สงสัยไหม? ที่มา “ตราประจำจังหวัด” ทั่วไทย เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เริ่มใช้ตอนไหน

ตราประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัดตราด ยุคแรกๆ (ภาพจาก www.nat.go.th)

“ตราประจำจังหวัด” อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศนั้น แนวคิดนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2483 ตามนโยบายจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในแต่ละจังหวัด เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นและสำนึกรักในบ้านเกิดของตนเอง

รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการออกแบบ ซึ่งบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการออกแบบตราประจำจังหวัด ในครั้งนั้น ได้แก่

Advertisement
  1. พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เป็น “ผู้คิดความหมาย” จากชื่อจังหวัด, สิ่งสำคัญในแต่ละจังหวัด เพื่อจำลองออกมาเป็นภาพในดวงตราประจำจังหวัด
  2. พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เป็น “ผู้ร่างแบบตามแนวคิด”
  3. นายปลิว จั่นแก้ว, นายทองอยู่ เรียงเนตร, นายปรุง เปรมโรจน์ และนายอุ่ณห์ เศวตมาลย์ 4 นายช่างอาวุโส กรมศิลปากร ทั้งหมดนี้ เป็น “ผู้เขียนลงลายเส้น”

ในการออกแบบตราประจำจังหวัด ได้ให้คณะกรรมการจังหวัดทุกจังหวัดเสนอข้อมูลและความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเขียนดวงตราด้วย

เพื่อให้การออกแบบตราประจำจังหวัด เป็นสัญลักษณ์ที่ประชาชนในจังหวัดนั้นๆ และประชาชนทั่วไป เข้าใจ, ยอมรับ การออกแบบจึงเลือกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดนั้นๆ มาใช้ในการออกแบบ เช่น จังหวัดนครปฐม เลือกภาพพระปฐมเจดีย์ สถานที่สำคัญของจังหวัดนั้นมาใช้, จังหวัดภูเก็ต เลือกภาพท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร, จังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้ภาพต้นยาสูบ ฯลฯ

ตราประจำจังหวัดเริ่มใช้ครั้งแรกในปี 2485 และภายหลังมีการเพิ่มชื่อแต่ละจังหวัดเข้าไป เพื่อให้ตราประจำจังหวัดมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และบางดวงตราก็เพิ่มรูปครุฑอีกด้วย

เมื่อใช้ “ตราประจำจังหวัด” ไประยะหนึ่ง มีบางจังหวัดก็ต้องการเปลี่ยนแปลงตราประจำจังหวัดอันเดิม และขอให้กองหัตถศิลป กรมศิลปากร ออกแบบให้ใหม่ เช่น จังหวัดยโสธร จังหวัดราชบุรี จังหวัดอุทัยธานี ฯลฯ

ปี 2520 กรมศิลปากร นำแบบตราประจำจังหวัดที่ออกแบบไว้มากำหนดสี และมอบให้ช่างศิลปกรรมช่วยกันลอกแบบของเดิมพร้อมทั้งระบายสี เพื่อจัดพิมพ์หรือส่งเป็นตัวอย่างแก่จังหวัดที่ต้องการ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2520-2521

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ณิชชา จริยเศรษฐการ, บุศยารัตน์ คู่เทียม บรรณาธิการ. อาไคฟ ขอให้เก็บให้จงดี. กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2567


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 2567