ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
พระราชพิธีเฉลิมสิริราชสมบัติ มีที่มาจากธรรมเนียมอย่างชาติตะวันตก เช่น การครองราชสมบัติครบรอบ 25 ปี 50 ปี และ 60 ปี และการเฉลิมราชสมบัติเมื่อครองราชย์เทียบเท่าโบราณกษัตริย์ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงจัดพระราชพิธีเฉลิมสิริราชสมบัติ พอสรุปได้ดังนี้
พระราชพิธีรชฎาภิเษก
จัดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงครองราชสมบัติครบ 25 ปี ทรงมีพระราชดำริว่า แม้จะเป็นพระราชพิธีฝ่ายตะวันตก แต่เพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมือง ทรงดัดแปลงพระราชพิธีให้เหมาะสมกับธรรมเนียมประเพณีของไทยโดยใช้ชื่อว่า “พระราชพิธีรชฎาภิเษก”
ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชสมบัติครบ 25 ปี ณ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2514 รัฐบาลขณะนั้นพร้อมด้วยประชาชนพร้อมใจร่วมกันจัดงานพระราชพิธีถวายระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน พ.ศ. 2514 โดยใช้ชื่อว่า “พระราชพิธีรัชดาภิเษก” นอกจากการบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ในพระราชพิธีรัชดาภิเษกแล้ว ยังมีการสร้าง “ถนนรัชดาภิเษก” ขึ้นด้วย
พระราชพิธีเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้หมื่นวันเศษ
เมื่อรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 และเป็นปีที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบหมื่นวันเศษ มีการจัดพระราชพิธีเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้หมื่นวันเศษ อนุโลมตามแบบเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบหมื่นวัน เมื่อ พ.ศ. 2438
ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เป็น “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี”
พระราชพิธีทวีธาภิเษก
พระราชพิธีสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับการครองสิริราชสมบัติคือเฉลิมฉลองเมื่อครองราชสมบัติเสมอด้วยสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงครองสิริราชสมบัติเป็นระยะเวลา 2 เท่าของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2441
พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระราชพิธีที่ทรงครองสิริราชสมบัติครั้งสำคัญในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2450 ด้วยพระองค์ทรงครองราชสมบัตินานถึง 40 ปี เสมอด้วยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา
พระราชพิธีครั้งนี้จัดเป็น 2 วาระ วาระแรกจัดที่มณฑลกรุงเก่า โดย “พระราชพิธีรัชมงคล” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 4 ธันวาคม พ.ศ. 2450 วาระที่ 2 จัดขึ้นเมื่อทรงครองราชสมบัติเป็นปีที่ 41 (ครบ 40 ปีบริบูรณ์) ซึ่งยาวนานกว่าบูรพมหากษัตริย์พระองค์ใดในอดีต เรียกว่า “พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451
พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกมีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชกาลที่ 9 เมื่อทรงครองสิริราชสมบัตินานถึง 42 ปี 22 วัน เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2531
พระราชพิธีกาญจนาภิเษก
เมื่อรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อ พ.ศ. 2539 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองสิริราชสมบัติยาวนานกว่าสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพระราชพิธีว่า พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พร้อมทั้งพระราชทานชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The Fiftieth Anniversary (Golden Jubilee) Celebrations of His Majesty’s Accession to the Throne มีระยะเวลาจัดงานระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2539
พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
ต่อมาใน พ.ศ. 2549 รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ใช้ชื่อพระราชพิธีว่า “พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี” และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Ceremonial 60 Years of Celebrations พระราชพิธีครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน และวันที่ 12-13 มิถุนายน พ.ศ. 2549
พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี
เมื่อถึงวาระสำคัญที่รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ใน พ.ศ. 2559 รัฐบาลได้ขอพระราชทานจัดงานฉลองในโอกาสอันเป็นมงคล โดยได้รับพระราชทานชื่องานว่า การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Seventieth Anniversary Celebrations of His Majesty’s Accession to the Throne ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560
พระราชพิธีเฉลิมสิริราชสมบัติข้างต้น เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 9 ถึง 6 ครั้ง ด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองสิริราชสมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นๆ และทรงมีพระชนมายุยืนถึง 88 พรรษา
คลิกอ่านเพิ่ม :
พระราชานุกิจ รัชกาลที่ 5 แต่ละวันทรงทำอะไรบ้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง
ผศ. ดร. นนทพร อยู่มั่งมี. “ฉลองราชย์ เฉลิมพระชนมวาร” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไล์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 256