“สุกี้” นายกองมอญของอยุธยา แต่ “แปรพักตร์” ไปเข้ากับพม่า

จิตรกรรมฝาผนัง เผา อยุธยา เสียกรุงครั้งที่ 2 พระเจ้าเอกทัศ ราชวงศ์ บ้านพลูหลวง กรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาแตก
สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ภาพจิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

สุกี้ คือ “เจ้าทองสุก” ผู้นำชุมชนชาว “มอญ” ค่ายโพธิ์สามต้นในสงคราม เสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 มีบทบาทในการพิชิตค่ายบางระจัน และดูแลพื้นที่กรุงเก่าหลังกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย

“สุกี้” ตรงกับคำว่า “ชุกคยี” ในภาษาพม่า แปลว่า “นายกองใหญ่” หรือ “พระนายกอง” ในภาษาไทย เป็นคำเดียวกับ “ซุ่งหยี” ในเอกสารจีน ซึ่งเพี้ยนจากชุกคยีอีกที และใช้เรียกบุคคลเดียวกัน

Advertisement

เจ้าทองสุกได้รับยศ “ชุกคยี” หรือสุกี้ จาก เนเมียวสีหบดี แม่ทัพของพระเจ้ามังระกษัตริย์พม่า ผู้บัญชาการรบในสงครามปิดล้อมกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2309-2310

ทั้งนี้ ในระบบการปกครองสมัยอยุธยา มีการแต่งตั้งขุนนางตำแหน่ง “นายกอง” ทำหน้าที่ดูแลและควบคุมคนในชุมชน โดยเฉพาะชุมชนลาวกับชุมชนมอญที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังนั้น ก่อนเจ้าทองสุกจะเป็นนายกองของกองทัพพม่า คนผู้นี้คือ “นายกองมอญ” ของฝ่ายอยุธยา “สุกี้” จึงไม่ใช่นายกองพม่าที่เพิ่งถูกแต่งตั้ง

บันทึกของ นิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) บาทหลวงชาวฝรั่งเศส กล่าวถึงสาเหตุการมีตำแหน่ง “นายกองมอญ” ไว้ว่า

“โดยที่คนเหล่านี้ (คนลาวและมอญ-ผู้เขียน) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เกรงว่าเมื่อรวมกำลังกันเข้าแล้วจะก่อความกระด้างกระเดื่องขึ้น จึงได้จัดแจกแยกย้ายให้อพยพไปอยู่ที่ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งนายกองให้คอยไปดูแลควบคุมความประพฤติและจัดระบบการปกครองให้เป็นไปตามกฎหมายของบ้านเมือง”

“…คนลางคนเหล่านี้มีพื้นเพดั้งเดิมเป็นคนลาวและคนมอญ ซึ่งคนสยามจับเป็นเชลยศึกและกวาดต้อนเข้ามาในราชอาณาจักร”

หลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนมอญในย่านเก่าของเมือง ชาวมอญไม่เพียงเป็นประชากรหลักของราชธานีกรุงศรีอยุธยา แต่รวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย

สำหรับค่ายโพธิ์สามต้น แม้จะเรียกว่าค่าย แต่บริเวณนี้คือชุมชนชาวมอญ อนึ่ง เข้าใจว่า “ค่าย” ใช้เรียกอาณาเขตชุมชนยามปกติที่มิได้อยู่ในห้วงสงครามด้วย เช่น ค่ายโปรตุเกส ค่ายญี่ปุ่น ก็คือ หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านญี่ปุ่น นั่นเอง

เมื่อพระเจ้าอลองพญายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในต้นสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ปรากฏชื่อ “ค่ายโพธิ์สามต้น” เป็นสถานที่ตั้งทัพของทัพหน้าพม่า จากจุดนี้ กองทัพพม่าสามารถตีทัพของขุนนางจีนฝ่ายอยุธยาแตกพ่ายถอยไป ก่อนจะยกมาตั้งอยู่ที่วัดหน้าพระเมรุและวัดหัสดาวาส จึงเชื่อได้ว่าชาวมอญแห่งโพธิ์สามต้นอาจเข้ากับฝ่ายพม่าตั้งแต่นั้น

นายกองมอญมีหน้าที่ควบคุมชาวมอญให้อยู่ในระเบียบบ้านเมือง แต่หากเป็นผู้นำการละเมิดเสียเอง ย่อมสร้างความเสียหายไม่น้อย เพราะขนาดและศักยภาพของชุมชนชาวมอญนั้นมีมาก นอกจากชาวจีนแล้ว มอญคือกลุ่มชนที่ตั้งถิ่นฐานกุมเส้นทางคมนาคมทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจการค้าทั้งในและนอกราชอาณาจักร

จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดชาวมอญกลายเป็นชาติพันธุ์ที่มีบทบาทต่อการดำรงอยู่หรือล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพม่าเองเล็งเห็นประโยชน์จากเรื่องนี้ แล้วอาศัยความใกล้ชิดทางภาษาและวัฒนธรรมดึงมอญมาเป็นพันธมิตรในสงครามปิดล้อมกรุงศรีอยุธยา

อย่างไรก็ดี นอกจาก มอญ ที่เป็น “กบฏ” ต่ออยุธยา หรือแปรพักตร์ไปเข้ากับพม่า ยังมีกลุ่มที่อยู่ข้างอยุธยา และร่วมทำศึกต่อต้านพม่าอย่างกล้าหาญ เช่น กลุ่มของ หลวงเถกิง พระบำเรอภักดิ์ พระยาเกียรติ พระยาราม และชาวมอญจากบ้านสามโคก บ้านป่าปลา และหัวรอ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. (2566). Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2540). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กันยายน 2566