
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ปูนปั้น โดยเฉพาะปูนปั้นฝีมือช่างเมืองเพชร เป็นศิลปกรรมที่ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามไม่แพ้ฝีมือช่างเมืองใด แต่น่าเสียดายที่ล่าสุดศิลปกรรมปูนปั้นที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี ฝีมือครูทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ. 2554 ถูกทุบทำลาย เพื่อนำพื้นที่ไปสร้างร้านกาแฟ
ภูมิปัญญาช่างไทยในปูนปั้น
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ราชบัณฑิต ประเภทวิชาวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาจิตรกรรม ราชบัณฑิตยสภา เล่าถึงงานประเภทปูนปั้นไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2542 ว่า
งานประติมากรรมปูนปั้นมีอยู่มากมายตามพุทธสถานต่างๆ โดยเฉพาะประติมากรรมปูนปั้นที่ตกแต่งพุทธสถาปัตย์ ประเภทเจดีย์ ปรางค์ โบสถ์ และวิหาร
ลวดลายปูนปั้นของไทยในยุคสมัยต่างๆ นั้น นอกจากคุณค่าทางสุนทรียภาพแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาของช่างอย่างน่าสนใจยิ่ง
สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของช่างไทยในศิลปะปูนปั้น คือ ความชาญฉลาดในการใช้วัตถุดิบที่หยั่งรู้คุณสมบัติพิเศษของวัตถุดิบได้อย่างดี แล้วนำมาใช้อย่างเหมาะสม
“ปูนขาว” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำปูนปั้น สันนิษฐานว่า มีผู้ผลิตใช้ในงานก่อสร้างในประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 6 เพราะสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่สร้างด้วยหินและอิฐนั้นมีปูนเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย
ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา สิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนามักใช้ “ปูนปั้น” ประดับตกแต่งอย่างแพร่หลาย และใช้กันต่อมาจนปัจจุบัน

ขั้นตอนการทำปูนปั้น
การทำปูนปั้นนั้นใช้ “ปูนขาว” (lime Cao) ซึ่งทำจากหินปูน (limestone CaCo2) เป็นวัตถุดิบหลัก ผสมกับส่วนประกอบอื่นอีก 2-3 ชนิด เพื่อให้ได้ปูนที่มีคุณสมบัติตามต้องการ
ปูนขาว เป็นวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติพิเศษและมีวงจรการแปรรูปที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมี ที่ทำให้เกิดการแปรสภาพกลับไปกลับมาอย่างน่าอัศจรรย์ ตั้งแต่การนำหินปูนมาเผาให้ร้อนจนปราศจากน้ำ มีน้ำหนักเบาและร่วน เมื่อใช้น้ำพรมจะร่วงเป็นผง จากนั้นนำไปร่อนให้ได้ผงปูนที่ละเอียด พร้อมที่จะนำไปใช้ประโยชน์
ช่างไทยใช้ประโยชน์จากการแปรสภาพของปูนขาวมาทำปูนปั้น ด้วยกรรมวิธีง่ายๆ โดยเติมน้ำเข้าไปในเนื้อปูน เพื่อให้จับกันเป็นก้อนนิ่มๆ คล้ายดินเหนียว โดยผสมวัตถุดิบบางชนิดเข้าไป แล้วโขลกหรือตำให้ปูนเหนียวเหมาะกับการปั้นเป็นประติมากรรมต่างๆ จากนั้นจึงปล่อยให้น้ำระเหยออกไปจนแห้ง ปูนขาวจะกลายเป็นหินปูนที่แข็ง และคงทนเช่นเดียวกับหินปูนธรรมชาติ
ช่างไทยเรียนรู้คุณสมบัติพิเศษของปูนขาวได้อย่างไร คงมิใช่จากการเรียนวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการสังเกตและทดลองสืบต่อกันเรื่อยมา
ปูนปั้นในงานประติมากรรม
การนำปูนขาวมาทำเป็น “ปูนตำ” เพื่อใช้สร้างงานประติมากรรมต่างๆ เช่น ปั้นเป็นลวดลายตกแต่งผนัง ตกแต่งหน้าบันโบสถ์ วิหาร ตกแต่งฐาน ปรางค์ และเจดีย์ ของช่างไทย มีกรรมวิธีและมีส่วนผสมที่คล้ายคลึงกันแทบทุกสกุลช่าง
การผสมปูนตำใช้วัตถุดิบหลัก 4 อย่าง คือ ปูนขาว ทราย กาว และ เส้นใย (fiber) วัตถุดิบเหล่านี้มีคุณสมบัติต่างกันดังนี้
ปูนขาว เป็นวัตถุดิบหลักในการทำปูนตำที่ช่วยยึดอณูของวัตถุดิบอื่นๆ เข้าด้วยกัน และแปรสภาพจากของแข็งให้นิ่มด้วยน้ำ
ทราย ช่วยให้เกิดความแข็งแกร่งและคงทน

เส้นใย ช่วยให้เกิดการยึดระหว่างอณูของวัตถุดิบต่างๆ เส้นใยที่นำมาใช้จะแตกต่างกันไปตามวัตถุดิบที่หาได้ในแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ เส้นใยจากปอ สา ฝ้าย กก เส้นไหม และขนสัตว์ เป็นต้น
กาว ใช้เป็นตัวประสานวัตถุดิบต่างๆ เข้าด้วยกัน ช่างปั้นจะใช้กาวหรือของเหลวที่มีความเหนียวแตกต่างกันไป เช่น กาว หนังสัตว์ น้ำมันยาง น้ำมันสน น้ำมันทั่งอิ้ว น้ำตาล น้ำอ้อย ฯลฯ บางท้องถิ่นอาจจะใส่ข้าวเหนียวเปียกและกล้วยเข้าไปด้วย
การผสมวัตถุดิบเหล่านี้เข้าด้วยกัน โดยทั่วไปมักใช้การตำ จึงเรียก “ปูนตำ” หรืออาจเรียกอย่างอื่นอีก เช่น ปูนโขลก ปูนทิ่ม หรืออาจจะผสมด้วยกรรมวิธีอื่นที่ช่วยให้วัตถุดิบผสมกันได้ดี สมัยโบราณจะใช้การโขลกหรือการตำทั้งสิ้น
การทำปูนตำแบบโบราณมีขั้นตอนดังนี้
1. เตรียมปูนหรือหมักปูน นำปูนขาวที่ร่อนเอาสิ่งปนเปื้อนออก แล้วหมักไว้ในตุ่มหรือภาชนะอื่นประมาณ 10-15 วัน รินน้ำปูนใสออก แล้วผึ่งปูนทิ้งไว้ให้แห้งหรือหมาด
2. เตรียมทรายละเอียด โดยล้างน้ำให้สะอาด แห้งแล้วใช้ตะแกรงร่อน เอาสิ่งปนเปื้อนออก
3. เตรียมเส้นใยที่ต้องการใช้เป็นส่วนผสม โดยฉีกหรือบดให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ย่อยสลายเป็นอณูเล็กๆ ได้ง่าย
4. เตรียมกาว น้ำมัน และวัตถุดิบที่จะใช้เป็นตัวยึดให้พร้อม
เมื่อเตรียมวัตถุดิบต่างๆ พร้อมแล้ว นำมาผสมกัน โดยให้ปูนขาวมีปริมาณมากที่สุด ทราย เส้นใย และกาว ลดหลั่นกันลงไป เช่น ปูนขาว 5 ส่วน ทราย 2 ส่วน เส้นใย 1 ส่วน และกาว 2 ส่วน คลุกเคล้าวัตถุดิบเหล่านี้ให้เข้ากัน แล้วนำไปโขลกหรือตำในครก (ปัจจุบันใช้เครื่องผสม) จนกว่าวัตถุดิบจะเป็นเนื้อเดียวกันและเหนียวพอที่จะนำไปปั้นเป็นงานศิลปกรรมต่างๆ

ปูนปั้นฝีมือช่างเมืองเพชร
สัดส่วนของส่วนผสมต่างๆ อาจต่างกันตามความนิยมของแต่ละสกุลช่าง โดยเฉพาะสกุลช่างเพชรบุรี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำปูนปั้นมาแต่โบราณนั้น
ปูนปั้นฝีมือช่างเมืองเพชร มีกรรมวิธีและสัดส่วนการผสมวัตถุดิบที่แตกต่างไปจากสกุลช่างอื่นบ้าง เช่น ใช้กระดาษสาแช่น้ำเป็นเส้นใย ใช้น้ำตาลโตนดหรือน้ำอ้อยในตัวเชื่อม สัดส่วนของวัตถุดิบจะขึ้นอยู่กับช่างหรือกลุ่มช่างซึ่งมีเคล็ดลับเฉพาะของตน ส่วนกรรมวิธีผสมวัตถุดิบที่ใช้การโขลกเช่นเดียวกับการทำปูนตำทั่วไป แต่อาจจะใช้เวลาหมักปูนสัดส่วนของส่วนผสม และขั้นตอนการผสมวัตถุดิบ เฉพาะของช่างชาวเพชรบุรี
ช่างชาวเพชรบุรีได้รับการยกย่องว่า มีความสามารถและเชี่ยวชาญในการทำประติมากรรมปูนปั้น ประเภทลวดลายมาแต่โบราณ ดังปรากฏลวดลายปูนปั้นตามหน้าบันโบสถ์ วิหารต่างๆ ในเมืองเพชรบุรี ที่ยังคงอยู่มาจนปัจจุบัน แสดงว่าช่างชาวเพชรบุรีมีความสามารถในการสร้างสรรค์งานปูนปั้นเป็นเลิศ และมีกรรมวิธีในการทำปูนตำสำหรับทำปูนปั้นให้มีความคงทนเป็นพิเศษ
จะเห็นว่า การทำปูนตำเพื่อใช้ปั้นลวดลายและประติมากรรมของช่างไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณนั้น เป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งของคนไทยที่น่าศึกษายิ่ง
อ่านเพิ่มเติม :
- “ช่างสิบหมู่” มีอะไรบ้าง เป็นมาอย่างไร และมีส่วนในงานศิลปกรรมไทยอย่างไร
- เบื้องหลัง “ลายรดน้ำ” ประณีตศิลป์ชั้นสูง ทำอย่างไร?
- “ลงรักปิดทอง” สุดยอดศิลปกรรมอันวิจิตรของไทย ทำอย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กันยายน 2567