“คนกรุงศรีอยุธยา” บันทึกเกี่ยวกับ “กรุงศรีอยุธยา” ไว้อย่างไร?

ชีวิต คนกรุงศรีอยุธยา ในละครเรื่อง
ชีวิต คนกรุงศรีอยุธยา ในละครเรื่อง "พรหมลิขิต" ออกอากาศทางช่อง 3 เอชดี (ภาพจาก ช่อง 3)

แม้จะเสียกรุงศรีอยุธยาจากสงครามกับพม่าไปตั้งแต่ พ.ศ. 2310 แต่เรื่องราวกว่า 250 ปีของเมืองหลวงเก่าของประเทศแห่งนี้ กลับยังคงเล่าขานต่อเนื่องไม่ขาดสาย ด้วยข้อมูลจากเอกสารหลักฐาน หรือวัตถุพยาน ที่ “คนกรุงศรีอยุธยา” นำเสนอกันมาอย่างต่อเนื่อง

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายน 2565 ก็นำเสนอเรื่องกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน แต่เป็นข้อมูล จากบันทึกของคนกรุงศรีอยุธยา ซึ่ง ธนโชติ เกียรติณภัทร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “เพลงยาวชาวกรุงเก่า : คำบอกเล่า ความหลังเมื่อครั้งเสียกรุง”

สำหรับเพลงยาวที่ ธนโชติ เกียรติณภัทร นำเสนอนั้นมี 3 ฉบับด้วยกันคือ 1. เพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท 2. เพลงยาวยายจันอุษา 3. เพลงยาวเล่าเรื่องเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จากสมุดไทยเลขที่ 20 โดยผู้แต่งเพลงยาว 2 ฉบับแรก เป็นชาวกรุงศรีอยุธยาโดยกำเนิด ส่วนฉบับที่ 3 แม้ไม่ทราบผู้แต่งที่แน่ชัดหากสันนิษฐานว่าผู้แต่งเป็นชาวกรุงศรีฯ เช่นกัน

เพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2286 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา และเริ่มรับราชการในตำแหน่งนายสุดจินดาหุ้มแพร มหาดเล็กในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ จึงเป็นบุคคลที่ทันเห็นเหตุการณ์เมื่อครั้งกรุงเก่า

เพลงยาวนี้ พระองค์ทรงพระนิพนธ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 โปรดให้ยกกองทัพไปตีพม่า ใน พ.ศ. 2336 กองทัพวังหลวงยกไปตีเมืองทวาย ส่วนกองทัพวังหน้ายกเป็นทัพเรือไปตั้งที่ปากจั่นเมืองระนอง ในฐานะของผู้นำและชนชั้นปกครอง ยังทรงแสดงทัศนะต่อการบริหารราชการของราชวงศ์บ้านพลูหลวงในช่วงเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และพระเจ้าเอกทัศน์ ไว้ดังนี้

ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ   จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่

มิได้พิจารณาข้าไท   เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา

ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ   ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา

สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา   จะตั้งแต่งเสนาธิบดี

ไม่ควรอย่าให้อัครฐาน   จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี

เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี   จึงเสียทีวงศ์กษัตรา

เสียยศเสียศักดิ์นัคเรศ   เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา

เสียทั้งตระกูลนานา   เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร

ในเพลงยาวนี้ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงเลือกใช้และชุบเลี้ยงคนที่ไม่เหมาะสมกับราชการ ใช้สอยและชุบเลี้ยงแต่บรรดาข้าหลวงเดิม โดยไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถ ผู้ทรงพระนิพนธ์อ้างสุภาษิตโบราณ ที่สอนว่าคนเหล่านี้ไม่ควรที่จะนำมารับราชการ

สอดคล้องกับแนวคิดในวรรณคดีคำสอนสำหรับกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น “ปูมราชธรรม” วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลาย กล่าวไว้ว่า

“อันว่าพระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์ใดจะครองแผ่นพิภพภูมิมณฑลไซร้ พิจารณากิริยาแห่งราชเสวกทั้งปวง อย่าได้ว่าผู้นี้เป็นข้าเดิม ผู้นี้มิได้เป็นข้าเดิม ผู้นี้ควรเลี้ยง ผู้นี้มิควรเลี้ยง ให้เอากิริยาแห่งเสวกผู้นั้นๆ เป็นช้าง (หมายถึง เป็นใหญ่) ถ้ากิริยาผู้ใดกอปรด้วยสุวภาพแลรู้หลักไซร้ แม้นว่าเป็นบุตรแห่งจัณฑาลก็ดี ก็ควรเลี้ยงดูผู้นั้น”

เพลงยาวยายจันอุษา

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงไว้ในตำนานละครว่า จันอุษาผู้แต่งเพลงยาวเป็นละครผู้หญิงกรุงศรีอยุธยาที่ชื่อจัน เคยแสดงเป็นตัวนางอุษาในละครเรื่องอุณรุท แสดงดีจนกระทั่งมีชื่อเสียง คนทั้งหลายจึงขนานนามตัวละครให้เป็นสร้อยติดชื่อตัวมาว่า “จันอุษา” สมัยกรุงธนบุรีได้เป็นครูละคร

เพลงยาวนี้ยายจันอุษาเขียนตอบนายมหานุภาพ พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือเพลงยาวคารมเก่า เล่ม 1 โดยโรงพิมพ์ไทย เมื่อ พ.ศ. 2460 เพลงยาวโต้ตอบระหว่างนายมหานุภาพและยายจันอุษาเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนถึงเรื่องราวของบุคคลระดับล่างในราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่มีชีวิตรอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเอกสารทางการไม่ค่อยกล่าวถึงบุคคลเหล่านี้มากเท่าใดนัก

ก่อนจะกล่าวถึงเพลงยาวของยายจันอุษา ขอเท้าความเพลงยาวของนายมหานุภาพก่อน นายมหานุภาพที่เล่าถึง “ความหลัง” ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า ได้ทันเห็นยายจันอุษาเมื่อครั้งยังเป็นนางละครในราชสำนัก ฝึกหัดละครเรื่องอุณรุท โดยอ้างถึงบท “นางศรีสุดา” ซึ่งเป็นนางรองในเรื่องอุณรุท อีกทั้งระบุถึงสถานที่ฝึกซ้อมละครของราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยาว่าอยู่ที่ “ต้นลำไย” ข้างพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ปรากฏในเอกสารอื่นแต่อย่างใด

สำหรับหลักฐานเรื่องอุณรุทในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ นอกจากจะปรากฏในเพลงยาวชุดนี้แล้ว ยังปรากฏอยู่ในเรื่องบุณโณวาทคำฉันท์ของมหานาควัดท่าทราย ที่กล่าวถึงการแสดงละครอุณรุทในงานสมโภชพระพุทธบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมในละครเรื่องนี้ของราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ส่วนเพลงยาวของยายจันอุษาที่ตอบนายมหานุภาพมีจำนวน 14 บท ในที่นี้ขอยกเนื้อหาเมื่อครั้งจันอุษารับราชการฝ่ายใน จนกระทั่งเสียกรุงก็มิได้พบหน้านายมหานุภาพ ดังนี้

ซึ่งให้ยืมสารามาทั้งนี้   เพราะมีมโนถวิลหา

ใคร่พบพักตร์ประจักษ์เนตรสักเวลา   ด้วยจากมาตัวเจ้ายังเยาว์นัก

แต่ครั้งเมื่อพระสยมบรมพงศ์   อยู่บรรยงก์รัตนาสน์เฉลิมศักดิ์

จนเสียเมืองเคืองแค้นใจนัก   มิได้พานพบพักตร์กันบ้างเลย

ข้อความที่ว่า “แต่ครั้งเมื่อพระสยมบรมพงศ์ อยู่บรรยงก์รัตนาสน์เฉลิมศักดิ์” นั้นหมายถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เนื่องจากพระราชพงศาวดารระบุไว้ว่า ในช่วงต้นรัชกาลประทับอยู่ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ถึง พ.ศ. 2287 เกิดเพลิงไหม้ในพระราชวังบวรสถานมงคล จึงได้เสด็จฯ มาประทับยังพระราชวังหลวง ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ข้อความนี้จึงเป็นร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่า ยายจันอุษาเข้าไปเป็นนางละครในเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เพลงยาวเล่าเรื่องเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จากสมุดไทยเลขที่ 20

เพลงยาวนี้ ตามประวัติระบุว่าได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไม่ระบุชื่อผู้แต่ง สันนิษฐานว่าผู้แต่งเป็นข้าราชสำนักชาวกรุงเก่าสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และมีชีวิตอยู่มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เอกสารตัวเขียนเพลงยาวเล่าเรื่องเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จากสมุดไทยเลขที่ 20 (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)

เนื้อหาในเพลงยาวนั้น ส่วนต้นบอกเล่าบรรยากาศในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ส่วนท้ายกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยเนื้อความตอนหนึ่งผู้แต่งกล่าวถึงการตามกระบวนเสด็จไปยังพระพุทธบาทสระบุรี ของกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา ณ เขาสัจจพันธคีรี เมืองสระบุรี ดังนี้

ปางเสด็จโดยเสด็จพยุหบาตร   ไปอภิวาทบทรัตน์พระชินสีห์

ยังเขาสัจจพันธคีรี   จำเริญพระบารมีให้ยิ่งไป

อันสุริวงศ์พงศ์ประยูรตระกูลชาติ   เสนาพฤฒามาตย์น้อยใหญ่

มหาดเล็กเด็กชาชาวใน   หญิงชายไพร่ฟ้าประชากร

ที่กล่าวข้างต้นนี้เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนที่ คนกรุงศรีอยุธยา เขียนถึงกรุงศรีฯ ที่แม้จะผ่านมา 200 กว่าปี หากกลิ่นอายของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้ยังคงไม่จาง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2566