“เยรูซาเลม” นครประวัติศาสตร์หลายพันปี เผชิญสงคราม-การยึดครองไปแล้วกี่ครั้ง?

การทำลาย เยรูซาเลม และ พระวิหาร โซโลมอน โดย กองทัพ โรมัน
กาลวินาศพระวิหารแห่งกรุงเยรูซาเลม โดยกองทัพโรมัน ค.ศ. 70, ผลงาน Francesco Hayez (ภาพจาก Gallerie dell'Accademia di Venezia ใน Wikimedia Commons)

เยรูซาเลม (Jerusalem) นครโบราณใจกลางความขัดแย้งรุนแรงระหว่าง “อิสราเอล” กับ “ปาเลสไตน์” เป็นพื้นที่แห่งการพิพาทครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดประวัติศาสตร์

นิยามที่บ่งบอกอัตลักษณ์อันรุ่งโรจน์ของเยรูซาเลมคือการเป็น “ศูนย์กลาง” ความศักดิ์สิทธิ์ 3 ศาสนาสำคัญของโลก ได้แก่ ยูดาห์ คริสต์ และอิสลาม หรือกลุ่มศาสนาอับราฮัม (Abrahamic religions) ที่เชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว กล่าวได้ว่า เยรูซาเลมคือเมืองหลวงทางศาสนาของผู้คนกว่าครึ่งโลก และเพราะความโดดเด่นดังกล่าวนี้ ความขัดแย้งจากผู้คนต่างศาสนิกจึงเกิดขึ้นและมีผลสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

เพราะบริเวณย่านเก่าแก่ที่สุดของเมืองเยรูซาเลม มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เมื่อราว 6,000 ปีก่อน เยรูซาเลมจึงเป็นหนึ่งในเมืองที่พัฒนามาจากชุมชนโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในโลกด้วย

จากการรวบรวมข้อมูลของ เอริก เอช. ไคลน์ (Eric H. Cline) นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ทำให้ทราบว่า ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานนั้น มีหลักฐาน (เท่าที่ถูกบันทึก) ว่า เยรูซาเลมถูกบุกโจมตีไปแล้วกว่า 52 ครั้ง มีการยึดครองหรือถูกยึดคืน 44 ครั้ง การปิดล้อมเมืองอีก 23 ครั้ง และถูกทำลายอย่างน้อย 2 ครั้ง

ตัวเลขข้างต้นดูสวนทางกับชื่อเมือง “เยรูซาเลม” ที่แปลว่า “City of Peace” หรือเมืองแห่งสันติภาพ (มาจาก ‘shalom’ ในภาษาฮีบรู แปลว่า สันติภาพ) อย่างยิ่ง

จากชุมชนยุคสำริดสมัยแรกเริ่ม เยรูซาเลมก่อตั้งอย่างเป็นทางการราว 3,000 ก่อน เมื่อกษัตริย์ดาวิด ยึดเมืองจากชาวเยบุส (Jebusites) ต่อมากษัตริย์โซโลมอนทรงสร้างพระวิหารบนภูเขาโมริยาห์ ซึ่งระบุในพระคัมภีร์ว่า อับราฮัมถวายอิสอัคแด่พระเจ้า ณ ที่ตรงนี้ การทำลายเมืองเยรูซาเลมเกิดขึ้นเมื่อราว 587 ปีก่อนคริสต์กาล โดยกองทัพของพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์แห่งจักรวรรดิบาบิโลเนีย และ ค.ศ. 70 โดยกองทัพโรมันของจักรพรรดิไททัส

การทำลายหนหลังนี้ทำให้พระวิหารถูกทำลายอย่างถาวร เหลือเพียงโครงสร้าง​​เรียกว่า “เนินพระวิหาร” (Temple Mount) และ “กำแพงตะวันตก” ที่ชาวยิวไปสวดอ้อนวอนและรำลึกถึงพระเจ้ากันที่นั่น

สำหรับชาวอาหรับมุสลิม พวกเขานับถือเนินพระวิหารในฐานะ “Haram el-Sharif” หรือพื้นที่คุ้มครองระดับสูงเช่นกัน เพราะเป็นที่ตั้ง “มัสยิดอัล-อักซอ” กับ “โดมแห่งศิลา” จุดที่พระศาสดามูฮัมหมัดเดินทางขึ้นสู่ชั้นฟ้าไปรับโองการจากพระเจ้าในคริสต์ศตวรรษที่ 7 และไม่ไกลจากเนินพระวิหารคือที่ตั้งของ “โบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์” สร้างขึ้นโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 จุดนี้เคยเป็นสถานที่เก็บพระศพและการฟื้นคืนพระชนม์ของของพระเยซู

ไม่มีที่ไหนในโลกจะเชื่อมโยงกับ “พระเจ้า” หรือมีอานุภาพด้านความศรัทธาในศาสนากลุ่มอับราฮัมเท่า “เยรูซาเลม” อีกแล้ว

ดินแดน ปาเลสไตน์ อิสราเอล
แผนที่บริเวณ อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1870

สงครามกับความขัดแย้งที่นำโดยกษัตริย์และนักรบหลากชาติพันธุ์มาเยือนเยรูซาเลมอย่างไม่หยุดหย่อนตลอดหลายพันปี ตั้งแต่การรุกรานโดยพวกอัสซีเรียนเมื่อ 700 ปีก่อนคริสต์ตกาล เรื่อยมาจนถึงสงครามระหว่างชาวยูเดียกับบาบิโลเนีย เปลี่ยนผู้ปกครองเป็นชาวเปอร์เซีย กรีก โรมัน จนถึงยุคจักรวรรดิอิสลาม ทั้งชาวอาหรับและชาวเติร์ก

เยรูซาเลมยังกลายเป็นศูนย์กลางข้อพิพาทครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ซึ่งกินเวลายาวนานถึง 200 ปี ในยุคสงครามครูเสด ทำให้นครศักดิ์สิทธิ์ถูกเปลี่ยนมือไป-มาระหว่างพวกครูเสดจากยุโรปกับมุสลิมแห่งตะวันออกกลาง ก่อนจะถูกออตโตมันเติร์กปกครองอีกหลายร้อยปี กระทั่งมาอยู่ภายในการดูแลของอังกฤษ และกลายเป็นรัฐอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่ทุกวันนี้ยังคุกรุ่นไปด้วยไฟแห่งความขัดแย้ง

“เยรูซาเลมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสวรรค์ที่แตกต่างกันมากเกินกว่าคนนอกจะจินตนาการได้”

อามอส ออซ (Amos Oz) นักเขียนชาวอิสราเอล เคยกล่าวไว้

อาจเป็นคำอธิบายสั้น ๆ ว่า เหตุใดเมืองที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าจนถูกขนานนามว่า “นครศักดิ์สิทธิ์” (Holy City) และมีพื้นที่ให้ผู้ศรัทธาได้เข้าใกล้สรวงสวรรค์มากที่สุดอย่างเยรูซาเลม รวมถึงดินแดนอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จึงมีลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่ต่างจาก “นรก” ทางการทูต มาร่วมพันปี

ในขณะที่นครศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ทั่วโลกมีความละเอียดอ่อนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เยรูซาเลมกลับกลายเป็นศูนย์กลางข้อพิพาทและการสู้รบในโลกสมัยใหม่ ที่ไปไกลกว่าเรื่องของศาสนา เพราะมีประเด็นทางการเมืองและอำนาจอธิปไตยของสองชนชาติมาเป็นเงื่อนไขที่ยากจะบรรลุร่วมกันได้

เราทำได้เพียงขอให้สันติภาพจงมีแด่ดินแดนแห่งศรัทธาแห่งนี้โดยเร็ว…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

https://www.worldhistory.org/timeline/jerusalem/

https://amp.theguardian.com/cities/2015/feb/16/whats-the-oldest-city-in-the-world

https://web.archive.org/web/20080603214950/http://www.momentmag.com/Exclusive/2008/2008-03/200803-Jerusalem.html


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ตุลาคม 2566