ส่วย คำศัพท์ที่มีความหมายในแง่ลบบนสื่อ มาจากไหน?

สติกเอกร์หน้ารถ ส่วย รถบรรทุก
สติกเกอร์หน้ารถที่กำลังเป็นประเด็นทางสังคม ว่าอาจเป็น “ส่วย” รูปแบบหนึ่ง (ภาพ “สติกเกอร์หน้ารถ” จาก ข่าวสดออนไลน์ https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_7954223)

“ส่วย” คำศัพท์ที่คุ้นเคยที่เห็นในสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อโซเชียลเสมอๆ หากหลายครั้งที่เห็น ส่วยคำนี้มักให้ความหมายในทางลบ แล้วคำว่าส่วยหมายถึงอะไร

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 27 อธิบายว่า ส่วยเป็นชนชาติในตระกูลมอญ-เขมร แต่พวกส่วยเรียกตัวเองว่า “กวย” หรือ “กูย” ซึ่งแปลว่า คน  ถิ่นเดิมของพวกส่วยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศลาว

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐาน คำว่า “ส่วย” น่าจะมีเค้าจากภาษาแต้จิ๋วว่า “ส่วยโป๊ว” ซึ่งหมายถึงการเก็บส่วนลดจากผลประโยชน์ของราษฎร

นอกจากนี้ ส่วยยังเป็นวิธีเรียกเก็บภาษีอากรในสมัยโบราณของของไทย ที่ประกอบด้วย จังกอบ, ฤชา, อากร และส่วย 

จังกอบ หรือ จกอบ คือ ภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าที่ผ่านด่านภาษี จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ภาษีผ่านด่าน” จังกอบบางส่วนจัดเก็บจากสินค้าเข้าและสินค้าออก ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า “ภาษีศุลกากร” การเก็บจังกอบนั้นอาจจัดเก็บในรูปสิ่งของ เช่น การเก็บชักส่วนสินค้าผ่านด่านตามพิกัดเก็บ 10 หยิบ 1 หรือจัดเก็บเป็นตัวเงินตามขนาดของยานพาหนะที่ขนสินค้า เช่น ตามน้ำหนัก ความยาว หรือความกว้างของปากเรือ เป็นต้น จังกอบจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ภาษีปากเรือ”

อากร คือ ส่วนที่เก็บชักจากผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้ในอาชีพต่าง ๆ เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน ฯลฯ หรือโดยได้รับสิทธิจากรัฐบาลไปกระทำการ เช่น ต้มกลั่นสุรา เก็บของในป่า จับปลาในน้ำ ฯลฯ เรียกว่า อากรค่านา, อากรสุรา, อากรค่าน้ำ ฯลฯ โดยการเก็บอากรอาจจัดเก็บเป็นตัวเงินหรือเป็นสิ่งของก็ได้

ฤชา คือ ค่าธรรมเนียมที่ทางราชการเรียกเก็บจากราษฎร ซึ่งได้รับประโยชน์จากรัฐเป็นการเฉพาะตัว เช่น ผู้ใดจะขอโฉนดตราสาร เพื่อมิให้ผู้อื่นบุกรุกแย่งชิงที่เรือกสวนไร่นา จักต้องเสียฤชาแก่รัฐ เป็นต้น ฤชาที่สำคัญได้แก่ ค่าธรรมเนียม และค่าปรับทางการศาล

ส่วน ส่วย นั้นมีความหมายอย่างน้อย 4 นัย คือ

1. ส่วยคือสิ่งของที่รัฐบาลเรียกร้องเอาจากเมืองที่อยู่ใต้ปกครอง หรืออยู่ในความคุ้มครองเป็นค่าตอบแทน ส่วยตามความหมายนี้จึงมีลักษณะเป็นเครื่องราชบรรณาการ

2. ส่วยคือเงินช่วยราชการตามที่กำหนดเรียกเก็บจากราษฎรชายที่มิได้รับราชการทหาร โดยเรียกเก็บเป็นรายบุคคล ด้วยสังคมไทยแต่ดั้งเดิมมีระบบการเกณฑ์แรงงานจากราษฎร โดยรัฐไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง แต่รัฐจะให้ความคุ้มครองทางกฎหมายเป็นการตอบแทน

ภายหลังเมื่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานผ่อนคลาย จำนวนการเข้าเดือนจึงลดลงจากปีละ 6 เดือน เหลือปีละ 4 เดือนในสมัยกรุงธนบุรี และเปลี่ยนเป็นเสียส่วยแทน เพื่อที่ทางราชการจะได้นำไปจ้างคนมาทำงานแทน เรียก “ส่วยแทนแรงงาน” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ค่าราชการ” และเปลี่ยนชื่อเป็น “เงินรัชชูปการ” (แปลว่า เงินบำรุงแผ่นดิน) ในรัชกาลที่ 6

3. ส่วยคือเงินที่ทางราชการเกณฑ์ให้ราษฎรร่วมรับภาระในการกระทำการบางอย่าง เช่น เกณฑ์ให้ช่วยกันเลี้ยงแขกเมือง หรือเกณฑ์ให้ช่วยกันสร้างป้อมปราการ เป็นต้น

4. ส่วยคือทรัพย์มรดกของผู้มรณภาพซึ่งต้องถูกริบเป็นของหลวง เนื่องจากเกินกำลังของทายาทจะเอาไว้ใช้สอย

ส่วนส่วยที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ เข้าข่ายส่วยประเภทใด หรือควรบัญญัติคำจำกัดใหม่ ขอท่านผู้อ่านโปรดวินิจฉัย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

อิสริยา  เลาหตีรานนท์. ส่วย (30 ตุลาคม 2551) เว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (http://legacy.orst.go.th/)

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. ภาษีอากร ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2566