ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“จองเปรียง ลดชุดลอยโคม” เป็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์และวรรณกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ ซึ่งต่อมามีพัฒนาการสู่ “ลอยกระทง” ในสมัยรัตนโกสินทร์
สุจิตต์ วงษ์เทศ เล่ารายละเอียด พิธี จองเปรียง ลดชุดลอยโคม ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 โดยเกริ่นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติคือ “น้ำ” กับพิธีกรรมของมนุษย์ว่า “น้ำแล้ง” กับ “น้ำหลาก” เป็นปัญหาของมนุษย์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตมรสุมจะต้องแก้ไข แต่มนุษย์ไม่รู้ว่าเหตุใดน้ำจึงแล้ง เหตุใดน้ำจึงหลาก จึงยกให้เป็นการกระทำของ “อำนาจเหนือธรรมชาติ” หรือ “ผี” ที่คุ้มครองดิน ฟ้า และสรรพสิ่ง
เมื่อน้ำแล้ง มนุษย์ต้องทำพิธีขอฝนเพื่อทำไร่ไถนา ครั้นถึงฤดูน้ำหลากมนุษย์ก็ต้องทำพิธีกรรมอีกเพื่อมิให้น้ำทำอันตรายต่อพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยเฉพาะข้าว
ชาวบ้านทั่วไปรู้จากประสบการณ์ว่า ถึงเดือนสิบเอ็ด หรือราวเดือนตุลาคม น้ำจะขึ้นนองหลาก พอถึงเดือนสิบสอง หรือราวเดือนพฤศจิกายน น้ำจะทรงตัวคือไม่ขึ้นไม่ลง ครั้นเดือนอ้าย หรือราวเดือนธันวาคม ต่อเดือนยี่หรือราวเดือนมกราคม น้ำจะลดลง ดังเพลงชาวบ้านร้องเล่นว่า
เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง
เดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็ไหลลง
ด้วยความอ่อนน้อมต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ มนุษย์จะเริ่มมีพิธีกรรมเพื่อแสดงความอ่อนน้อมนั้น ร่องรอยเรื่องนี้มีหลักฐานอยู่ใน กฎมณเฑียรบาล ยุคต้นกรุงศรีอยุธยาเมื่อไม่น้อยกว่า 600 ปีมาแล้วว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงประกอบพระราชพิธีเกี่ยวกับน้ำต่อเนื่องกัน 3 เดือนดังนี้
เดือน 11 แข่งเรือ, เดือน 12 ลดชุดลอยโคม, เดือนอ้าย ไล่เรือ
เมื่อแข่งเรือเสี่ยงทายเสร็จสิ้นไปแล้ว ก็ถึงพิธีกรรมขอขมาดินกับน้ำ กฎมณเฑียรบาลเรียกว่า พิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม สมัยรัตนโกสินทร์เรียกว่า ลอยกระทง
พิธีกรรมลดชุดลอยโคม มีอยู่ในโคลงทวาทศมาส (สันนิษฐานว่า แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช – กอง บก.) ส่วนเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ก็ทรงพระนิพนธ์ “นิราศธารโศก” พรรณนาถึงพิธีลดชุดลอยโคมด้วยเช่นกัน
โคม เป็นเครื่องตามไฟชนิดหนึ่งมีที่บังลม ภายในมีเชื้อเพลิงและไส้เพื่อจุดไฟให้เกิดแสงสว่างและมีสายโคมติดรอก ทั้งยังมีเสาโคมแขวน เพื่อชักโคมขึ้นไปส่องสว่างอยู่กลางฟ้า เมื่อถึงเวลาก็ลดลงไปลอยน้ำในแม่น้ำลำคลอง เพื่อขอขมาดินและน้ำที่ให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเลี้ยงมนุษย์
ลาลูแบร์ ราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศส ที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ณ กรุงศรีอยุธยา ได้เห็นบรรยากาศการชักโคมลอยโคม จึงบรรยายว่า
“ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่คงคาด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (ในแม่น้ำ) อยู่หลายคืน เราจะได้เห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ…ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน…โดยนัยเดียวกันเพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ ในวันต้น ๆ ของปีใหม่ ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง”
ประเพณีชักโคมลอยโคมอย่างนี้นี่เอง ที่จะมีพัฒนาการเป็น “ลอยกระทง” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ฉะนั้นประเพณีลอยกระทงจึงไม่ได้มีขึ้นครั้งแรกที่กรุงสุโขทัย
หมายเหตุ : สุจิตต์ วงษ์เทศ ขยายความเรื่องพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม เพิ่มเติมในบทความ ‘จองเปรียง’ พิธีบูชาไฟ สมัยอยุธยา ชักโคม และลดชุด ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16-22 ตุลาคม 2563 ว่า กฎมณเฑียรบาล สมัยอยุธยาตอนต้น ระบุว่า เดือน 12 มีพิธี “จองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำ” โดยทั่วไปเข้าใจว่าเป็นพิธีเดียวกันทั้งหมด ครั้นศึกษาตรวจสอบใหม่จึงพบว่าเป็นพิธีมี 2 กิจกรรมในคราวเดียวกัน ได้แก่ (1.) จองเปรียงลดชุด ซึ่งทำบนบก (ไม่ลงน้ำ) และ (2.) ลอยโคมลงน้ำ หมายถึง ลอยโคมทำลงน้ำ (ไม่บนบก) นอกจากนี้ จองเปรียงลดชุดยังเป็นพิธีมีก่อนสมัยอยุธยา ดังนั้นราชสำนักอยุธยาสืบเนื่องพิธีนี้จากบ้านเมืองดั้งเดิม เช่น เมืองพระนครหลวง (นครธม) ในกัมพูชา
อ่านเพิ่มเติม :
- ลอยกระทง เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยจริงหรือ?
- พัฒนาการพระราชพิธี “เลี้ยงพระตรุษจีน” ในราชสำนักสยามสามแผ่นดิน
- “อาพาธพินาศ” พระราชพิธีโบราณ สมัย ร.2 ใช้บรรเทาทุกข์ประชาชนยามเกิดโรคระบาด
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. “พิธีกรรมเกี่ยวกับ ‘น้ำ’” ใน คำให้การของบรรณาธิการ. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2541.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2566