สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา ผู้สำเร็จราชการ คนที่ 2 ตามนโยบายปรองดองแห่งชาติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาปราบปรปักษ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาปราบปรปักษ์ พระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 กับเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (ภาพจาก www.wikipedia.org)

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 4 พระบรมวงศานุวงศ์ และมุขมนตรีชั้นผู้ใหญ่มาประชุมกัน ให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ และมีการแต่งตั้ง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็น “ผู้สำเร็จราชการ” ช่วยว่าราชการจนกว่าพระเจ้าแผ่นดินใหม่จะมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา และภายหลังก็มีการตั้ง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา ขึ้นเป็น ผู้สำเร็จราชการคนที่ 2

ทำไมจึงต้องตั้งผู้สำเร็จราชการเพิ่มเติม

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เคยเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ และมากด้วยบารมี ส่งผลให้ญาติ, บริวารของท่านซึ่งรับราชการอยู่ หลายคนก้าวขึ้นมีอำนาจ และบทบาทในราชการแผ่นดินมากขึ้นกว่าเดิม และมีแนวโน้มจะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานยิ่งกว่าขุนนางจากตระกูลอื่น ๆ เพราะวงนั้น “ตระกูลบุนนาค” กุมอำนาจสูงสุดในกรมสำคัญ ๆ ในการบริหารบ้านเมืองทั้งหมด ตั้งแต่ กรมพระกลาโหม, กรมพระคลัง, กรมพระคลังสินค้า, กรมท่า และกรมมหาดเล็ก

ขุนนางบางตระกูลรวมกลุ่มต่อต้าน ได้แก่ ตระกูลเพ็ญกุล, ตระกูลชูโต และตระกูลอมาตยกุล ตั้งตนเป็นคู่อริออกหน้าอย่างไม่ปิดบัง ประกอบด้วย เจ้าพระยามหินทรศักดิดำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เจ้าพระยาผู้นี้ได้ร่วมกับ เจ้าหมื่นเสมอใจราช (เอม ชูโต) และพระวิสูตรโยธามาตย์ (โหมด อมาตยกุล) ซึ่งต่อมาได้เป็น พระยากสาปนกิจโกศล ได้ร่วมกันสัญญาว่าจะคอยป้องกันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ถ้าหากเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะแย่งราชสมบัติ

หรือจะเป็นเรื่องบังเอิญที่ชื่อของท่านช่วงดันไปซ้ำกับชื่อ “เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์” ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีที่เคย “แย่งชิงราชสมบัติ” มาก่อน ในสมัยพระเจ้าปราสาททองครั้งกรุงศรีอยุธยา

เรื่องมีอยู่ว่า ใน พ.ศ. 2171 เมื่อพระเจ้าทรงธรรมใกล้จะสวรรคตนั้น ทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระเชษฐาธิราช-พระราชโอรสองค์ใหญ่พระชันษาได้ 14 ปี ให้อยู่ในการดูแลของ “เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์” โดยทรงแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ต่อมา พวกข้าหลวงเดิมทูลยุยงพระเชษฐาธิราช ใส่ร้ายเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ว่ากำลังคิดกบฏแย่งชิงราชบัลลังก์เสียเอง จึงตรัสสั่งให้เรียกตัวมาจะชำระลงโทษ สุดท้ายเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็เลยตั้งตัวเป็นกบฏจริง ๆ จับพระเชษฐาธิราชปลงพระชนม์ และชิงราชสมบัติมาไว้เสียเอง

เรื่องบังเอิญคล้ายคลึง ทั้งชื่อ และเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ท่านช่วงตกเป็นเป้าสายตาของสังคม ซึ่งเพ่งเล็งว่าจะแย่งชิงราชสมบัติเช่นกัน ขนาดพระเถระชั้นผู้ใหญ่อย่าง สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ยังเข้าไปหาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เพื่อขอบิณฑบาต ความว่า

“อาตมาภาพได้ยินว่าทุกวันนี้แผ่นดินมืดมัวนัก เพราะมีคนคิดร้ายจะเอาแผ่นดิน ไม่ทราบว่าจะเท็จจริงประการใด ถ้าแม้นเป็นความจริง อาตมาใคร่จะขอบิณฑบาตเขาเสียสักครั้งหนึ่ง” 

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ตอบว่า “พระคุณเจ้าอย่าได้วิตกเลย ตราบใดที่กระผมยังมีชีวิตอยู่จะไม่ให้แผ่นดินมืดมัวลงด้วยมีผู้ใดแย่งแผ่นดินเด็ดขาด”

“ผู้สำเร็จราชการคนที่ 2” จึงเกิดขึ้น เพื่อเข้ามาลดแรงกดดันทางสังคม ที่ทำให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ต้องเป็น “จำเลย” ของสังคม และนำไปสู่การปรองดองทางการเมือง ในที่ประชุมเสนาบดี เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เสนอชื่อ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์” เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี จึงมีศักดิ์เป็นพระราชปิตุลา (ลุง) ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นสกุล “มาลากุล ณ อยุธยา”

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ เป็นบุคคลที่ค่อนข้างเก็บตัว ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ทรงสันทัดเฉพาะงานภายในราชสำนักที่เรียบง่าย และไม่ผาดโผนนัก ได้แก่ ภารกิจภายในกรมวัง กรมพระคชบาล และกรมสังฆการีธรรมการ

พระจริยวัตรสุขุมแบบนักวิชาการอาวุโส ทรงเป็นผู้ชำนาญการพิเศษในศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินเลย แต่เป็นเรื่องราชประเพณี พงศาวดาร พุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เลขะวิทยา สรภาณ มนตราและพยากรณ์ แพทยศาสตร์ ธาตุมิศการ นวกรรม หัตถโกศล รัตนศาสตร์ ภูตศาสตร์ ดุริยานยุต นัจจะเวธี กิฬาโกศล และสูทศาสตร์ เป็นต้น

ด้วยคุณสมบัติข้างต้น “ผู้สำเร็จราชการ” คนที่ 2 จึงเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากพระองค์

ส่วนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ คิดชิงอำนาจหรือไม่นั้น เป็นเรื่องยากจะตอบ หากสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอรรคราชเทวีในรัชกาลที่ 5 สมาชิกในครอบครัวสกุลบุนนาคชั้นหลานของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ มีพระดำรัสสั่งสอนให้สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ผู้เป็นพระโอรส ขณะเสด็จไปทรงศึกษาอยู่ในเยอรมนีให้ทรงสงบเสงี่ยมเจียมตัวต่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระเชษฐาต่างพระมารดา ความว่า

เพราะแม่รู้อยู่เต็มใจว่าชาวฟากข้างโน้น [หมายถึงตระกูลบุนนาค] นั้นเป็นที่รังเกียจของเจ้านายเป็นอันมาก เพราะผู้ใหญ่บางคนทำยุ่งเหยิงไว้ ความชั่วจึงเลยมาแปดเปื้อนแก่พวกลูกหลานต่อมา แลพวกเหล่านั้นกองพันโตหนักด้วย

ประการหนึ่งตัวของลูกก็ไม่ใช่เป็นเจ้านายอย่างสามัญ ความรแวงสงไสยมักอาจต้องเกิดขึ้นเพราะเป็นเจ้าฟ้าปัญญาดี แลมีญาติข้างแม่มาก เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าการที่จะแก้ความรแวงว่าจะหมายเป็นใหญ่โตนั้น ก็มีอย่างเดียวที่จะต้องทำให้ทูลหม่อมโตท่านรักใคร่ไว้วางพระทัยจริง ให้ปรากฏแก่ตาคนทั้งหลายมาก ๆ เท่านั้น เพราะถ้าพระองค์ท่านเองโปรดปรานสนิทสนมอยู่แล้ว คนทั้งหลายก็คงไม่มีช่องที่จะเข้ายุยงได้อยู่เอง” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ไกรฤกษ์ นานา. “หลักฐานใหม่ ผู้สำเร็จราชการ ‘คนที่ 2’ สมัยรัชกาลที่ 5 มีจริง” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2566