เปิดที่มา “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์กลอยกระทง ระดมแรงงานชาวเขมรนับหมื่นคนมาขุด

ลอยกระทงดิจิทัล ลอยกระทง ที่ คลองโอ่งอ่าง
ลอยกระทงดิจิทัลที่คลองโอ่งอ่าง (ภาพจากเฟซบุ๊ก: Sanon Wangsrangboon)

หลายปีมานี้ คลองโอ่งอ่าง เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของเทศกาล “ลอยกระทง” ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งถ้าย้อนกลับไปถึงที่มาของคลองนี้แล้วก็กว่า 200 ปี ทั้งยังมีการระดมแรงงานชาวเขมรนับหมื่นคนมาขุดคลองด้วย 

ปาริชาต ปาวิชัย เขียนในบทความ “กทม. ใช้คลองโอ่งอ่างจัดลอยกระทง?” ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม เมื่อปี 2561 ว่า ในปี 2561 วันลอยกระทงตรงกับวันที่ 22 พฤศจิกายน ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดพื้นที่คลองโอ่งอ่างจัดงานลอยกระทง ด้วยเหตุผลว่า เป็นหนึ่งในคลองเก่าแก่ของเมืองกรุง ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าสองศตวรรษ และเป็นย่านประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ที่ผู้คนให้ความสนใจ

คลองโอ่งอ่าง หรือ คลองรอบกรุง ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2328 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไม่ปรากฏหลักฐานว่าขุดแล้วเสร็จในปีใด วัตถุประสงค์ในการขุดเพื่อขยายอาณาเขตของพระนครให้กว้างใหญ่ และใช้เป็นเส้นทางสายใหม่ในการคมนาคม โดยระดมแรงงานทหารเกณฑ์ชาวเขมรเป็นจำนวนถึง 10,000 คน เพื่อขุดคลองสายประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์

ปาริชาต บอกอีกว่า จุดเริ่มต้นของคลองอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าวัดสังเวช ขุดผ่านไปถึงวัดสะแก แล้วอ้อมผ่านกลับลงไปทางด้านใต้ของโค้งน้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณวัดเชิงเลน และสิ้นสุดที่วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร (วัดสามปลื้ม) รวมระยะทางที่ขุดผ่านไปนั้นยาวถึง  85 เส้น 13 วา กว้าง 1 วา หรือมากกว่า 3 กิโลเมตร และรัชกาลที่ 1 พระราชทานนามให้เรียกตามว่า คลองรอบกรุง

คลองรอบกรุง แต่เดิมมีชื่อเรียกแตกต่างกันเป็นตอนๆ ตามสถานที่สำคัญที่คลองผ่าน เช่น ตอนต้นเรียก “คลองบางลำพู” ตามชื่อตำบล เมื่อผ่านสะพานหันเรียก “คลองสะพานหัน” เมื่อผ่านวัดเชิงเลนเรียก “คลองวัดเชิงเลน”

ช่วงสุดท้ายเรียก “คลองโอ่งอ่าง” เพราะเคยเป็นแหล่งค้าขายโอ่ง อ่าง กระถาง และภาชนะต่างๆ ที่ปั้นด้วยดินเผาของชาวมอญและชาวจีน

การขุดคลองรอบกรุงนำความรุ่งเรืองมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ที่คับคั่งไปด้วยเรือแพนาวาขายสินค้านานาชนิด ทั้งยังเป็นถิ่นที่อยู่ของคนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งแขกมลายู และชาวจีนจากโพ้นทะเลที่เข้ามาค้าขายกับสยามประเทศในสมัยนั้น

กรุงเทพมหานคร จึงเลือกพื้นที่คลองโอ่งอ่าง หนึ่งในเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ เป็นสถานที่จัดลอยกระทง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2566