นองค์หนึ่ง พระนามเรียกพระองค์เชษฐาเปนกุมาร ยังพระราชนัดดาชื่อหม่อมเจ้าเพชหึงกุมาร ยังบุตรี ๔ องค์นั้น ชื่อหม่อมเจ้าฝรั่ง ๑ หม่อมเจ้าปุก ๑ หม่อมเจ้าหงษ์ ๑ หม่อมเจ้าอิง ๑ อันพระราชนัดดาทั้งกุมารแลบุตรีทั้งสิ้น ๔ องค์ด้วยกัน ทั้งพระราชบุตรแลพระราชธิดา ทั้งพระนัดดาสิ้นทั้งเจ้าฟ้าพระองค์เจ้าทั้งสิ้น เปน ๑๑ องค์ด้วยกัน…”

หมายเหตุ : ในเครื่องหมายคำพูด จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำ เพื่อความสะดวกในการอ่าน โดย กอง บก.

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. พระนคร: ศิวพร. พ.ศ. 2511.

คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง. ในเว็บไซต์วัชรญาณ https://bit.ly/481IWAc


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ธันวาคม 2566