ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อเกิดสงครามขึ้นที่ใด ก็มีการบาดเจ็บ, สูญเสีย และล้มตายของผู้คน แต่ในอีกมุมหนึ่งสงครามที่โหดร้ายก็มีความงามเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสมรภูมิใด มักมีผู้หยิบยื่น “น้ำใจ” ให้เพื่อนมนุษย์ที่กำลังเผชิญกับภัยสงครามทุกครั้ง
เรื่องราวเล่านั้น บางเรื่องมีการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ เช่น อ็อสคาร์ ชินด์เลอร์ (Oskar Schindler) เจ้าของโรงงานอุตสาหรกรรมชาวเยอรมัน ผู้ช่วยชีวิตชาวยิวหลายพันคน จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เรื่องราวของขของกลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง “Schindler’s List” หรือ บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ อดีตนักธุรกิจและนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี ผู้มีส่วนช่วยเหลือเชลยสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เช่นเดียวกันชีวิตจริงของเขาคือเค้าโครงของภาพยนตร์เรื่อง “บุญผ่อง”
ยังมีผู้คนอีกมากที่หยิบยื่นความช่วยเหลือให้เชลยสงคราม
เช่นที่ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) คนอุบลฯ จำนวนหนึ่งแอบให้ความช่วยเหลือเชลยสงคราม แม้จะไม่มีการนำเรื่องราวที่นี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่เหล่าทหารเชลยศึกได้สร้างอนุสาวรีย์แห่งความดี (Monument of Merit) และมีการเฉลิมฉลองทุกปี
อนุสาวรีย์แห่งความดีตั้งอยู่ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทุ่งศรีเมือง ใกล้สี่แยกถนนศรีณรงค์ตัดกับถนนราชบุตร อนุสาวรีย์สร้างเป็นแท่งหินขนาดประมาณ 1.20×2.50 สูง 1.00 เมตร บนแท่นหินมีเสาหินสูงประมาณ 3 เมตร รูปทรงสี่จัตุรัส กว้างด้านละ 0.50 เมตร คล้ายปล่องโรงสีไฟที่เสาหิน ด้านตะวันออกมีอักษรย่อ EX.P.O.W. (EX. PRISONER OF WAR-นักโทษนอกประจำการ) ทำจากโลหะติดอยู่ และมีข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า
“เมื่อครั้งมหาสงครามเอเชียบูรพาในปี ค.ศ. 1941 ญี่ปุ่นได้ส่งกองทหารเข้าสู่ประเทศไทยและจับทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นเชลยศึกจำนวนมาก จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ที่ทหารญี่ปุ่นได้ใช้เป็นสถานที่กักกันเชลยศึก ทหารเชลยศึกซึ่งประกอบด้วย ชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เป็นที่น่าเวทนาต่อชาวอุบลราชธานีที่ได้พบเห็นเป็นอย่างมาก ด้วยความเป็นคนที่มีจิตใจเมตตาสงสารจึงได้พากันนำอาหารเครื่องนุ่งห่มมาให้เชลยศึกเหล่านี้เพื่อเป็นทาน แต่ก็ได้รับการขัดขวางจากทหารญี่ปุ่น และถึงขั้นทำร้ายเอา แต่ชาวอุบลราชธานีก็ยังแอบนำอาหารและเครื่องใช้ให้แก่ทหารเชลยศึกเหล่านี้ด้วยความเมตตา อย่างไม่เกรงกลัวภัยอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น”
อนุสาวรีย์แห่งนี้ สร้างขึ้นโดยเชลยสัมพันธมิตร ที่ถูกกักขังที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อระลึกถึงคุณความดี และน้ำใจของชาวอุบลราชธานี ที่ช่วยเหลือจนมีชีวิตรอด และมีการจัดงานรำลึกแห่งความดี ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ของทุกปี ในเวลา 11.00 น. ( 11:11:11) โดยชาวต่างชาติที่เคยเป็นเชลยศึก และทายาทจะเดินทางมาที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่แสดงความเคารพ และขอบคุณบรรพชนคนอุบลฯ ที่เคยให้ความช่วยเหลือจากสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยมียายไหล ศิริโสตร์ (ชื่อจริง อุไรวรรณ ศิริโสตร์) เป็นหนึ่งในผู้เคยช่วยเชลยเหล่านั้น
โดยเมื่อหลังสงครามสงบ ในวันที่ 8 กันยายน 2488 ทหารสันพันธมิตรประกอบด้วย อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ฮอลแลนด์ ออสเตรเลีย อินโดนิเซีย และฟิลิปนส์ ได้เชิญยายไหลไปที่ค่ายทหารในสนามบิน เพื่อประกาศชมเชยคุณงามความดี และมอบสิ่งของและเงินจำนวนหนึ่งเป็นการขอบคุณในความช่วยเหลือที่มีให้พวกเขา
ข้อมูลจาก :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. อุบลราชธานี มาจากไหน?, สำนักพิมพ์แม่คำผาง , ตุลาคม 2555
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. อนุสาวรีย์แห่งความดี เนื่องในวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบล 11 พฤศจิกายน 2553
ธัญธรณ์ บัวงาม. The Monument of Merit in 1945 ประวัติความเป็นมางานรำลึก อนุสาวรีย์แห่งความดี https://fliphtml5.com/chcz/iufe
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 11 ตุลาคม 2562