
ผู้เขียน | พัชรเวช สุขทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
ลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ โดยจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ของทุกปี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันมายาวนานว่า ประเพณีนี้มีจุดเริ่มต้นในสมัยใดกันแน่
ปัจจุบันประเพณีนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ละพื้นที่จะจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยจะมีความเชื่อแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ อาทิเช่น ลอยกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคาที่ล่วงเกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ลอยทุกข์ลอยโศกโรคภัยต่างๆ ให้ลอยไปกับกระทง เป็นต้น โดยปีนี้วันลอยกระทงจะตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
แล้วเคยสงสัยหรือไม่ ว่าลอยกระทงเริ่มมีเมื่อใด แล้วเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยจริงหรือ?
ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าลอยกระทงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่คำว่าลอยกระทงเริ่มเด่นชัดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีการสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และความจำเป็นด้านอื่นๆ จึงมีพระราชนิพนธ์หนังสือตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ โดยจะสมมุติฉากในเรื่องเป็นสมัยสุโขทัย จึงเกิดการทำกระทงด้วยใบตองแทนวัสดุอื่นๆ เมื่อระยะเวลาผ่านไป การทำกระทงด้วยใบตองก็แพร่หลายไปที่ต่างๆ จนถึงปัจจุบัน
เมื่อพูดถึงลอยกระทง สิ่งแรกที่นึกถึงก็คือนางนพมาศ และสมัยสุโขทัย แต่ว่าในศิลาจารึกและเอกสารต่างๆ ไม่มีคำว่า “ลอยกระทง” แต่จะมีประเพณีที่มีลักษณะคล้ายกับการลอยกระทง โดยในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า “เผาเทียน เล่นไฟ” ซึ่งมีความหมายกว้างๆว่า ทำบุญไหว้พระ แม้แต่ในสมัยอยุธยา ทั้งเอกสารและวรรณคดี มีแต่ชื่อ ชักโคม ลอยโคม และแขวนโคม ดังตัวอย่างจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ดังนี้

“ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่คงคาด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (ในแม่น้ำ) อยู่หลายคืน…เราจะเห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ…ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน…โดยนัยเดียวกัน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในวันต้นๆ ของปีใหม่ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง”
ด้วยเหตุนี้คำว่า “ลอยกระทง” จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นาน และชัดเจนในยุคต้นรัตนโกสินทร์ โดยจากหลักฐานพระราชพงศาวดารแผ่นดิน รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และเรื่องนางนพมาศ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3
อย่างไรก็ตาม ประเพณีลอยกระทงจะเกิดขึ้นหรือพัฒนามาจากสิ่งใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในครอบครัวและชุมชน ที่ร่วมกันจัดงานลอยกระทงขึ้น เพื่อให้รู้จักบุญคุณของน้ำ และดูแลรักษาทรัพยากรของประเทศให้ยั่งยืนสืบต่อไป
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปรานี วงษ์เทศ. ประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2561