พระราชนิพนธ์ ร.5 ระบุ ช่วงปลายกรุงศรี และเหตุที่กรุงแตก เพราะฆ่ากันเอง

จิตรกรรมฝาผนัง เผา อยุธยา กรุงศรีอยุธยา กรุงแตก
สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ภาพจิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

กรุงศรีอยุธยา สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 1893 หลังจากนั้นอีก 417 ปี กรุงศรีอยุธยา ก็ “แตก” ในปี 2310

ทำไม กรุงแตก” มีผลงานนักวิชาการหลายคนตอบคำถามนี้ไว้หลายมิติ และถ้าย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีคำตอบเช่นกัน เห็นได้จากพระราชนิพนธ์ในพระองค์ ที่ระบุว่า เป็นเพราะ “ฆ่ากันเอง” โดยเป็นข้อสรุปจากช่วง 90 ปีสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาว่า

“….ข้าราชการก็ร่วงโรยเบาบางเพราะฆ่ากันมาเสียหลายแผ่นดินแล้ว

แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ฆ่าขุนนางเก่าครั้งแผ่นดินเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ 

แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ฆ่าขุนนางพวกพระเชษฐา แต่เห็นจะน้อย

แผ่นดินพระนารายณ์ ฆ่าขุนนางที่เปนพวกเจ้าฟ้าไชยและพระศรีสุธรรมมา เห็นเกือบจะหมดเปลี่ยนใหม่ทั้งสำรับ

แผ่นดินพระเพทราชา ฆ่าขุนนางแผ่นดินพระนารายณ์หย่อยมาจนไปตีนครราชสิมา เห็นจะเรียกได้ว่าเกือบหมดได้

แผ่นดินขุนหลวงเสือ เห็นจะฆ่ามาก เพราะคนนิยมเจ้าพระขวัญ ฤาพวกเจ้าพระพิไชยสุรินทร์ จะเปนขุนนางไม่ได้

แผ่นดินขุนหลวงท้ายสระ เคราะห์ดีไม่ต้องฆ่าใคร แต่ขุนนางแผ่นดินขุนหลวงเสือเห็นจะมีน้อย เพราะอยู่ในราชสมบัติน้อยตั้งไม่ทันเต็มที่

แผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐ ชาววังหลวงเห็นจะตายเกือบหมด แต่สมุหนายกยังถอดเปนพระยาราชนายก ซึ่งนับว่าเปนคนนอกหน้าค่าชื่ออยู่คนเดียว เพราะฉนั้นขุนนางตามในจดหมายตำรานี้จึงได้ร่องแร่ง เพราะแรกเสวยราชย์หาคนตั้งไม่ทัน ฤาตั้งผู้ใดขึ้นก็ไม่รู้ตำราเก่าเลยทั้งสิ้น

คิดดูในระหว่าง 90 ปี ฆ่าเททิ้งกันเสียถึง 7 ครั้ง เกือบเปน 13 ปี ฆ่ากันครั้งหนึ่ง ฤาถ้ารอดตายก็กลายเปนไพร่หลวงแลตะพุนหญ้าช้าง ถ้าจะนับพวกที่ไม่ตาย ก็ต้องว่าผู้ดีกลายเป็นไพร่ๆ กลายเปนผู้ดีถึง 7 ครั้ง ใน 90 ปีนั้น” [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำ โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“พระกระแสพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สอบเรื่องราวตำราพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพ กับพระราชพงศาวดาร ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ร.ศ. 121” ใน, ประชุมจดหมายเหตุ สมัยอยุธยา ภาค 1, คณะกรรมการ จัดพิมพ์เอกสารปรวะวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, พ.ศ. 2510.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2566