รำวงลอยกระทง เพลงที่ถือกำเนิดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ลอยกระทง
บรรยากาศวันลอยกระทง (ภาพจากห้องสมุดภาพมติชน)

ถ้ามีการจัดลำดับเพลงที่ขึ้นทำเนียบเพลงที่คนไทยรู้จักกันดีที่สุด เพลง “รำวงลอยกระทง” หรือที่ส่วนใหญ่เรียกกันว่า เพลง “ลอยกระทง” ของเพลงของครูเอื้อ สุนทรสนานแห่งวงสุนทราภรณ์ ก็ต้องติดอันดับแน่นอน

เพลงรำวงลอยกระทงยังเป็น “ที่สุด” อีกหลายด้านกล่าวคือ เป็น “เพลงสั้นที่สุด” ของวงสุนทราภรณ์, “ทำนองเพลงสั้นที่สุด” จากฝีมือของครูเอื้อ สุนทรสนาน, “เนื้อร้องสั้นที่สุด” เท่าที่ครูแก้ว อัจฉริยะกุลเคยเขียนมา

ที่ว่า “เนื้อร้องสั้นที่สุด” เพราะครูแก้วเขียนไว้ประมาณ 2 บรรทัด และร้องวนซ้ำประมาณ 3-4 รอบว่า

“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริง วันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ”

อย่างไรก็ตาม “รำวงลอยกระทง” ก็ได้รับความนิยมยาวนานมามากกว่า 70 ปี

ส่วนที่มาของเพลงรำวงลอยกระทง เรื่องมีอยู่ว่า อาภรณ์ (กรรณสูต) ภรรยาของครูเอื้อ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ขอให้ครูเอื้อช่วยแต่งเพลงสำหรับงานลอยกระทง เพราะชมพู อรรถจินดา แม่งานในครั้งนั้นขอร้องมาอีกต่อหนึ่ง เล่าลือกันว่า ครูเพลงทั้งสองแต่งเพลงนี้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในคืนวันงาน ครูเอื้อนั่งผิวปากเช่นที่ทำเป็นปกติเวลาแต่งเพลง ส่วนครูแก้วฟังแล้วก็ใส่เนื้อเดี๋ยวนั้น ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเสร็จแล้วก็บรรเลงกันสดๆ เลย

ขณะที่พูลสุข สุริยพงษ์รังสี  หรือ “ครูดำ” หลานตาของครูเอื้อ ซึ่งเป็นหัวหน้าวงสุนทราภรณ์เคยกล่าวถึงเพลงรำวงลอยกระทงว่า คุณตา (ครูเอื้อ) นั่งแต่งเพลงรำวงลอยกระทง กับครูแก้ว ที่บริเวณลานเฟื่องฟ้า ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเวลาบ่าย ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อแต่งเสร็จแล้วก็ยังมีเวลาให้นักร้อง นักดนตรีได้ซ้อมเพื่อจะเล่นในตอนกลางคืน นักร้องที่ร้องเพลงนี้ในคืนนั้นมี ชวลี ช่วงวิทย์, สุปาณี พุกสมบุญ, เลิศ ประสมทรัพย์ และวินัย จุลละบุษปะ ส่วนปีที่แต่งนั้นไม่แน่ใจ

ต่อมา พ.ศ. 2492 ภาพยนตร์เรื่อง “สุภาพบุรุษเสือไทย” ซึ่งสุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ แสดงเป็นพระเอก โดยแท้ ประกาศวุฒิสาร เป็นผู้กำกับฯ นำเพลงรำวงลอยกระทง”ไปใช้ประกอบภาพยนตร์ นั่นเท่ากับว่าอย่างช้าที่สุด เพลงรำวงลอยกระทงต้องเกิดใน พ.ศ. 2492

ครูสมาน กาญจนะผลิน เป็นอีกท่านที่เกี่ยวข้องกับเพลงรำวงลอยกระทง โดยเมื่อครั้งที่จะบันทึกแผ่นเสียงเพลงนี้ ครูเอื้อขอให้ครูสมานไปร่วมบรรเลงเพลง ครูสมานดีใจมาก ถึงวันนัดก็ไปขัดทรัมเป็ตอยู่หน้าห้องอัด แต่ถึงเวลากับไม่ได้เป่า เพราะครูเอื้อให้ไปตีระนาดฝรั่งแทน เพราะในวงการรู้กันดีว่าครูสมานมีฝีมือตีระนาดได้พริ้งมาก

ถ้าวันลอยกระทงปีนี้ ได้ยินเพลง “รำวงลอยกระทง” แล้วมีเสียงระนาดฝรั่ง ไม่แน่ว่านั่นอาจเป็นฝีมือของครูสมาน และเป็นเพลงเวอร์ชันแรกของวงสุนทราภรณ์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช. เพลงของโลกและของเรา, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤสจิกายน 2564