กทม. ใช้คลองโอ่งอ่างจัดลอยกระทง ?

ลอยกระทงในอดีต จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ (ภาพจากหนังสือประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน)

กทม. ใช้คลองโอ่งอ่างจัดงานลอยกระทงประจำปี คลองโอ่งอ่างส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุง เส้นทางหลักในการคมนาคมยุคต้นรัตนโกสินทร์…

ประเพณีลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 22 พฤศจิกายน กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดพื้นที่คลองโอ่งอ่างจัดงานลอยกระทง เหตุที่เลือกใช้คลองโอ่งอ่างเป็น 1 ในสถานที่จัดงานลอยกระทงประจำปีนี้ เพราะ คลองโอ่งอ่างเป็น 1 ในคลองเก่าแก่ของเมืองกรุง ที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานกว่าสองศตวรรษ และเป็นย่านประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้

คลองโอ่งอ่าง หรือ คลองรอบกรุง ขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2328 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไม่ปรากฏหลักฐานว่าขุดแล้วเสร็จในปีใด วัตถุประสงค์ในการขุดเพื่อขยายอาณาเขตของพระนครให้กว้างใหญ่ และใช้เป็นเส้นทางสายใหม่ในการคมนาคม โดยระดมแรงงานทหารเกณฑ์ชาวเขมรเป็นจำนวนถึง 10,000 คน เพื่อขุดคลองสายประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์

แผนที่คลองโอ่งอ่างสมัยรัตนโกสินทร์ (ภาพจากหนังสือชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ)

จุดเริ่มต้นของคลอง อยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าวัดสังเวช ขุดผ่านไปถึงวัดสะแก แล้วอ้อมผ่านกลับลงไปทางด้านใต้ของโค้งน้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณวัดเชิงเลน และสิ้นสุดที่วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร (วัดสามปลื้ม) รวมระยะทางที่ขุดผ่านไปนั้นยาวไกลถึง  85 เส้น 13 วา กว้าง 1 วา หรือมากกว่า 3 กิโลเมตร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานนามให้เรียกตามว่า “คลองรอบกรุง”

คลองรอบกรุง แต่เดิมมีชื่อเรียกแตกต่างกันเป็นตอนๆ ตามสถานที่สำคัญที่คลองผ่าน เช่น ตอนต้นเรียก “คลองบางลำพู” ตามชื่อตำบล เมื่อผ่านสะพานหันเรียก “คลองสะพานหัน” เมื่อผ่านวัดเชิงเลนเรียก “คลองวัดเชิงเลน” และช่วงสุดท้ายเรียก “คลองโอ่งอ่าง” เพราะเคยเป็นแหล่งค้าขายโอ่ง อ่าง กระถาง และภาชนะต่างๆ ที่ปั้นด้วยดินเผาของชาวมอญและชาวจีน

คลองรอบกรุงผ่านตำบลบางลำพูสมัยรัชกาลที่ 5 บ้านเรือนตั้งเรียงรายสองฝากคลอง (ภาพจากหนังสือชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ)

การขุดคลองรอบกรุงนำความรุ่งเรืองมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ที่คับคั่งไปด้วยเรือแพนาวาขายสินค้านานาชนิด ทั้งยังเป็นถิ่นที่อยู่ของคนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งแขกมลายู และชาวจีนจากโพ้นทะเลที่เข้ามาค้าขายกับสยามประเทศในสมัยนั้น

กรุงเทพมหานครจึงเลือกพื้นที่บริเวณคลองโอ่งอ่างหนึ่งในเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญเป็นสถานที่จัดลอยกระทง


แหล่งอ้างอิง     

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมือง ในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.

ศิริญญา สุจินตวงษ์. 7 ย่านเก่าในบางกอก. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544.