ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 และตราสัญลักษณ์พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี พุทธศักราช 2559 ถือเป็น “ตราฉลองราชย์” ที่งดงามและสำคัญยิ่งในวาระมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงครองสิริราชสมบัติครอบ 60 และ 70 ปี ตามลำดับ และเชื่อว่าตราทั้ง 2 น่าจะอยู่ในทรงจำของคนไทยเป็นอย่างดี
ใครเป็นผู้ออกแบบตราฉลองราชย์ดังกล่าว?
คนนั้นคือนายช่างศิลปกรรมอาวุโส สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร หรือ “อาจารย์ยักษ์” แห่งสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ตำแหน่งนายช่างประณีตศิลป์ สังกัดกลุ่มงานช่างบุและช่างศิราภรณ์
อาจารย์ยักษ์มีพื้นเพเป็นคนราชบุรี ติดตามครอบครัวเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็ก ระหว่างศึกษาอยู่ที่โรงเรียนวัดบางนาใน ท่านมีโอกาสเที่ยวชมวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่บ่อยครั้ง และได้เห็นช่างรุ่นเก่าเขียนซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง จึงได้ซึมซับความชื่นชอบงานศิลปะด้านจิตรกรรมตั้งแต่นั้น
ที่สำคัญคือการได้พบกับ หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ หลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม และได้รับความเมตตาให้ชมการแสดงและผลงานฝีพระหัตถ์ของ “สมเด็จครู” ยิ่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจด้านศิลปะของอาจารย์ยักษ์ ท่านจึงเลือกเข้าศึกษาที่โรงเรียนช่างศิลป กรมศิลปากร
ระหว่างเป็นนักเรียนที่โรงเรียนช่างศิลป ท่านมีโอกาสทำ “หัวโขน” ช่วยอาจารย์มงคล เหมศรี กองหัตถศิลป์ เพื่อถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เป็นโอกาสครั้งสำคัญในการแสดงทักษะและพรสวรรค์ทางศิลปะให้เป็นที่ยอมรับ
เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนช่างศิลป พ.ศ. 2525 ท่านได้เป็นครูสอนการเขียนลายไทยที่พระราชวังไกลกังวล และย้ายมาสอนที่โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา ก่อนจะมีผู้ใหญ่ชักชวนมาทำงานที่กองหัตถศิลป์ โดยเป็นทั้งลูกจ้างประจำและศึกษาต่อด้วย จนสอบบรรจุเข้ารับราชการได้สำเร็จ เมื่อ พ.ศ. 2535
เนื่องจากได้ศึกษาเรียนรู้จากศิลปินชั้นครูที่ได้ร่วมงานตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน อาจารย์ยักษ์จึงมีความแตกฉานด้านศิลปกรรมอย่างลึกซึ้ง สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างประณีตบรรจงและทรงพลัง
ผลงาน “ตราฉลองราชย์” ในรัชกาลที่ 9
หลังจากบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งนายช่างศิลปกรรม อาจารย์ยักษ์ได้รับมอบหมายให้ออกแบบพัดรอง ย่าม ตราสัญลักษณ์งานสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งตราประจำหน่วยงานราชการและเอกชนอยู่เป็นประจำ
เมื่อ พ.ศ. 2549 อันเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครอบ 60 ปี ครั้งนั้นทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบตราสัญลักษณ์ที่อาจารย์สมชายเป็นผู้ออกแบบ
ตราสัญลักษณ์ดังกล่าว อาจารย์ยักษ์ออกแบบให้ประกอบด้วย พระบรมนามาภิไธย (ภ.ป.ร.) สีเหลืองนวลทอง สีประจำวันพระบรมราชสมภพ พื้นสีน้ำเงินเจือทอง สีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้อมด้วยเพชร เอกรัตนะแทนแก้ว 7 ประการ คือ จักรแก้ว พญาช้างแก้ว พญาม้าแก้ว แก้วมณีโชติ นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว ประดิษฐานบนพระที่นั่งภัทรบิฐ แวดล้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎและพระอุณาโลม
ถัดลงมาคือแพรแถบสีชมพูขลิบทองบอกชื่องาน ปลายแพรแถบออกแบบเป็นรูปกระบี่ธุชและครุฑพ่าห์ สัญลักษณ์แห่งสมมติเทวราชคู่พระมหากษัตริย์ โดยมีพื้นตราเป็นสีเขียวปนทอง
ส่วนตราสัญลักษณ์พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครอบ 70 ปี ซึ่งเป็นมหามงคลสมัยอันพิเศษยิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครอบ 70 ปี ยืนยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดในประวัติศาสตร์ชาติไทย กรมศิลปากรได้มอบหมายให้อาจารย์ยักษ์เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์เนื่องในโอกาสมหามงคลนี้เช่นกัน โดยใช้ส่วนประกอบจากตราฯ 60 ปี มาปรับแต่ง โดยองค์ประกอบสำคัญและการสื่อความหมายต่าง ๆ ยังคงเดิม
นอกจากนี้ ย้อนกลับไป พ.ศ. 2539 ปีมหามงคลสมัยในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ที่รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ท่านยังได้รับมอบหมายให้เขียนหน้าโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณในพระราชพิธีด้วย
นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ตราสัญลักษณ์ในงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (12 สิงหาคม 2547) งานฉลองพระชนมายุ 5 รอบ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และตราสัญลักษณ์สถาบันสิริกิติ์
รวมไปถึงเป็นผู้ออกแบบพระโกศจันทน์ ฐานพระโกศจันทน์ พระโกศทองคำลงยาบรรจุพระบรมอัฐิ และอีกมากมาย อันเป็นส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร แห่งสำนักช่างสิบหมู่ จึงเป็นทั้งครูศิลป์และนายช่างผู้สืบทอดวิถีแห่งช่างศิลป์ไทย เป็นศิลปาจารย์คนสำคัญของไทยอย่างแท้จริง
อ่านเพิ่มเติม :
- พระราชพิธีเฉลิมสิริราชสมบัติ ราชวงศ์จักรี จัดขึ้นในรัชกาลใดมากที่สุด
- “สีประจำพระองค์” ของพระมหากษัตริย์จักรีวงศ์ จากวันเสด็จพระราชสมภพ
- สงสัยไหม? ที่มา “ตราประจำจังหวัด” ทั่วไทย เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เริ่มใช้ตอนไหน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศิริรัตน์ ทวีทรัพย์. สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร ผู้สืบทอดวิถีแห่งช่างศิลป์ไทย. นิตยสาร ศิลปากร ฉบับเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2560.
ศูนย์ข้อมูลงานศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร. ทะเบียนช่างสิบหมู่ : นาย สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร. สืบค้นเมื่อ 19 สิงหาคม 2567. (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคม 2567