กว่าจะเป็นจังหวัด “อุบลราชธานี” กว่า “คนอุบลฯ” จะเป็นคนไทย 

กบฏผู้มีบุญ หรือ กบฏผีบุญ ภาคอีสาน ทหาร ปราบปราม อุบลราชธานี
พวกกบฏ “ผีบุญ” เมื่อ พ.ศ. 2444 ซึ่งทหารควบคุมตัวไว้ ณ ทุ่งศรีเมือง เมืองอุบลราชธานี (ภาพจาก "ประวัติศาสตร์อีสาน" โดย เติม วิภาคย์พจนกิจ)

อุบลราชธานี คือส่วนหนึ่งของอีสาน เป็นจังหวัดในพื้นที่ “อีสานใต้” ชื่อจังหวัดหมายถึงเมืองแห่งบัวบาน หรือเมืองอันมีที่มาจาก “นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน” ที่ปัจจุบันคือ จ. หนองบัวลำภู พัฒนาการของอุบลราชธานี ก่อนจะเติบโตเป็นเมืองแล้วเป็นจังหวัด ที่พอสรุปได้มีดังนี้

หลัง พ.ศ. 1000 มีรัฐเจนละ แรกสุดในอีสาน อยู่บริเวณโขง-ชี-มูล ที่ จ. อุบลราชธานี ต่อเนื่องถึง จ. อำนาจเจริญ, จ. ยโสธร, จ. ร้อยเอ็ด กับดินแดนทางทิวเขาพนมดงเร็ก ทรัพยากรสำคัญของเจนละที่สร้างความมั่งคั่ง คือ เหล็ก และเกลือ ที่มีแหล่งสำคัญมากอยู่บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ สืบเนื่องจากชุมชน 3,000 ปีมาแล้ว

Advertisement

พ.ศ. 1100 วัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลางเข้าอีสาน ถึงอุบลราชธานี วัฒนธรรมทวารวดี ได้แก่ ศิลปกรรมเนื่องในพระพุทธศาสนา ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงเริ่มปรับเปลี่ยน “หินตั้ง” ในศาสนาผีดั้งเดิม ให้เป็น “เสมาหิน”

หลัง พ.ศ. 1500 วัฒนธรรมขอม (เขมร) จากทะเลสาบกัมพูชาแผ่เข้าสู่อีสาน ถึงอุบลราชธานี ดังปรากฏชุมชนโบราณ, ปราสาทอิฐ-หิน, คันดินชักน้ำ, เตาเผาเครื่องเคลือบ ฯลฯ ขณะเดียวกันการค้าโลกขยายกว้างขวางขึ้น เพราะจีนค้นพบเทคโนโลยีการเดินเรือทะเลสมุทร

พ.ศ. 1800 ข่าและลาวเข้าอีสาน ถึงอุบลราชธานี

หลัง พ.ศ. 2000 อุบลราชธานี โขง-ชี-มูล พวกลาวจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเคลื่อนย้ายหนีความขัดแย้งทางการเมืองมาตั้งหลักแหล่งในอีสาน แต่อุบลราชธานีขณะนั้นเป็นป่าดงอยู่ชายขอบจึงไม่มีหลักแหล่งชุมชนถาวรขนาดใหญ่ระดับเมือง จะมีก็เมื่อลาวและข่าขยายมาจากที่อื่นๆ

พ.ศ. 2313 บรรพชนอุบลราชธานีจากนครจำปาสัก เข้ามาขอพึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนมดแดง (บริเวณ อ. ดอนมดแดง จ. อุบลราชธานี)

พ.ศ. 2325 รัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้ยกฐานะ “บ้านห้วยแจระแม” ขึ้นเป็น “เมืองอุบลราชธานี” เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 แรม 13 ค่ำ ปีชวด “แจระแม” เป็นชื่อห้วย, ชื่อหมู่บ้าน ปัจจุบันเรียกบ้านท่าบ่อ อยู่ห่างจากตัว จ. อุบลราชธานี ไปตามเส้นทางไป จ. ยโสธร

ภายหลังมีการตั้งเมืองบริวารต่างๆ เช่น ตั้ง “บ้านโคกกงพะเนียง” เป็น “เมืองเขมราฐธานี”, ตั้ง “บ้านช่องนาง” เป็น “เมืองเสนางคนิคม”, ตั้ง “บ้านน้ำโดมใหญ่” เป็น “เมืองเดชอุดม”, ตั้ง “บ้านกว้างชะโด” เป็น “เมืองพิบูลมังสาหาร”, ตั้ง “บ้านสะพือ” เป็น “เมืองตระการพืชผล”, ตั้ง “บ้านนานกอนจอ” เป็น “เมืองวารินชำราบ”, ตั้ง “บ้านที” เป็น “เมืองเกษมสีมา” ปัจจุบันคือ อ. ม่วงสามสิบ ฯลฯ

พ.ศ. 2425 รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ปฏิรูปการปกครอง และมีการส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ มาปกครองเมืองอุบลฯ เป็นครั้งแรก ได้แก่ หลวงภักดีณรงค์ (ทัต ไกรฤกษ์) ปลัดบัญชีกระทรวงมหาดไทย

พ.ศ. 2434 มณฑลลาวกาว กองบัญชาการอยู่ที่เมืองจำปาสัก แต่กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลลาวกาว กลับทรงเลือกตั้งกองบัญชาการที่เมืองอุบลฯ ทำให้กองบัญชาการมณฑลมาอยู่ที่อุบลฯ ตั้งแต่นั้นมา

พ.ศ. 2435 ในเดือนมิถุนายน มีเรือกลไฟชื่อ “พานิชพัฒนา” ของบริษัทสยามบุรพทิศสิทธิการ ณ เมืองอุบลฯ แล่นรับผู้โดยสารจากเมืองอุบลฯ-นครราชสีมา ตามลำน้ำมูลเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2436 วันที่ 11 มกราคม เป็นวันแรกที่สายโทรเลขเมืองอุบลฯ-กรุงเทพฯ เปิดใช้การได้

พ.ศ. 2442 ผลจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตกเป็นของฝรั่งเศส ส่วนฝั่งขวาเป็นของสยาม อุบลฯ ที่สังกัด “มณฑลลาวกาว” จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ” และเรียกชาวอุบลฯ ว่า “คนชาติไทยบังคับสยาม”

พ.ศ. 2443 มีกลุ่มตั้งตนเป็นเอกเทศเรียกตนเองว่า “ผู้มีบุญ” แต่ถูกผู้อื่นเรียกว่า “ผีบุญ” โดยเริ่มขึ้นทางเมืองตระการพืชผลแล้วแพร่ไปที่เมืองอื่น และเกิดขบวนการผีบุญ เนื่องจากการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้หัวหน้าชาวพื้นเมืองดั้งเดิมหมดอำนาจลงไป

พ.ศ. 2459 “เมืองอุบลราชธานี” เปลี่ยนเป็น “จังหวัดอุบลราชธานี”

พ.ศ. 2465 รัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้รวมมณฑลอุบลราชธานี, มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุดรธานี เข้าเป็นภาค เรียก “ภาคอีสาน”

พ.ศ. 2471 หลังจากเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2443 แล้ว ปี 2471 ก็ถึงสถานีปลายทางที่วารินชำราบ อุบลราชธานี

พ.ศ. 2475 หลังประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น “ประชาธิปไตย” มีผู้นำทางการเมืองคนสำคัญ คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายเลียง ไชยกาล, นายฟอง สิทธิธรรม ได้รับเลือกเป็น ผู้แทนราษฎรจาก จ. อุบลราชธานี

พ.ศ. 2482 ชาวอุบลราชธานีที่ถูกเรียกว่า “ลาว” มาแต่เดิม ต่อไปนี้เป็น “คนไทย” หมดทุกคน เพราะรัฐบาลเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” มาเป็น “ไทย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ. อุบลราชธานี มาจากไหน?, สำนักพิมพ์แม่คำผาง พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายน 2566