การสืบราชสันตติวงศ์ สมัยอยุธยา ในบันทึกชาวต่างชาติ

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพร ละคร พรหมลิขิต
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และเจ้าฟ้าพร ผู้ทรงอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล "วังหน้า" ในละครเรื่องพรหมลิขิต ออกอากาศทางช่อง 3 (ภาพจาก ช่อง 3)

ตั้งแต่การสมัย “กรุงศรีอยุธยา” ก็มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพื่อการค้า, แผยแพร่ศาสนา, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ บางคนพำนักอยู่เพียงไม่กี่วัน บางคนอยู่กันเป็นปีๆ ชาวต่างชาติเหล่านี้บางคนยังได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ของไทยที่ตนเองไปพบเห็น หรือจากการสอบถาม ซึ่งเรื่องหนึ่งที่มีการบันทึกถึงก็คือ “การสืบราชสันตติวงศ์” ในยุคนั้น

ซึ่งในบทความ “การสืบราชสันตติวงศ์ สมัยอยุธยา” (ศิลปวัฒนธรรม, ธันวาคม 2530) พลโท ดำเนิร เลขะกุล ผู้เขียนได้รวบรวมบันทึกของชาวต่างชาติหลายคน เพื่อตอบคำถามในเรื่องดังกล่าว ไว้ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]


 

นายโยส เซาเย็น (Joost Schouten) ชาวฮอลันดา เป็นผู้จัดการบริษัทการค้าของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยา 2 ครั้ง ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง รวมเป็นเวลา 8 ปี ได้เขียนจดหมายเหตุไว้เมื่อ พ.ศ. 2179 แต่ได้พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในลอนดอน เมื่อ พ.ศ. 2206 จึงเชื่อได้ว่า ข้อความที่เขาเขียนนั้นต้องสอบถามได้จากขุนนางผู้ใหญ่หลายคนส่วนหนึ่ง และจากผู้เห็นด้วยตนเองอีกส่วนหนึ่ง ข้อเขียนของเขาน่าจะใกล้ชิดกับความจริงในสมัยนั้น เฉพาะที่เกี่ยวกับการสืบราชสมบัติของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา เขาเขียนไว้ว่า

กฏหมายและธรรมเนียมของประเทศนี้ ได้กำหนดการสืบสันตติวงศ์ไว้อย่างแปลกประหลาด แต่ทว่าก็เป็นการกำหนดแน่นอนตายตัว คือ เมื่อพระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์ลง พระอนุชารองลงมาของพระองค์จะได้สืบราชสมบัติ แต่ถ้าพระองค์ไม่มีอนุชา พระราชโอรสจึงได้ราชสมบัติ เมื่อราชสมบัติตกแก่ราชโอรสเช่นนี้ พระอนุชาองค์ถัดๆ ไปก็จะได้สืบสันตติวงศ์จนสิ้นจำนวนพระอนุชานั้น พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้ราชสมบัติโดยเด็ดขาด ด้วยการสืบสันตติวงศ์เช่นนี้ สายของกษัตริย์องค์ปฐมจะสุดสิ้นไปนั้นเป็นการยาก

แต่กฎการสืบสันตติวงศ์นี้มีการปฏิบัติให้เป็นอย่างเฉียบขาดไม่บ่อยครั้งนัก เจ้านายซึ่งได้ราชสมบัติมักจะเป็นเจ้านายที่มีอำนาจมากที่สุด หรือมิฉะนั้นก็เป็นเจ้านายที่กษัตริย์โปรดปราน ตัวอย่างจะเห็นได้จากพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน (สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) พระองค์ได้ทรงประหารรัชทายาทที่ชอบธรรม และเจ้านายอื่นๆ รวมทั้งข้าราชบริพารเป็นอันมาก ทั้งนี้เพื่อจะไม่ให้มีเจ้านายคนใดขัดขวางการขึ้นครองประเทศของพระองค์ และเพื่อพระองค์จะได้ทรงมอบราชบัลลังก์ให้แก่พระอนุชาหรือพระโอรสต่อไปโดยปราศจากการคัดค้าน [1]

นายเยเรเมียส ฟานฟลีต (Jeremias Van Vliet) คนไทยส่วนมากเรียก วันวลิต เป็นชาวฮอลันดาเข้ามาเป็นผู้จัดการบริษัทการค้าของฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองต่อจากนายโยส เซาเต็น ระหว่าง พ.ศ. 2176-2185 นายเยเรเมียส ฟานฟลีต ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้ 3 เล่ม เฉพาะเล่มที่ได้แปลและพิมพ์ในประเทศไทยแล้วมี 2 เล่ม ทั้งสองเล่มนี้ได้กล่าวถึงการสืบราชสมบัติไว้ ดังนี้

ก. ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เขียนเมื่อ พ.ศ. 2184 มีข้อความบ่งว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต จะต้องตกอยู่กับพระราชอนุชาหลายแห่ง ดังนี้

1. ขุนหลวงพะงั่วแย่งราชสมบัติจากสมเด็จพระราเมศวร เมื่อ พ.ศ. 1913 เป็นเหตุให้วันวลิตบันทึกไว้ว่า

ตั้งแต่นั้นมาก็เกิดกฎหมายแผ่นดินสยามว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ถ้าหากพระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์ลง พระอนุชา (ไม่ใช่พระราชโอรส) จะได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อไป การปฏิบัติเช่นนี้บางครั้งก็เป็นไปในทางตรงกันข้าม แต่ก็เนื่องจากกฎหมายนี้ถูกละเมิด [2] และว่า พระทองจันราชโอรสของขุนหลวงพะงั่ว สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาเนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินไม่มีพระอนุชา

2. การที่พระรัษฎาธิราช พระชนมายุ 5 พรรษา ได้ขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2076 นั้น เพราะสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) พระราชบิดาไม่มีพระราชอนุชา หรือพระราชโอรสแก่กว่านั้น

3. เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงประชวร ในระหว่างนั้นพระองค์ก็ทรงปรึกษาขุนนางขอคำแนะนำว่า ใครสมควรจะได้ครองราชสมบัติสืบต่อเนื่องจากพระองค์ พระอนุชาหรือพระราชโอรสองค์ใหญ่ ขุนนางกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่า ถ้าหากจะเป็นไปตามกฎมนเทียรบาลแล้ว พระอนุชาควรจะได้ขึ้นครองราชย์ ส่วนขุนนางอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า พระราชโอรสสมควรจะขึ้นครองราชย์ ขุนนางกลุ่มที่สามเห็นว่า สมควรเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดิน และทูลว่า “เจ้าชายทั้งสองพระองค์ทรงมีความสามารถ และพวกเราจะเชื่อฟังและจะรับใช้เยี่ยงทาสต่อบุคคลใดก็ตามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเลือกให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระองค์” พระเจ้าแผ่นดินทรงแก้ปัญหาโดยทรงทำพินัยกรรมมอบให้พระราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติ อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ไม่ได้ทรงประกาศการตัดสินพระทัยครั้งนี้ให้ทราบทั่วกัน [3]

เป็นอันว่า สมเด็จพระเชษฐาธิราช พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้เสวยราชย์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งวันวลิตกล่าวไว้ใน จดหมายเหตุวันวลิต (ฉบับสมบูรณ์) ซึ่งเขียนใน พ.ศ. 2190 ว่า การทำเช่นนั้นเป็นการขัดต่อกฎมนเทียรบาล เพราะกฎมนเทียรบาลกำหนดว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต ราชสมบัติจะตกอยู่กับพระราชอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตต้องได้ครองราชบัลลังก์และให้ตัดสิทธิของพระโอรสออกไป การฝ่าฝืนกฎหมายนี้ได้เกิดขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ทรงธรรมเจ้าช้างเผือก พระเจ้าแผ่นดินอาณาจักรสยามได้ทรงแต่งตั้งราชโอรสของพระองค์ให้สืบสันตติวงศ์ครองอาณาจักรแทนพระอนุชา ซึ่งควรจะได้รับมงกุฎต่อไป การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปโดยความพอพระทัยเป็นส่วนพระองค์มากกว่าที่พระองค์ทรงเห็นแก่บ้านเมือง [4]

นายเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) ชาวเยอรมัน ได้เป็นหมอประจำคณะทูตฮอลันดา ซึ่งเดินทางจากเมืองปัตตาเวียจะไปประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2233 (ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา) นั้น ได้แวะเข้ามาพักอยู่ในพระนครศรีอยุธยา 23 วัน ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้ในหนังสือ ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ ตอนหนึ่งกล่าวถึงประเพณีการสืบราชสมบัติของกรุงศรีอยุธยาว่า

ตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยประเพณีการสืบสันตติวงศ์ของไทยนั้น พระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินย่อมเป็นผู้ที่จะได้ครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป และถ้าพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินหาไม่ราชสมบัติก็ตกแก่ราชบุตรองค์ใหญ่ แต่กฎนี้หาได้กระทำกันอย่างเคร่งครัดไม่ จึงเป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งผู้มีอำนาจมากที่สุดในพระราชวงศ์เป็นผู้ที่ได้รับมอบราชสมบัติในเวลาที่พระองค์เสด็จสวรรคต เพราะฉะนั้นจึงมักจะไม่ปรากฏนักว่า รัชทายาทที่ถูกต้องตามลำดับในกฎมนเทียรบาลได้เสวยราชสมบัติ หรือสามารถที่จะรักษาราชสมบัติไว้ได้โดยสงบ [5]

หมายเหตุ ข้อความนี้มีใจความคล้ายคลึงกับความเห็นของนายโยส เซาเต็น ที่กล่าวมาแล้ว เข้าใจว่าหมอแกมป์เฟอร์คงจะได้อ่านและใช้จดหมายเหตุของนายโยส เซาเต็น ในการเขียนความเห็นของเขา เพราะการแวะเข้ามาพักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเพียง 23 วัน เขาคงไม่มีโอกาสได้สอบถามเก็บรายละเอียดเกี่ยวแก่กรุงศรีอยุธยาด้วยตนเองได้มากนัก

นายลาลูแบร์ (De la Loubere) ทูตฝรั่งเศสเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อ 27 กันยายน 2230 และพักอยู่จนถึง 3 มกราคม 2231 (เกือบร้อยวัน) ได้กลับไปเขียนหนังสือ Du Royaume de Siam ขึ้นใน พ.ศ. 2234 (เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วให้ชื่อว่า จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์) ได้กล่าวถึงการสืบราชสมบัติของกรุงศรีอยุธยา ไว้ว่า

พระราชธิดาจะทรงเป็นมกุฎราชกุมารีสืบสันตติวงศ์ไม่ได้…ตามธรรมดานั้น สมเด็จพระโอรสาธิราชพระองค์ใหญ่ของพระอัครมเหสีมักเป็นผู้ทรงสืบราชสมบัติตามนิติประเพณี…ในระหว่างพระภาดาซึ่งมาตรว่า จะมิใช่พระโอรสของพระอัครมเหสีด้วยกันทั้งหมด และระหว่างพระปิตุลากับพระภาคินัย องค์ที่ทรงมีพระชนมายุมากกว่าเพื่อน มักเป็นที่นิยมชมชอบของพวกขุนนางและประชาชนพลเมือง หรือจะพูดให้ถูกต้องก็ต้องว่า การใช้กำลังนั้นแล้วมักเป็นเครื่องชี้ขาดอยู่เสมอ องค์พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์เองก็พอพระทัยใช้พระราโชบายทรงทำให้การสืบราชสมบัติไม่แน่นอน ด้วยว่าแทนที่จะทรงเลือกพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระอัครมเหสีประดิษฐานไว้ในตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ก็มักจะมีบ่อยๆ ที่หันเหเคลิ้มคล้อยไปทางพระโอรสที่เป็นบุตรสนมลางนาง ซึ่งเป็นนางคนโปรดของพระองค์เสีย [6]

หมายเหตุ แม้ลาลูแบร์จะได้อ่านจดหมายเหตุของนายโยส เซาเต็น และของวันวลิต มาแล้ว แต่เขามิได้คล้อยตามในเรื่องการสืบราชสมบัติของกรุงศรีอยุธยา เขากลับให้ความเห็นในเรื่องนี้ไปใกล้เคียงกับกฎมนเทียรบาล ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตรา ไว้ใน พ.ศ. 2011 ว่า สมเด็จพระโอรสาธิราชพระองค์ใหญ่ของพระอัครมเหสี เป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าได้สืบราชสมบัติตามนิติประเพณี แต่อาจจะมีปัญหาขัดแย้งในทางอาวุโส ความนิยมชมชอบ และอำนาจทางการเมืองที่มีอยู่ นอกจากนั้นยังต้องแล้วแต่ความเห็นชอบของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงเลือกตั้งผู้ใดก็ได้อีกด้วย

นายฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (Francois Henri Turpin) ไม่เคยเดินทางมากรุงศรีอยุธยา ได้แต่รวบรวมเรื่องราวจากบันทึกต่างๆ ของบาทหลวง (ซึ่งเขียนขึ้นระหว่างที่เข้ามาสอนศาสนาในกรุงศรีอยุธยา) แล้วได้พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2314 เมื่อแปลแล้วให้ชื่อในภาษาไทยว่า ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง แม้มิได้กล่าวถึงการสืบราชสมบัติของกรุงศรีอยุธยาไว้ ตรงๆ แต่ก็พอเก็บความได้ว่า

พระศรีสุธรรมราชา พระปิตุลาของสมเด็จพระนารายณ์ทรงอ้างสิทธิการสืบราชสมบัติ ตามพระราชประเพณีดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยาของพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ต้องทรงยินยอมให้พระองค์ขึ้นครองราชย์ได้ [7] นี้หมายความว่า ในปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น การสืบราชสมบัติยังถือว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต ราชสมบัติจะต้องตกอยู่กับพระราชอนุชาอย่างในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับความเห็น ในการสืบราชสมบัติสมัยอยุธยา ของชาวต่างประเทศ

ชาวต่างประเทศผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติของกรุงศรีอยุธยาเหล่านี้ล้วนเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาต่างวาระกันตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153-2171) ลงมาทั้งสิ้น แต่ทำไมความเห็นเหล่านี้ส่วนมากผิดแผกไปจากกฎมนเทียรบาล ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตราไว้ใน พ.ศ. 2011 มาก ว่าเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคตลง ราชสมบัติจะต้องตกอยู่กับพระราชอนุชาของพระมหากษัตริย์ที่ทรงสวรรคต ทั้งๆ ที่กฎมนเทียรบาลฉบับนั้นกำหนดไว้ว่า พระราชสมบัติจะต้องได้แก่พระโอรสพระองค์ใหญ่ซึ่งประสูติแต่พระอัครมเหสีและพระยศเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า

ความผิดพลาดครั้งนี้ น่าจะเนื่องมาจากชาวต่างประเทศเหล่านั้น ได้รับคำบอกเล่าจากบุคคลต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยาเช่นนั้นจริงๆ ทั้งนี้เพราะตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ขุนนางและผู้เฒ่าผู้แก่ชาวกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้เคยอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชต่อกับรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถมาแล้ว ยังคงเห็นเหตุการณ์ระหว่างนั้นมาด้วยตนเอง หรือถ้าเป็นขุนนางหนุ่มๆ ก็คงได้รับคำบอกเล่าเรื่องราวเก่าๆ

เมื่อคราวสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตแล้วมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้สมเด็จพระเอกาทศรถพระอนุชาธิราชเสวยราชสมบัติอย่างเอิกเกริกมโหฬารเป็นที่ฝังใจเรื่อยมา ก็เพราะประชาชนต่างเคารพ รักใคร่ และเทิดทูนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์องค์อื่นๆ ในอดีต สิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระองค์ไม่ว่าจะเป็นเครื่องราชูปโภคและพระราชกรณียกิจของพระองค์จึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และยึดถือเป็นประเพณีไปทั้งสิ้น

การที่พระราชอนุชาเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแทนเมื่อพระเชษฐาธิราชผู้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต จึงพลอยเป็นพระราชประเพณีซึ่งเป็นที่จดจำของคนทั่วไปด้วย เมื่อความเข้าใจของชาวกรุงศรีอยุธยาเช่นว่านี้ได้ถ่ายทอดมาถึงชาวต่างประเทศ เขาจึงเขียนไปตามที่เขาได้ฟังมาดังกล่าวแล้ว

เหตุการณ์ที่เป็นพยานให้เห็นว่า ในขณะนั้นบุคคลทั่วไปในกรุงศรีอยุธยาถือว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง พระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินจะเป็นผู้รับราชสมบัติ ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารตอนหนึ่ง คือ เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จเสวยราชย์ใหม่ๆ ใน พ.ศ. 2171 นั้น พระพันปีศรีศิลป์ผู้เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมซึ่งสวรรคตไปแล้ว “ทรงพระโกรธว่า มุขมนตรีมิได้ยกราชสมบัติให้ ก็ทรงพาพรรคพวกของพระองค์หลบหนีไปเมืองเพชรบุรี ส้องสุมพวกพลจะยกเข้ามา” ตามนี้แสดงว่าบุคคลต่างๆ ในสมัยนั้นเข้าใจทั่วกันว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ราชบัลลังก็จะต้องตกอยู่กับพระราชอนุชานั้นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะไม่ให้ชาวต่างประเทศซึ่งสอบถามเรื่องราวเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยามีความเห็นผิดแผกไปจากกฎมนเทียรบาลดั้งเดิมได้อย่างไร?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] ขจร สุขพานิช, (แปล) “จดหมายเหตุของโยส เซาเต็น” ประชุมพงศาวดารภาคที่ 75, เล่มที่ 47 (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2513) : 130-131

[2] วนาศรี สามนเสน, (แปล,) พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ.2182 (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร), 2523) : 33

[3] เพิ่งอ้าง, 120-121

[4] นันทา สุตกุล, (แปล), จดหมายเหตุวันวลิต (ฉบับสมบูรณ์), ประชุมพงศาวดารภาคที่ 79, เล่มที่ 49, (กรุงเทพฯ : คุรุ สภา, 2513) : 108-109

[5] เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์, ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ (นายอัมพร สายสุวรรณ ผู้แปล), (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2487) : 36-37

[6] สันต์ ท. โกมลบุตร, (แปล), จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ, สํานักพิมพ์ก้าวหน้า, 2510,) : 452

[7] สมศรี เอี่ยมธรรม, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง, (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2522) : 33


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มิถุนายน 2565