ลอยกระทงกับคำสอน “นางนพมาศ” แฝงคติเตือนสนม อย่า “เล่นเพื่อน” ประณามหญิงรักหญิง?

จิตรกรรม ผู้หญิง สตรี เล่นเพื่อน นางนพมาศ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์

“นางนพมาศ” หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ถูกตั้งคำถามเรื่องตัวตนจริงของ นางนพมาศ และยุคสมัยที่แท้จริงซึ่งวรรณกรรมชิ้นนี้ถูกผลิตมาโดยตลอด แต่หากพิจารณาในแง่สารหรือเนื้อหาข้างในแล้ว มีหลายส่วนสะท้อนมุมมองและแง่คิดที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะสื่อถึง เจาะจงถึงบริบทยุคไหนก็ตาม เรื่องคำสอนส่วนหนึ่งในหนังสือที่ว่านี้ นักเขียน นักวิชาการบางท่านมองว่ามีนัยยนะเชิงประณามการ “เล่นเพื่อน” หรือกิจหญิงรักหญิงที่เชื่อว่าเป็นที่แพร่หลายในวังพอสมควร

เป็นที่แน่ชัดว่าเนื้อหาของวรรณคดีมีน้ำเสียงเชิงสั่งสอนสิ่งพึงปฏิบัติไม่พึงปฏิบัติโดยเฉพาะสำหรับนางสนม สุพจน์ แจ้งเร็ว ตั้งข้อสังเกตเนื้อหาส่วนหนึ่งในวรรณกรรมที่ นางนพมาศ พูดถึงนิทาน “นางนกกระเรียนคบนางนกไส้ช่างยุ” ในบทความ “คำสอนนางนพมาศ (ว่าด้วยการเป็นนางบำเรอบาท)”

ผู้เขียนบทความมองว่า นิทานอุปมาเรื่องที่ นางนพมาศ ยกขึ้นสาธกเป็นคำตอบแก่พระศรีมโสถ ผู้เป็นบิดานั้น แสดงถึงลักษณะของ “ลามกสตรี” อัน “เป็นฝ่ายข้างอัปมงคล” ที่ “ทำทุจริตลุอำนาจแก่ความรัก” หากอ่านแบบเผินๆ อาจรับรู้ถึงสารเชิงเตือนสตินางสนมให้ตั้งใจปฏิบัติ “ราชการ” อย่าคบเพื่อนฝูงจนเลยละราชการ (นิทานเล่าว่า “นางนกกระเรียน” คบกับ “นางนกไส้” ร่วมรังเดียวกันจนลืมร้องถวายเสียงแก่กรุงกษัตริย์ เมื่อนึกได้ก็กลางคัน ไม่ได้เป็นใจเปล่งเสียงร้องให้ไพเราะ คิดแต่จะกลับคืนรังไปอยู่กับนางนกไส้)

อย่างไรก็ตาม สุพจน์ แจ้งเร็ว แสดงความคิดเห็นว่า หากนางสนมได้อ่านอาจต้องสะอึกกันบ้าง เนื่องจากนิทานเรื่องนี้บริภาษการ “เล่นเพื่อน” อย่างรุนแรง

เรื่องการเล่นเพื่อนนี้เป็นเรื่องที่ว่ากันว่าอยู่คู่กับราชสำนักมา เคยถูกบัญญัติเป็นกฎมณเฑียรบาล ระบุโทษนางสนมกำนัลคบผู้หญิงหนึ่งกันดุจชายเป็นชู้เมียกัน ต้องลงโทษด้วยลวดหนัง 50 ที และโดนประจานรอบพระราชวัง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่สืบค้นไม่พบว่าในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์เคยมีการจับสนมเล่นเพื่อนได้ แต่เชื่อว่าเป็นที่รู้กันอยู่ภายใน และมีกลอนเพลงยาว “หม่อมเป็ดสวรรค์” ในหมู่ชาววังเป็นที่สนุกสนานกัน

กลอนเพลงยาวนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่บ้างก็ว่าแต่งโดยคุณสุวรรณ นางข้าหลวงในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ขณะที่นายหรีด เรืองฤทธิ์ ผู้รู้ของกรมศิลปากรสันนิษฐานว่ากลอนเพลงยาวแต่งเมื่อราว พ.ศ. 2348-2358 ก่อนกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพประชวรในปีเถาะ พ.ศ. 2386

สำหรับเรื่องราว “หม่อมเป็ดสวรรค์” แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของหม่อมสุด (ชื่อในเรื่องคือ คุณโม่ง) กับหม่อมขำ (ชื่อในเรื่องคือ หม่อมเป็ด) ซึ่งต่างมีหน้าที่อ่านหนังสือ-ถวายงานรับใช้เมื่อทรงบรรทม คราวหนึ่งถึงคลุมโปงประกอบกิจกันอุตลุดที่ปลายพระบาท โดยคิดว่าเจ้านายทรงพระบรรทมแล้ว แต่เรื่องที่เล่นเพื่อนนั้นโชคดีที่เจ้านายไม่ทรงกริ้ว

แต่สำหรับพระมหากษัตริย์แล้ว การ “เล่นเพื่อน” นี้ ไม่เป็นที่พอพระทัยในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสำหรับเจ้าจอมของพระองค์ อันเห็นได้จากกลอนพระราชนิพนธ์ว่า

“การสิ่งใดที่ไม่ดีเรามิชอบ

อ้อนวอนปลอบจงจำอย่าทำหนา

ก็ไม่ฟังขืนขัดอัธยา

ยิ่งกับว่าตอไม้ไม่ไหวติง

ที่ข้อใหญ่ชี้ให้เห็นเรื่องเล่นเพื่อน

ทำให้เฟือนราชกิจผิดทุกสิ่ง

ถ้าจะเปรียบเนื้อความไปตามจริง

เสมอหญิงเล่นชู้จากสามี

นี่หากวังมีกำแพงแขงแรงรอบ

เปนคันขอบดุจเขื่อนคีรีศรี

ถ้าหาไม่เจ้าจอมหม่อมเหล่านี้

จะไปเล่นจ้ำจี้กับชาย เอย”

เมื่อกลอนพระราชนิพนธ์แสดงให้เห็นว่ามีเจ้านายทรงไม่พอพระทัย (แม้จะมีบางพระองค์ไม่ทรงกริ้วก็ตาม) สุพจน์ แจ้งเร็ว เชื่อว่า บริบทที่เจ้านายไม่พอพระทัยนี้มีแนวโน้มนำมาสู่เนื้อหาเชิงสั่งสอนตักเตือนหรือกำราบพฤติกรรมนางสนมที่ลุแก่ความรักจนทำให้ “เฟือนแก่ราชกิจ” เหมือนนางนกกระเรียนที่ลืมร้องถวายเสียงว่า “พึงใจแต่จะให้นางนกไส้เข้าซอกไซ้ใต้ปีกใต้หางไม่ว่างเว้น”

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตอีกประการว่า การพิจารณาวรรณคดี ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ บางส่วนสะท้อนสังคมฝ่ายในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกวรรคทุกวลีของวรรณกรรมคือ “สัญลักษณ์” ที่ถอดสมการออกมาได้ แต่การทดลอง “ลากเข้าวัด” ก็สามารถช่วยให้เห็นแนวทางอื่นได้ และหากพบคำตอบที่ดีกว่าย่อมควรพิจารณาเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สุพจน์ แจ้งเร็ว. “คำสอนนางนพมาศ (ว่่าด้วยการเป็นนางบำเรอบาท)”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 2, ธันวาคม 2526

เอนก นาวิกมูล. หญิงชาวสยาม. สำนักพิมพ์แสงดาว. 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2561