หลวงวิศาลศิลปกรรม ช่าง 5 แผ่นดิน ออกแบบตึก-โบสถ์ดังทั่วกรุง ไฉนสมัครเป็นข้าราชการ

หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) ถ่ายโดย เอนก นาวิกมูล (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2562) ฉากหลังเป็นภาพประกอบเนื้อหา (ภาพถ่ายมุมสูงจาก กรุงเทพฯ 2489-2539, กรมศิลปากร 2539)

เหตุที่จะเขียนเรื่อง ศาสตราจารย์ หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) นอกจากเพราะเห็นว่าประวัติช่างไทยยุคเก่าไม่ค่อยมีใครบันทึก น่าจะมาจากความประทับใจในผลงานทางช่างของท่านข้อหนึ่ง ท่านทำไว้มากเหลือเกิน

หลวงวิศาลฯ คือคนออกแบบตึกและโบสถ์สวยๆ หลายแห่ง เช่น ตึกจักรพงษ์ ตึกคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตึกในโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย พระอุโบสถใหม่ของวัดราชบุรณะ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า

ถอดแบบทำปราสาทเขาพระวิหารจำลอง ปราสาทเขาพนมรุ้งจำลอง-พระพุทธบาทจำลอง พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทจำลอง ฯลฯ ในเมืองโบราณ บางปู (เริ่มทำงานนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 – เมืองโบราณเปิด พ.ศ. 2517)

เป็นผู้แกะตราครุฑพระบรมราชานุญาต ติดที่หน้าตึกบริษัทรัตนมาลาสี่แยกพาหุรัดซึ่งหลายคนชมว่าสวยมาก (ตึกรัตนมาลาถูกรื้อสร้างเป็น ดิ โอลด์ สยาม ยุค 2530 ใครประมูลครุฑไปได้ไม่ทราบ)

ฯลฯ

รู้สึกแปลกใจที่คนรุ่นเก่าอย่างท่าน เกิดตั้งแต่กลางรัชกาลที่ 5 ทำไมจึงเก่งกว่าคนยุคเราหลายเท่า

ทำนองเดียวกับพระยาอนุมานราชธน (ยง อนุมานราชธน เจ้าของนามแฝง เสฐียรโกเศศ) และขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์ ที่เป็นทั้งนักวิชาการและผู้กำกับภาพยนตร์)

ในขณะที่คนร่วมยุคจำนวนมากกลายเป็นคนแก่ธรรมดาๆ

เมื่อเกิดความนิยม ที่สุดก็ขอไปเห็นตัวท่านกับตา+ขอสัมภาษณ์ ขอถ่ายรูปที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2521 โดยคนที่พาไปพบคือ บังอร กรโกวิท กับ แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ศิษย์เก่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำงานที่สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

เหตุผลอื่นๆ ได้แก่ ความสนใจเรื่องร้านศิลปกรรมที่เคยเห็นในโฆษณา และได้เคยแวะไปถ่ายรูป พูดคุยกับผู้จัดการเมื่อ พ.ศ. 2530

ร้านศิลปกรรมของหลวงวิศาลฯ เป็นร้านรับทำทั้งบล็อกหรือแม่พิมพ์ยุคแรกๆ

รับทำเครื่องถม ทำงานแกะสลัก ปั้นแบบไทย รวมถึงงานออกแบบก่อสร้าง โดยเฉพาะการสร้างโบสถ์วิหารอย่างไทย

งานเหล่านี้ถือว่าเป็นงานช่างที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญไม่น้อย แต่เรามักมองข้าม ไม่สนใจสืบประวัติ ไม่สนใจเก็บผลงาน

ว่าที่จริงประวัติชนิดเป็นแก่นสารนั้น ศาสตราจารย์ นาวาเอก สมภพ ภิรมย์ ท่านเขียนไปเป็นอย่างดีแล้ว ไม่น่าจะมีใครทำได้ละเอียดกว่านั้น

ประวัติดังกล่าวสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติเคยพิมพ์เพื่อเชิดชูเกียรติเมื่อ พ.ศ. 2524

แล้วนำมาพิมพ์ซ้ำอีกครั้งคราวงานพระราชทานเพลิงศพ พ.ศ. 2525 (ผมยังหาในห้องสมุดส่วนตัวไม่พบ)

ถึงอย่างไรผมก็ยังอยากเขียนอยู่นั่นเอง เพราะถ้าไม่เขียน ข้อมูลที่มีอยู่ก็จะกระจัดกระจายอีก

ปัญหาข้อมูลกระจายเป็นปัญหาใหญ่มาก เกิดแล้วเหมือนหาเครื่องยาหรือเครื่องแกงมาปรุงได้ไม่ครบ

ผมเงือดเงื้อจะเขียนเรื่องหลวงวิศาลฯ มานานเต็มที แต่ข้อมูลอยู่คนละทิศคนละทางทุกที เพิ่งต้อนให้มารวมกันได้เมื่อไม่นานนี้เอง

เพื่อให้รู้สึกว่ามีข้อมูลใหม่ขึ้นบ้างก็เอาข้อมูลจากที่สัมภาษณ์ และข้อมูลเรื่องร้านศิลปกรรม แทรกเข้าไป เพราะอาจารย์สมภพไม่ได้เน้นตรงนี้

หลวงวิศาลฯ เป็นคน 5 แผ่นดิน รูปร่างผอมบาง แต่กระฉับกระเฉง

มีชีวิตตั้งแต่กลางสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 9

เกิดที่ตำบลคลองตายวง อำเภอนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2427

ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2525 อายุยืนถึง 98 ปี

บิดาชื่อทิม มารดาชื่อภู ทวดชื่อหลวงประสิทธิหัตถการ ช่างหลวง (ไม่ทราบชื่อเดิม ไม่ทราบรายละเอียดและผลงาน)

ภรรยาคือ นางบุษย์ ทัพพวัฒน์ มีบุตรหญิง 2 คน บุตรชาย 3 คน

เมื่อเป็นเด็ก เรียนหนังสือกับบิดาพออ่านออกเขียนได้ แล้วไปเรียนหนังสือไทยและขอมที่วัดทองศาลางาม ธนบุรี

ในฐานะคนสนใจเรื่องทรงผมเด็ก ผมถือโอกาสถามหลวงวิศาลฯ ว่า ตอนเป็นเด็กอาจารย์ไว้จุกไหม

ท่านตอบว่า ไว้สิ เขาไว้กันทั้งนั้น คนผู้ดีเขาไว้กัน ไอ้ที่ไม่ไว้น่ะเขาเรียกพวกข้างถนน…(โอ…แรง…!!)

ทำไมไม่ไว้แกละ?

“อันนั้นมันพวกคนใช้ชั้นต่ำ พวกไว้แกละไว้เปียน่ะ” ท่านตอบตรงๆ ไม่มีการเลี่ยงคำ

ที่วัดทองฯ หลวงพ่อจะให้เรียนหมอแต่ท่านไม่ชอบ จึงไปเรียนช่างกับครูดำ เรียนแกะและปั้นกับครูทัด เรียนสลักกับครูพึ่ง หัดเรียนทางช่างมาตั้งแต่เด็ก

“แต่ก่อนนี้เรียนกันตามวัดตามวา ผมเองก็เรียนจากวัดทองศาลางาม ครูชื่อครูดำต่อมาเป็นขุนอภิสิทธิ์จิตรกรรม แกเป็นช่างเขียน เป็นคนครอบครูให้ พวกช่างเขาชอบอยู่วัดกัน ลูกเมียน่ะมีแต่ไม่ชอบอยู่บ้าน ชอบไปอยู่ที่วัด”

จากนั้นก็ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนนวลนรดิศจนจบชั้น 3 ประโยคหนึ่ง

เข้าเรื่องทำงาน หลวงวิศาลฯ บอกว่า

“ผมเป็นข้าราชการมาตั้งแต่อายุ 16 ปี…(เท่ากับตั้งแต่ พ.ศ. 2443)

สมัยก่อนใครไม่มีเงินถึง 20 บาทต้องถูกเกณฑ์ทหาร ผมก็เลยไปสมัครเป็นข้าราชการ…ญาติเขาแนะนำให้ไปรับราชการแผนกไม้สูง” ท่านหมายถึงแผนกก่อสร้าง

“คือวันปกติไม่ต้องไปทำอะไร นอกจากมีงานก่อสร้างเขาถึงจะเกณฑ์เอาไป ก็ได้เบี้ยหวัดปีละ 12 บาท ส่วนตอนนี้รับบำนาญเดือนละ 800 บาท…”

อยู่แผนกไม้สูงได้ไม่นานเขาก็เกณฑ์ไปทำเมรุสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ที่วัดพระแก้ววังหน้า

อยากจะรู้ว่าอยู่ในช่วงปีใด ต้องลุกไปหาหนังสือพระเมรุมาศ ของอาจารย์สมภพ และของกรมศิลปากรมาเปิด ทำให้ได้พบว่าทั้ง 2 เล่มไม่พูดถึง กลับกระโดดข้ามไปงานพระเมรุใหญ่สมัยรัชกาลที่ 6 เลย

ต้องพึ่งแฟ้มส่วนตัวที่เก็บข่าวงานพระเมรุ พบข่าวในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 17 น. 623 ว่าจัดในเดือนมกราคม ร.ศ. 119 พ.ศ. 2443 แต่ตรงนี้ต้องหมายเหตุว่าสมเด็จพระบรมฯ สวรรคตนานแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2437

ถ้าอยากอ่านให้ละเอียดกว่านี้ก็ต้องอ่านในหนังสืออีกเล่มคือ พระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์ ปกแข็งเล่มใหญ่ พ.ศ. 2561 เล่มนี้มีผู้เรียบเรียงหลายคน

เสร็จงานพระเมรุ ย้ายไปอยู่แผนกแห่แหนตามเสด็จ แล้วลาบวชที่วัดกำแพง ปากคลองบางจาก อำเภอภาษีเจริญ

วัดกำแพงนี้ มีจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 ในโบสถ์งดงามมาก โชคดีที่ยังมีสภาพดีจนถึงปัจจุบัน ท่านที่ไปเที่ยวตลาดคลองบางหลวงข้างวัดทองศาลางาม กับวัดกำแพงซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ควรหาโอกาสเข้าไปชม

แต่ต้องหมายเหตุว่าภาพพระพุทธองค์หน้าโบสถ์นั้นถูกช่างยุคใหม่ถือวิสาสะซ่อมแปลงพระพักตร์จนเปลี่ยนไปจากของเดิมเสียแล้ว ทำไมถึงกล้าหาญเช่นนั้นก็ไม่ทราบ บังอาจมากๆ

อาจารย์สมภพว่า หลังจากลาสิกขาแล้วหลวงวิศาลฯ ก็ไปทำงานที่สโมสรช่างร่วมกับนายแดงช่างแกะ มีหน้าที่เป็นช่างเขียน

ต่อมาไปทำงานเป็นช่างเขียนแบบกรมคลอง แล้วเรียนกล้องระดับกับนายช่างฝรั่งที่ชื่อนายมองตีกุ๊ต ชาวฝรั่งเศสซึ่งชวนท่านไปประเทศฮอลแลนด์ ท่านปฏิเสธ จึงไม่ได้เป็น “นักเรียนนอก”

เมื่อลาออกจากกรมคลองแล้วก็กลับมาทำงานสโมสรช่างกับนายแดงตามเดิม

พูดถึงนายแดงช่างแกะแล้วผมต้องขอเสริม

เพราะเคยอ่านพบเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติเรื่องนายแดงทำฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษจากรัชกาลที่ 5

สรุปว่าครั้งหนึ่งเมื่อยังเป็นวัยรุ่น ท่านเคยหลงผิดร่วมกับพรรคพวกไปปล้นบ้านเรือน ถูกศาลตัดสินจำคุก 15 ปีนับแต่ พ.ศ. 2430

ถึง พ.ศ. 2437 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองมหันตโทษหาครูญี่ปุ่นมาสอนวิชาช่างเขียน ช่างแกะไม้ ทำแม่พิมพ์สำหรับพิมพ์รูป นายแดงก็ไปเรียนวิชาด้วย จนสามารถทำงานได้ดี

นายแดงต้องโทษนานถึง 11 ปี รู้สึกเข็ดหลาบและอยากออกไปดูแลบิดามารดา จึงทำใบฎีกาด้วยตนเองเล่าเรื่องการต้องโทษและถวายงานแกะไม้ถวายทอดพระเนตร

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงอ่านฎีกาแล้วทรงสงสารจึงโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยตัวนายแดง ต่อมานายแดงก็ได้ออกมาเป็นครูที่สามัคยาจารย์สมาคม ซึ่งภายหลังคือโรงเรียนเพาะช่าง (ดูหนังสือนิทานมิบ โดย เอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์เมืองโบราณ 2532 หรือสำนักพิมพ์พิมพ์คำ 2557)

เสียดายที่ผมไม่ได้ซักไซ้ฯ เรื่องประวัตินายแดงต่อ จึงไม่รู้ว่านายแดงใช้นามสกุลอะไร มีลูกหลานหรือไม่ และถึงแก่กรรมเมื่อใด

หลวงวิศาลฯ บอกแต่ว่า นายแดงบ้านอยู่ทางหัวกระบือ-คลองด่านที่ไปทะลุปากน้ำ แถวนั้นกอจากทั้งนั้น นายแดงรูปร่างใหญ่โต…

แต่โชคดีเหลือเกินที่หนังสือเพาะช่าง 74 ปี พ.ศ. 2530 ลงรูปคณาจารย์เก่าๆ ของเพาะช่างไว้รูปหนึ่งตรงปกหลัง

ปรากฏว่ามีทั้งรูปนายแดง-นายดำ (ขุนอภิสิทธิ์จิตรกรรม) และ นายเชื้อ ปัทมจินดา ช่างเขียน ทุกคนแต่งตัวอย่างดี

แสดงว่าที่สุดแล้ว ทั้งนายแดง ครูดำ และนายเชื้อ ก็มาอยู่แห่งเดียวกัน! ได้อยู่ร่วมยุคร่วมสมัยกัน

จากนี้ อาจารย์สมภพกล่าวว่า

“เมื่อทางราชการตั้งโรงเรียนหัตถกรรม มีฝรั่งชื่อนายเอ ซีรีย์ เป็นครูใหญ่โดยใช้สถานที่สามัคยาจารย์โดยการริเริ่มของพระไพศาลศิลปศาสตร์หรือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) คุณหลวงวิศาลรับภาระเป็นหัวหน้าโรงงาน เริ่มกิจการช่างถม ช่างพิมพ์สกรีน ช่างประดับมุก ช่างกลึงงา

ในระยะนี้ได้นำนักเรียนโรงเรียนหัตถกรรมช่วยเขียนลายเทพนมผนังพระที่นั่งดุสิตในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๕๔) โดยท่านลงมือเป็นตัวอย่าง”

ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (ครองราชย์ พ.ศ. 2453-68) รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานเปิดโรงเรียนเพาะช่างของสโมสรช่าง และโรงเรียนหัตถกรรมกลายเป็นหน่วยงานหนึ่งในโรงเรียนเพาะช่าง

หลวงวิศาลฯ รับราชการอยู่ประมาณ 17 ปี ได้เป็นขุนและหลวง ตามลำดับ

ต่อมาไปเป็นนายช่างตรวจการก่อสร้างประจำกระทรวงธรรมการแล้วไปรับราชการที่กรมศิลปากรประมาณ 1 ปี เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีสั่งให้ก่อตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย หลวงวิศาลฯ ได้เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก

อยู่มาประมาณ 2 ปีก็ลาออกจากราชการไปเปิดสำนักงานศิลปะส่วนตัวชื่อสำนักงานศิลปกรรมหน้าโรงเรียนเสาวภา

ตรงนี้ อาจารย์สมภพไม่ระบุปี ต้องเทียบเอาจากโฆษณาในบางกอกการเมือง ว่า พ.ศ. 2467 ท่านลงโฆษณาแล้ว

แสดงว่าตอนท่านอายุราว 40 ปี ท่านตั้งร้านชื่อ “ศิลปกรรมพานิช” แล้ว

(ดูร้านช่างอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยได้จากหนังสือชื่อ วัง วัด ตลาด ร้าน โดย เอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์แสงดาว 2561)

ต่อมา นาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) รัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ ได้เชิญท่านกลับไปเข้ารับราชการอีก ให้สังกัดกรมการศาสนา ช่วยเขียนแบบวิหารเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไปสร้างที่สิงคโปร์ (แต่มีปัญหาเรื่องที่ดิน จึงไม่ได้สร้าง)

หลวงวิศาลฯ เป็นผู้ออกแบบดัดแปลงวังจันทรเกษมเป็นกระทรวงศึกษาธิการ

ต่อมาได้รับมอบหน้าที่ให้ย้ายวัดพระธาตุและวัดทองเพื่อใช้ที่ดินเวนคืนเป็นการท่าเรือแห่งประเทศไทยและรับทำงานซ่อมสร้างวัดทั่วไป ต้องไปช่วยการสร้างพระพุทธมณฑลอยู่ระยะหนึ่งเพื่อพรางญี่ปุ่นมิให้ตั้งฐานทัพบริเวณนี้

พ.ศ. 2490 เกษียณอายุขณะอายุ 63 ปี เมื่อออกจากราชการแล้ว อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เชิญให้ไปสอนที่โรงเรียนประณีตศิลป์ ซึ่งต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร

เป็นอาจารย์พิเศษในคณะจิตรกรรมและประติมากรรม คณะมัณฑนศิลป์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร

มีผลงานออกแบบมากมาย ขอให้ดูจากที่อาจารย์สมภพเขียนไว้

ที่สุดท่านได้รับพระราชทานปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สถาปัตยกรรมไทย

ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา

สิ่งที่น่าสนใจคือที่อาจารย์สมภพกล่าวว่า

“ในการออกแบบโบสถ์ต่างๆ หลวงวิศาลจะออกแบบเขียนแบบเกือบทั้งหมด โครงสร้างฐานรากขนาดเหล็กเสริมคอนกรีตก็ออกแบบกำหนดได้ด้วยความชำนาญและประสบการณ์ เท่ากับทำหน้าที่เป็นวิศวกรโยธาด้วย

งานทั้งหมดทำให้ขณะรับราชการส่วนการออกแบบให้วัดก็เป็นการกุศลไม่ได้รับตอบแทนนอกจากความอิ่มเอิบใจที่ได้ทำงานถวายในพระพุทธศาสนา”

อ่านแล้วรู้สึกมหัศจรรย์ในความศรัทธาและความสามารถของท่าน

เขียนหลวงวิศาลฯ ยาวเฟื้อยเห็นจะเกินหน้ากระดาษแล้ว

เรื่องร้านศิลปกรรมและส่วนที่เหลือเห็นจะต้องเก็บตกยกไปไว้คราวอื่น


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2563