ฟื้นตำนาน “อุเทนถวาย”

โรงเรียนช่างก่อสร้าง อุเทนถวาย โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

“โรงเรียนช่างก่อสร้าง อุเทนถวาย เกิดก่อน ทั้งเป็นโรงเรียนสำหรับพระนคร จึงต้องรับภาระอันจะเป็นแบบอย่างแห่งโรงเรียนช่างก่อสร้างทั้งหลาย กับเป็นที่เพาะวิชาครูช่างเพื่อไปเผยแผ่วิชาช่างในโรงเรียนช่างก่อสร้างทั้งหลายอันจะเกิดขึ้นสะพรั่งตั้งแต่นี้ไป”

ข้อความดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในคำอวยพรของ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ มอบให้แก่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เมื่อแรกสถาปนาในพุทธศักราช 2475

การจัดการศึกษาวิชาช่างไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภไว้แล้ว แต่ยังมิทันได้โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน กระทั่งถึงพุทธศักราช 2456 กระทรวงธรรมการ ซึ่งมี เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นเสนาบดี ได้จัดการก่อสร้างโรงเรียนฝึกหัดการหัตถกรรม เพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นที่บริเวณถนนตรีเพชร และนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานนาม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม พุทธศักราช 2456 ครั้งนั้นมีพระราชดำรัสตอบความตอนหนึ่งว่า

“ตามที่เจ้าพระยาพระเสด็จอ่านรายงานเรื่องสร้างโรงเรียนนี้ว่า ได้กระทำขึ้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถของเรานั้น เราเชื่อว่าถ้ามีวิถีอันใดที่กิตติศัพท์อันนี้จะทรงทราบถึงพระองค์ได้ แม้จะเสด็จอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม คงจะทรงยินดีและพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก เพราะว่าพระองค์ได้มีพระราชประสงค์อยู่นานแล้วที่จะทรงบำรุงศิลปวิชาการของไทยเราให้เจริญ ตัวเราเองก็ได้เคยฟังกระแสพระราชดำริอยู่เสมอ เราเห็นพ้องด้วยกระแสพระราชดํารินั้นตั้งแต่ต้นมา

คือเราเห็นว่าศิลปวิชาช่างเป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งสำหรับแสดงให้ปรากฏว่า ชาติได้ถึงซึ่งความเจริญเพียงใดแล้ว…ฯลฯ…เราได้เคยปรารภกับเจ้าพระยาพระเสด็จและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วยการศึกษาที่จะใช้วิชาช่างของเราตั้งขึ้นใหม่จากพื้นเดิมของเราแล้ว และขยายให้แตกกิ่งก้านสาขางอกงามยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนเอาพันธุ์พืชของเราเองมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา แล้วบำรุงให้เติบโตงอกงาม ดีกว่าจะเอาพันธุ์ไม้ต่างประเทศมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา อันไม่เหมาะกัน

โดยความประสงค์เช่นนี้ เมื่อเจ้าพระยาพระเสด็จมาขอชื่อโรงเรียน เราระลึกผูกพันอยู่ในความเปรียบเทียบกันต้นไม้ดังกล่าวนี้ เราจึงได้ให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนเพาะช่าง”

โรงเรียนเพาะช่าง เปิดสอนวิชาช่างหัตถกรรมไทยมาแต่แรกตั้ง มี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทรงเป็นที่ปรึกษาโรงเรียนตั้งแต่พุทธศักราช 2462 และทรงเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่างตั้งแต่พุทธศักราช 2465 กระทั่งสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พุทธศักราช 2466

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง ตามราชประเพณีที่ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าต่างกรม และ “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินการพระราชกุศลถาวรวัตถุสำหรับงานพระเมรุ ท้องสนามหลวงคราวนี้ เปนเงิน 10,000 บาท ให้สร้างโรงงานนักเรียนเพาะช่าง ทรงพระราชอุทิศพระราชทานแด่สมเด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชร์บูรณ์อินทราชัย…”

โรงงานของโรงเรียนเพาะช่างที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนี้ ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายปัจจุบัน

โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย (ภาพจาก เฟซบุ๊ก มูลนิธิสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย)

ที่มาของนามอุเทนถวาย

ถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ทรงเป็นเสนาบดี กระทรวงธรรมการ พระเสนอพจนพากย์ (เสนอ รักเสียม) เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเพาะช่าง ช่วงเวลาดังกล่าวขาดแคลนช่างไม้และช่างก่อสร้างที่เป็นคนไทย ช่างก่อสร้างที่มีอยู่ส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ

หัวหน้าผู้ควบคุมการก่อสร้างมักเป็นชาวจีน เพื่อเป็นการทำนุบำรุงวิชาการก่อสร้างไทย ในพุทธศักราช 2474 จึงได้เปิดการสอนวิชาช่างแผนกแบบแปลน และเปิดแผนกรับเหมาก่อสร้างขึ้นที่เชิงสะพานอุเทนถวาย ถนนพญาไท อันเป็นที่ตั้งของโรงงานนักเรียนเพาะช่าง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น อุทิศพระราชทานแด่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ตั้งแต่พุทธศักราช 2466 ให้ชื่อแผนกที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกก่อสร้าง

สะพานอุเทนถวาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานนักเรียนเพาะช่าง อันเป็นที่มาของชื่อโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายนั้น เป็นสะพานข้ามคลองสวนหลวง ถนนพญาไท คลองนี้เชื่อมต่อกับคลองอรชร ข้าราชการและพนักงานกรมสรรพากรในร่วมกันบริจาคเงินจำนวน 8,015 บาท 40 สตางค์ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างสะพานในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช 2455 พร้อมกับสะพานช้างโรงสี ที่ข้ามคลองหลอดเยื้องกระทรวงกลาโหม ซึ่งรื้อของเดิม และสร้างขึ้นใหม่ ส่วนสะพานที่ข้าราชการกรมสรรพากรในประสงค์จะสร้างถวายนั้น โปรดเกล้าฯ ให้สร้างที่คลองสวนหลวง

ครั้งนั้น เจ้าพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งกำกับดูแลกรมสุขาภิบาล ได้เสนอชื่อสะพานที่จะสร้างใหม่ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเลือก 4 ชื่อ ได้แก่ สะพานอุเทนอุทิศ สะพานสรรพากรอุทิศ สะพานบริวารถวาย และสะพานเบญจมราชูทิศ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “อุเทนถวาย”

กรมสรรพากรมีตราประจำกรมเป็นรูป “พระเจ้าอุเทนดีดพิณ” หรือ “อุเทนราชดีดพิณ” ดังนั้น “อุเทนราช” จึงเป็นสัญลักษณ์ของกรมสรรพากรและข้าราชการในสังกัด สะพานอุเทนถวายจึงหมายถึง “สะพานที่ข้าราชการกรมสรรพากรสร้างถวาย” สะพานนี้สร้างเสร็จและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทรงเปิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พุทธศักราช 2456 ปัจจุบันสะพานดังกล่าวถูกรื้อแล้ว

กำเนิดช่างก่อสร้าง อุเทนถวาย

พุทธศักราช 2475 คณะราษฎรยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ต่อมาถึงเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2475 ระหว่างนั้นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้มีคำสั่งเรื่องตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาช่างก่อสร้าง เป็นการส่งเสริมการศึกษาวิชาช่างไทย ความในคำสั่งมีดังนี้

“บัดนี้ถึงเวลาสมควรที่จะจัดตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดวิชชาชีพต่อไป เพราะฉะนั้นให้ตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาขึ้นที่โรงงานของโรงเรียนเพาะช่าง ถนนพญาไท เชิงสะพานอุเทนถวาย ตำบลถนนพญาไทโรงหนึ่ง ให้ชื่อว่า “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย” และขึ้นแขวงวิสามัญ กับให้มีกรรมการจัดการโรงเรียนขึ้นคณะหนึ่ง ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่งแต่ ณ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2475

(ลงนาม) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดี

โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2554)

หลังจากมีคำสั่งตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายแล้ว เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้เสนอโครงการจัดวิสามัญศึกษา แผนก โรงเรียนช่างก่อสร้าง ไปยังประธานคณะกรรมการราษฎร เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 การจัดการศึกษาในโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายกำหนดชั้นต้นกับชั้นกลาง ดังปรากฏในโครงการที่เสนอตอนหนึ่งว่า

“เวลานี้กำลังเริ่มตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างชั้นประถมวิสามัญกับมัธยมต้นวิสามัญซึ่งควรจะมีมากแห่งในพระนคร และในนิคมคามต่าง ๆ ได้ตั้งโรงเรียนแรกเรียกว่า โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย จะได้เปิดรับนักเรียนในไม่ช้า แผนกประถมวิสามัญรับนักเรียนจบประถมสามัญแล้ว ให้เรียนเป็นช่างไม้ช่างปูนและช่างทาสี แผนกมัธยมต้นวิสามัญรับนักเรียนจบมัธยมต้นแล้ว ให้เรียนวิชาช่างนั้น ๆ จนมีความรู้สูงขึ้นไปเป็นนายช่างคุมงานและกะงานอย่างหัวหน้าช่างจีนที่เรียกว่า ‘จีนเต็ง’ ได้ เวลาเรียนมีกำหนดราว 4 ปี ทั้ง 2 ชั้น มีการเรียนวิชชาสามัญเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยตามสมควร…

โรงเรียนช่างชั้นสูงสอนวิชชาสถาปัตยกรรม หัดให้เป็นสถาปนิก Architect คือ นายช่างผู้ออกแบบการก่อสร้าง บัดนี้เปิดสอนอยู่แล้วในโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งต่อไปจะได้สมทบเข้าเป็นส่วนหนึ่งในมหาวิทยาลัยตามควรแก่ฐานชั้นอุดมศึกษา…”

เสนาบดีกระทรวงธรรมการมีบัญชาให้ตั้งคณะกรรมการจัดการ โรงเรียนช่างก่อสร้าง อุเทนถวาย ประกอบด้วย พระยาวิทยาปรีชามาตย์ พระยาปริมาณสินสมรรค พระยาโสภณหิรัญกิจ จมื่นสุรฤทธิ์พฤฒิไกร หลวงอาจอัคคีการ นายนารถโพธิประสาท และมีหลวงวิศาลศิลปกรรมเป็นครูใหญ่ เปิดรับนักเรียนเข้าศึกษาวิชาช่างก่อสร้าง เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พุทธศักราช 2476 ครั้งนั้นมีนักเรียนทุกชั้นทุกแผนกรวมกันจำนวน 92 คน

ถึงวันที่ 4 มิถุนายน พุทธศักราช 2477 กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งยุบโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ให้กลับไปสังกัดโรงเรียนเพาะช่างดังเดิม และแต่งตั้งให้ ร.อ. ขุนบัญชารณการ (วงศ์ จารุศร) รับมอบงานจากครูใหญ่คนเดิม ครั้นถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2477 (สมัยนั้นกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) พระสารศาสตร์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีคำสั่งให้โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย แยกจากโรงเรียนเพาะช่างและแต่งตั้งให้ ร.อ. ขุนบัญชา รณการ (วงศ์ จารุศร) ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่

เมื่อกระทรวงธรรมการมีคำสั่งให้แยกโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายจากโรงเรียนเพาะช่างนั้น ผู้บริหารกระทรวงธรรมการมีความเห็นว่า นักเรียนช่างก่อสร้างควรได้ฝึกปรือความรู้ความชำนาญจากการก่อสร้างจริง ดังนั้น กระทรวงธรรมการจึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2477 ขอให้โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายเป็นผู้จัดสร้างอาคารในสังกัดของกระทรวงธรรมการโดยไม่ต้องมีการประกวดราคา ดังความตอนหนึ่งในหนังสือว่า

“อนึ่ง กระทรวงธรรมการมีโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายซึ่งจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือให้มีการงานบางอย่างทำ เพื่อเป็นการฝึกหัดของนักเรียน ฉะนั้นการก่อสร้างภายในวงงานของกระทรวงธรรมการ เมื่อกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เขียนแบบและคิดราคาเสร็จแล้ว ถ้าโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายจะรับทำได้ตามราคานั้น ก็ขออนุมัติเป็นพิเศษให้โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายทำ โดยไม่ต้องประกวดราคา…”

ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ผลงานของโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายในระยะนั้นมีมากมาย เช่น อาคารเรียนโรงเรียนศึกษานารี อาคารสมาคมศิษย์เก่าบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อาคารโรงเรียนช่างกลปทุมวัน อาคารโรงเรียนเสาวภา เป็นต้น

ต่อมา โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายได้เป็นผู้สร้างอาคารที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงธรรมการอีกหลายแห่ง เช่น ในพุทธศักราช 2488 กระทรวงคมนาคมจ้างเหมาให้ก่อสร้างอาคารของกรมรถไฟที่จังหวัดนครราชสีมา ระยะเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อก่อสร้างอาคารต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยตามสัญญาแล้ว แต่ยังไม่ทันได้ส่งมอบงาน บริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมาถูกโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิดถูกอาคารของกรมรถไฟที่สร้างขึ้นบริเวณนั้น ทำให้อาคารเสียหายอย่างหนัก ครูผู้ควบคุมงาน 1 ราย และคนงานอีก 2 ราย เสียชีวิต

โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ กระทั่งถึงพุทธศักราช 2517 กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศยกฐานะเป็นวิทยาลัยอุเทนถวาย และในพุทธศักราช 2518 โอนเข้าสังกัดเป็นวิทยาเขตหนึ่งของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตอุเทนถวาย

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน พุทธศักราช 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เป็น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ทำให้โรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งนี้ได้นามใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย และปัจจุบันโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายมีสถานภาพเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย

ช่างก่อสร้างอุเทนถวายเป็นสถาบันการศึกษาเก่าแก่ เป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกที่อุบัติขึ้นในประเทศไทยและผลิตช่างฝีมือคุณภาพออกรับใช้สังคมอย่างต่อเนื่อง เกียรติภูมิของสถาบันแห่งนี้เป็นที่ชื่นชมของบรรดาครูบาอาจารย์และศิษย์ช่างก่อสร้าง สมกับคำอวยพรของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ที่มอบให้โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ตอนหนึ่งว่า

“องค์การของโรงเรียน นอกจากสถานที่และเครื่องมือทั้งหลาย ย่อมประกอบด้วยอาจารย์และศิษย์ทุกส่วนประมวลกันเข้าแล้ว จึงเกิดมีการสอนการเรียนที่มุ่งหมาย เพราะฉะนั้นภาระทั้ง 2 อย่างที่กล่าวมาแล้ว จึงมิได้ตกแก่ใครที่ไหน ย่อมตกอยู่แก่อาจารย์ และศิษย์นั่นเอง อาจารย์และศิษย์ร่วมกันรับผิดชอบในภาระนั้น ๆ จึงเท่ากับกำชื่อเสียงของโรงเรียนไว้ในมือของตน ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็ว่า อาจารย์ ครู และศิษย์ทุกคนเป็นผู้จะบันดาลชื่อเสียงของโรงเรียนให้เกิดขึ้นได้ทั้งฝ่ายดีและชั่ว โดยการกระทำของตน ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ฟื้นตำนาน อุเทนถวาย” เขียนโดย บุญเตือน ศรีวรพจน์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 2565