ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
มีคติโบราณบอกว่า “ไทยเล็ก เจ๊กดำ” คบไม่ได้ แสดงว่าคนไทยทั่วไปไม่ใช่คนตัวเล็ก แต่รูปร่างจะใหญ่ขนาดไหน? ไม่มีเกณฑ์กำหนดแน่นอน “หน้าตา” ของ “คนกรุงศรีอยุธยา” สมัยก่อนเป็นอย่างไร?
หน้าตา ของ “คนกรุงศรีอยุธยา”
อธิบายยาก แต่มีข้อหน้าสังเกตว่าควรคล้ายพระพักตร์พระพุทธเจ้ารูปแบบ “อู่ทอง” คือหน้าเหลี่ยม ริมฝีปากหนา เป็นต้น ประเด็นนี้มีข้อยืนยันอยู่ในบันทึกของลาลูแบร์บอกว่า
“วงหน้าของชาวสยามทั้งชายและหญิง กระเดียดไปข้างรูปขนมเปียกปูน (หรือข้าวหลามตัด) มากกว่าที่จะเป็นรูปไข่
ใบหน้ากว้าง ผายไปทางเหนือโหนกแก้ม แล้วทันใดก็ถึงหน้าผากอันแคบ รวมเข้าเป็นรูปมนเหมือนปลายคาง
อนึ่งนัยน์ตาซึ่งหางตาค่อนข้างจะยกสูงขึ้นไปข้างบนนั้นเล็ก และไม่สู้แจ่มใสไวแววนัก และตาขาวซึ่งควรจะขาวนั้นก็ออกเหลืองๆ
แก้มของพวกเขานั้นตอบ ค่าที่โหนกแก้มสูงเกินไปนั่นเอง ปากนั้นกว้าง ริมฝีปากซีด ๆ และฟันดำ ผิวนั้นหยาบ สีน้ำตาลปนแดง” (สั่งเน้นคำและจัดย่อหน้าใหม่โดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
ที่ลาลูแบร์บอกว่า ชาวบ้านกรุงศรีอยุธยาทั้งผู้หญิงและผู้ชายฟันดำทั้งนั้น ข้อนี้เป็นรสนิยมของผู้คนยุคนั้นอย่างแท้จริงว่าเป็นเสน่ห์อย่างยิ่ง ดังมีกาพย์โคลงนิราศธารโสกของเจ้าฟ้ากุ้ง ยกย่องหญิงงามต้องมีฟันดำอย่างสีนิล ดังนี้
๏พิศฟันรันเรียงเรียบ เป็นระเบียบเปรียบแสงนิล
พาทีพี่ได้ยิน ลิ้นบ่กระด้างช่างเจรจา
๏ชมทันต์รันเรียบริ้ว เรียมถวิล
ระเบียบเรียบแสงนิล ย่องย้อย
พาทีพี่ฟังยิน พจนาตถ์
ลิ้นเล่ห์เสนาะเพราะถ้วย กล่าวเกลี้ยงเสียงใสฯ
ที่ว่าฟันดำอย่างสีนิลนี้ไม่ใช่ย้อมสีดำ แต่เพราะกินหมากกินพลูเป็นประจำ นิยมเคี้ยวหมากพลูกันตั้งแต่รุ่นสาวรุ่นหนุ่มจนถึงแก่เฒ่า
ประเพณีเคี้ยวหมากเคี้ยวพลูจนฟันดำเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ทีเดียว มีเอกสารจีนโบราณบันทึกว่าราวสองพันปีมาแล้ว กลุ่มชนพวกหนึ่งในภูมิภาคอุษาคเนย์นิยมให้ฟันดำ
ชาวอยุธยายกย่องคนมีใบหูใหญ่ด้วยเชื่อว่าอายุยืน ลาลูแบร์รู้สึกประหลาดที่ชาวสยามในอยุธยามีใบหูใหญ่ จึงเขียนบันทึกว่า
“ชาวสยามนั้นมีจมูกสั้นและปลายมน และใบหูนั้นใหญ่กว่าใบหูของพวกเรา คนมีใบหูใหญ่มากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นที่ยกย่องกันมากขึ้นเท่านั้น ด้วยว่าเป็นรสนิยมของชาวต่างชาติบ้างบูรพทิศ สังเกตได้จากตุ๊กตากระเบื้องหรือวัสดุอย่างอื่นที่ได้มาจากภูมิภาคนั้นเถิด
แต่การนิยมมีใบหูใหญ่นี้ยังมีทรรศนะแตกต่างกันอยู่ในหมู่ชาวตะวันออก ลางพวกก็นิยมดึงติ่งหูให้ยืดยาวลงมาโดยมิได้เจาะติ่งหูด้วยหมุดให้กว้างๆ ขึ้น โดยเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นไปทีละน้อย
ในประเทศลาวนั้นนิยมเบิกหูกันให้กว้างจนแทบว่าจะเอากำปั้น (poing ) ยัดเข้าไปได้ และติ่งหูนั้นย้อยยืดลงมาจรดบ่า ชาวสยามมีใบหูใหญ่กว่าของพวกเราเล็กน้อย แต่ก็เป็นไปโดยธรรมชาติ หาได้มีการดัดแปลงไม่” (สั่งเน้นคำและจัดย่อหน้าใหม่โดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
ด้วยรูปลักษณะดังที่กล่าวไปนี้ “คนกรุงศรีอยุธยา” ถือว่า “สวย” หรือ “หล่อ” เพียงใดโปรดพิจารณา
อ่านเพิ่มเติม :
- เขมรอยุธยา ญาติใกล้ชิดที่ถูกบิดเบือน
- เป็นผู้หญิง (อยุธยา) แท้จริงแสนลำบาก ต้องทำไร่ไถนา ขายของ เลี้ยงลูก ส่วนชายนั้นขี้เกียจ!?
- คนกรุงศรีอยุธยาบันทึกเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างไร?
ข้อมูลจาก :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. “ไพร่ฟ้าประชากร และข้าวปลาอาหาร” ใน, อยุธยา ยศยิ่งฟ้า ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมกรุงศรีอยุธยา ว่าด้วยวิถีชีวิตไพร่ฟ้าข้าไทย, สำนักพิมพ์มติชน 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2566