กำเนิด “อาชีวศึกษา” โรงเรียนช่างกล โรงเรียนพาณิชย์เกิดขึ้นเมื่อใด 

นักเรียน นักเรียนอาชีวะ อาชีวศึกษา ช่างกล
นักเรียนอาชีวะ การเรียนเพื่อฝึกวิชาชีพช่างสาขาต่างๆ (ภาพจาก www.matichon.co.th)

กำเนิด “อาชีวศึกษา” โรงเรียนช่างกล โรงเรียนพาณิชย์ เกิดขึ้นครั้งแรกในไทยเมื่อใด?

การศึกษาไทยในอดีตเกิดขึ้นเพื่อรองรับระบบราชการ แต่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเติบโตมากขึ้น การศึกษาวิชาชีพ หรือ “อาชีวศึกษา” ก็เกิดขึ้น เพื่อสอนและฝึกให้มีความชำนาญในงานช่างต่างๆ ที่ไม่ได้มีแต่ช่างกลอย่างเดียว หากยังหมายรวมถึง วิชาคหกรรม, พาณิชยกรรม ฯลฯ เข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งในยุคหนึ่งขาดแคลนและต้องพึ่งพิงชาวต่างชาติ

พัฒนาการ โรงเรียน “อาชีวศึกษา” ของไทยสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

พ.ศ. 2441 ทางการจัดตั้งการศึกษาศิลปศาสตร์ เพื่อฝึกหัดฝีมือ 3 ด้าน ได้แก่ การสอนงานช่างฝีมือต่างๆ งานเกษตรกรรม และงานครัวเรือน

พ.ศ. 2450 กระทรวงธรรมการยกฐานะ “กองช่างแกะไม้” ที่มีช่างเขียนและช่างแกะไม้ สำหรับแม่พิมพ์เป็นภาพประกอบแบบเรียนของกระทรวงธรรมการ เป็น “สโมสรช่าง” เปิดสอนวิชาช่าง รับทำงานช่างเขียน ช่างแกะสลัก ถือเป็น  “โรงเรียนอาชีวศึกษาแห่งแรก” ที่จัดสอนวิชาช่าง 

พ.ศ. 2454 สโมรช่างเปลี่ยนชื่อว่า “โรงเรียนหัตถกรรมราชบูรณะ” จัดสอนวิชาพณิชยกรรมเกษตรกรรมและศิลปกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ภายหลังรัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” ใน พ.ศ. 2456 ปัจจุบันคือ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์”

พ.ศ. 2453 กระทรวงธรรมการจัดตั้ง “โรงเรียนพาณิชยการยุคแรก” ขึ้น 2 แห่ง คือ โรงเรียนพาณิชยการวัดมหาพฤฒาราม และโรงเรียนพณิชยการวัดราชบูรณะ ปี 2459 รวมโรงเรียนทั้งสองแห่งแล้วย้ายไปที่วัดแก้วฟ้าล่าง เรียกว่า “โรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง” ปี 2483 รวม โรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง กับโรงเรียนพณิชยการวัดสามพระยา เป็น “โรงเรียนพณิชยการพระนคร” ปัจจุบันคือ “มหาวิทยาลัยสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร”

พ.ศ. 2466 โรงเรียนเพาะช่าง มีการเปิดแผนการสอนใหม่คือ “แผนกก่อสร้าง” ต่อมาปี 2475 เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย” ปัจจุบันคือ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย”

พ.ศ. 2475 คณะนายทหารเรือคณะหนึ่ง มี น.อ.พรประกอบกลกิจ ร.น. หัวหน้าเห็นว่า งานช่างอุตสาหกรรมมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของชาติ จึงก่อตั้ง “โรงเรียนอาชีพช่างกล” สอนช่างตีเหล็ก, ช่างกลโรงงาน, ช่างเครื่องยนต์ ฯลฯ โดยให้มีการฝึกหัดงานที่กรมอู่ทหารเรือ ต่อมาโอนมาสังกัดกระทรวงธรรมการ ก่อนจะพัฒนามาเป็น “โรงเรียนช่างกลปทุมวัน” (พ.ศ. 2478) ปัจจุบันคือ “สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน”

พ.ศ. 2476 ตั้ง “โรงเรียนช่างตัดเสื้อวัดสุทัศน์” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนช่างตัดเสื้อพระนคร” สังกัดกรมอาชีวศึกษา ปี 2520 เปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” สังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ปัจจุบันคือ “มหาวิทยาลัยสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร”

พ.ศ. 2479 มีการใช้คำว่า “อาชีวะศึกษา” (ปี 2495 จึงเขียนเป็น “อาชีวศึกษา”) แทน “วิสามัญศึกษา” ในประการแผนการศึกษาของกระทรวงธรรมการ

พ.ศ. 2480-2481 การเปิดโรงเรียนอาชีวศึกษาแพร่หลายไปทั่วประเทศ โรงเรียนอาชีวะที่เกิดในยุคนี้ได้แก่ โรงเรียนช่างทอผ้าลำปาง (วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง), โรงเรียนช่างไม้สมุทรปราการ (วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ), โรงเรียนช่างสตรีร้อยเอ็ด (วิทยาลัยอาชีวศึกษาร้อยเอ็ด) ฯลฯ

พ.ศ. 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยปัญหาเรื่องความปลอดภัย และเศรษฐกิจ จำนวนนักเรียนน้อย ส่งผลให้โรงเรียนอาชีวศึกษาหลายแห่งต้องปิดตัวลง

พ.ศ. 2495 ด้วยความช่วยเหลือด้านบุคลากรและอุปกรณ์ กระทรงศึกษาได้จัดตั้ง “วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ” และวิทยาลัยเทคนิคอีก 3 แห่งในภูมิภาค คือ วิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ ที่สงขลา, วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นครราชสีมา และวิทยาลัยเทคนิคภาคเหนือ ที่เชียงใหม่

พ.ศ. 2500 โรงเรียนอาชีวศึกษาได้รับความสนใจจากนักเรียน และผู้ปกครองอย่างมาก เนื่องจากเมื่อเรียนจบแล้วมีโอกาสได้ทำงานมาก จึงมีการจัดตั้งโรงเรียนเพิ่มคือ โรงเรียนพาณิชยการธนบุรี, โรงเรียนวัดพระเชตุพนตั้งตรงจิตรวิทยาลัย ที่เปิดสอนแผนพณิชยการ ส่วนภูมิภาค มีการตั้งโรงเรียนช่างกลลพบุรี ที่จังหวัดลพบุรี

พ.ศ. 2501 การจัดตั้งโรงเรียนช่างกลพระนครเหนือ และโรงเรียนช่างกลนนทบุรี ขณะเดียวกันองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ช่วยปรับปรุงโรงเรียนการช่างในการพัฒนาครูสาขาวิชาก่อสร้าง, ช่างไฟฟ้า, ช่างวิทยุ, ช่างเชื่อมโลหะ และช่างกลโรงงาน

พ.ศ. 2502 รัฐบาลเยอรมนีให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้ง “โรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ” เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อว่า “เทคนิคไทย-เยอรมัน” ปี 2507 ยกฐานะเป็น “วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ” ปัจจุบันคือ “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ”

ในปีเดียวกันนี้ยังมีการจัดตั้ง “โรงเรียนสารพัดช่างธนบุรี” เพื่อสอนวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้นขึ้น นับเป็นแห่งแรกของกรมอาชีวศึกษา สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้

เหล่านี้คือพัฒนาการ อาชีวศึกษา โรงเรียนช่างกล โรงเรียนพาณิชย์ ในเมืองไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ปัญญชาติ วงษ์ปัญญา. จากวิทยาลัยเทคนิคสู่สถาบันการอาชีวศึกษา : ความพร้อมในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่, การค้นคว้าอิสระหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2527.

“พณิชยการพระนคร โรงเรียนพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2533.

FRONT

สาวิตรี คำยอด. คู่มือการปฏิบัติงานการลงทะเบียนของนักศึกษา คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นมหาวิทยาลัยสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

https://www.kmutnb.ac.th


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2566