ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
ท่าเรือโปเส็ง ท่าเรือ 4 แผ่นดินอันโด่งดังแห่งย่านตลาดน้อย
“ตลาดน้อย” หรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า “ตะลัคเกียะ” เป็นชุมชนจีนที่เกิดขึ้นมาจากการขยายตัวของ “สำเพ็ง” ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ความที่อยู่ใกล้กับสำเพ็งมาก ทำให้บางครั้งที่นี่ถูกเรียกในฐานะส่วนหนึ่งของสำเพ็ง และตลาดน้อยนี่เอง ที่เป็นที่ตั้งของ “โปเส็ง” ท่าเรืออันโด่งดังของ พระอภัยวานิช (จาค)
พัฒนาการของชุมชนย่านตลาดน้อยสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการค้าสำเภาเฟื่องฟูขึ้นในสมัยต้นกรุงเทพฯ เนื่องจากรัฐบาลเปิดโอกาสให้บรรดาพ่อค้าศักดินา ซึ่งมีทั้ง “เจ้าและขุนนางเจ๊สัวราษฎรผู้มีทรัพย์” ทำให้การค้าสำเภาเป็นไปอย่างค่อนข้างเสรี
พ่อค้าเอกชนชาวจีนส่วนหนึ่งที่มั่งคั่งขึ้นมาจากการค้าสำเภา ยังได้ผันตัวเองเข้าไปอยู่ในระบบศักดินา ด้วยการเข้าเป็น “ขุนนาง” ในกรมท่า ซึ่งเอกลักษณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับขุนนางชาวจีนในระดับกลางทั่วไป รวมทั้ง พระอภัยวานิช (จาค) ชาวจีนฮกเกี้ยนตระกูลโปษยะจินดา ตระกูลเก่าแก่ในย่านตลาดน้อย
ท่าเรือของพระอภัยวานิช (จาค) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่อย่างน้อยน่าจะรุ่งเรืองมาตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 โดยเจ้าสัวจาคได้รับพระราชทานที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตลาดน้อย และได้สร้างอาคารสถาปัตยกรรมแบบจีนขึ้นหมู่หนึ่ง สำหรับอาคารที่ใช้เป็นที่พักได้ชื่อว่าบ้าน “โซวเฮงไถ่” ซึ่งอาคารทรงจีนบางส่วนยังคงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ เป็นท่าเรือใหญ่อีกแห่งหนึ่งคือ “ฮวยจุ่งโล้ง” ท่าเรือกลไฟของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูล พิศาลบุตร ต่อมาได้ขายให้แก่นายตันลิบบ๊วย แห่งตระกูลหวั่งหลี
การค้าสำเภาของท่าเรือโปเส็ง ส่วนมากเป็นสินค้าประเภทยาสมุนไพรที่นำมาจากภาคใต้ โดยดำเนินกิจการเรื่อยมาจนถึงรุ่นลูกคือ หลวงอภัยวานิช (สอน) แต่แล้วความรุ่งเรืองของท่าเรือแห่งนี้ก็เป็นอันต้องประสบกับคลื่นลมจากการแข่งขันของเรือกำปั่นและเรือกลไฟ ที่เข้ามาพร้อมกับสนธิสัญญาเบาริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมาแทนที่เรือสำเภาที่ใช้กันอยู่แต่เดิม
ในขณะที่พ่อค้าบางส่วนสามารถปรับตัวเองเข้าระบบการค้าเสรีแบบใหม่นี้ ด้วยการผันตัวเองเข้าสู่ระบบเจ้าภาษีนายอากร ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการค้าต่างประเทศ แต่ท่าเรือโปเส็งกลับต้องค่อยๆ ปิดฉากตัวเองไปพร้อมๆ กับการอนิจกรรมของเจ้าสัวสอนใน พ.ศ. 2437 ซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5
อ่านเพิ่มเติม:
- สืบต้นกำเนิดสำเพ็ง จากศูนย์การค้ายุคแรกสมัยรัตนโกสินทร์ สู่ย่านสีเทา-โสเภณี
- “เยาวราช” พิพิธภัณฑ์ (มี) ชีวิตจีนโพ้นทะเล
- “เผยอิง” โรงเรียนที่ผลิต “เจ้าสัว” มากที่สุดในเมืองไทย
อ้างอิง :
นิภาพร รัชตพัฒนากุล. “‘เจ๊ก’ ในบางกอก…” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2546
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2566