พงศาวดารพม่าระบุชื่อแม่ทัพไทยบู๊แหลกก่อนกรุงแตกครั้ง 2 ไม่ “เหยาะแหยะ” ตามบันทึกฝั่งไทย

ชาวบ้าน อยุธยา ต่อสู้ กับ ทหาร พม่า
ราษฎรกรุงศรีอยุธยา ต่อสู้กับทหารพม่า ที่เข้ามาปล้นฆ่า (ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ)

สงครามระหว่างไทยกับพม่าคราว เสียกรุงครั้งที่ 2 ถูกบันทึกในพงศาวดารของทั้งสองฝ่าย นักวิชาการที่ศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลทั้งสองฝ่ายย่อมพบว่าข้อมูลที่แต่ละฝ่ายบันทึกบรรยายรายละเอียดและนัยยะแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องรายละเอียดการรบที่ผู้ชำระพงศาวดารอยุธยานำเสนอออกมาในแง่มุมความอ่อนแอ หรือความเหยาะแหยะหลายด้านในช่วงที่การปกครองถึงจุด “ตกต่ำ” อย่างไรก็ตาม พงศาวดารพม่าก็มีบรรยายวีรกรรมแม่ทัพไทยที่แสดงให้เห็นถึงความห้าวหาญ

ตั้งแต่ชั้นเริ่มต้นว่าด้วยองค์ประกอบที่ทำให้พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระราชนิพนธ์ “ไทยรบพม่า” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีข้อวินิจฉัยว่า พม่ามีความคิดเข้าตีกรุงศรีอยุธยาหลังเห็นว่าไทยอยู่ในสภาพอ่อนแอจนเป็นช่องทางให้พม่าเข้าตีได้

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ อธิบายว่า ข้อวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงในพงศาวดารฉบับราชวงศ์คองบอง ที่ยืนยันว่า พระเจ้ามังระโปรดให้เตรียมการเข้าตีกรุงศรีอยุธยาล่วงหน้าแรมปี

แม้ว่าพงศาวดารพม่าจะมีบันทึกเรื่องราวของวีรกรรมแม่ทัพนายกองไทย แต่ศ.ดร.สุเนตร ตระหนักดีว่า พงศาวดารพม่าก็มีแนวโน้มเป็นเช่นพงศาวดารไทย ถูกบันทึกและชำระขึ้นอย่างมีอคติ อันเป็นปกติที่พบเห็นในจารีตการเขียนพงศาวดาร ครั้นเป็นฝ่ายปราชัยก็ละเลยรายละเอียดต่อเหตุการณ์ไป หากพม่าเป็นฝ่ายมีชัยย่อมให้รายละเอียดถี่ถ้วน หรือบางกรณีอาจเจตนาบันทึกคลาดเคลื่อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของกองทัพพม่าและความอ่อนแอของกองทัพอยุธยา ซึ่งนักวิชาการประวัติศาสตร์ย่อมต้องนำไปใช้อย่างระมัดระวัง และเปรียบเทียบความเป็นไปได้ของข้อมูลกับหลักฐานอื่น

พงศาวดารฉบับราชวงศ์คองบองบันทึกรายละเอียดชั้นต้นว่าด้วยกองทัพที่พระเจ้ามังระโปรดให้เตรียมกองทัพไว้ทั้งสิ้น 27 กอง ประกอบด้วยทัพช้าง 100 ทัพม้า 1,000 พลเดินเท้า 20,000 ทัพทั้งหมดมีเป้าหมายปราบกบฏล้านนา เข้าตีล้านช้าง และขยายลงมาตีกรุงศรีอยุธยา หลังเนเมียวสีหบดี แม่ทัพที่คุมกำลังรวบรวมกำลังเพิ่มเติมจากหัวเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน ปราบกบฏในล้านนา และยึดครองล้านช้าง กองทัพพม่ามีกำลังเพิ่มขึ้นรวมแล้วกว่า 40,000 ต่างจากจำนวนพล 5,000 ที่ระบุในคำให้การชาวอังวะ

พระมหากษัตริย์ฟากพม่ามองว่าอยุธยายังยากต่อกรด้วย จากใจความที่ผู้ชำระพงศาวดารคองบอง เรียบเรียงไว้ว่า พระเจ้ามังระทรงมีพระราชดำริว่า อาศัยทัพของเนเมียวสีหบดี เพียงทัพเดียวย่อมยากตีได้สำเร็จ ต้องจัดกองทัพให้มหานรธา ช่วยกระทำการอีกด้าน ซึ่งศ.ดร. สุเนตร เชื่อว่า หลักฐานส่วนนี้มีน้ำหนักพอยืนยันว่าพม่าเตรียมการงานใหญ่ในการเข้าตีกรุงศรีอยุธยาล่วงหน้าอย่างรัดกุม

การรบในฤดูน้ำหลาก

ช่วงสำคัญในการสงครามระหว่างพม่ากับไทยที่มักเป็นตัวแปรสำคัญอีกประการคือช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งพงศาวดารพม่า บรรยายถึงยุทธศาสตร์ฝ่ายไทยว่า มักใช้ตัวพระนครที่มีเปรียบด้านที่ตั้งเป็นฐานรับศึกให้ได้ถึงฤดูน้ำหลาก เมื่อนั้นพม่าจะถอนทัพกลับไปเอง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่เคยสร้างความผิดหวังแก่ผู้ปกครองไทย แต่ครั้งนี้พม่าไม่ยอมหนีน้ำเหมือนทุกครั้ง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวบรวมยุทธศาสตร์การทัพพม่าในคราวนี้ว่า เมื่อถึงฤดูฝน ทัพพม่าไม่ถอยทัพกลับ สั่งเคลื่อนทัพเข้ามาทำการใกล้พระนครมากขึ้น ย้ายค่ายใหญ่จากปากน้ำประสบมาอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ให้กองหน้ามาตั้งค่ายที่วัดภูเขาทองและวัดท่าการ้อง ฝ่ายในกรุงส่งทัพเรือออกมาตี แต่พอนายเริกถูกยิงตกน้ำก็ถอยกลับเข้าเมืองหมด

ด้านพงศาวดารราชวงศ์คองบองระบุว่า แผนรับฤดูน้ำหลากครั้งนี้คือ ให้กองทัพพม่าเข้ายึดและรวบรวมเสบียงอาหารในบริเวณใกล้เคียง เอาวัวควายที่ยึดมาได้ใช้ปลูกข้าวในพื้นที่นาโดยรอบ ผ่อนช้างม้าไปไว้ในที่ดอนที่มีหญ้า กองทัพที่ล้อมกรุงก็สร้างป้อมค่ายในที่ที่ระดับน้ำท่วมไม่สูง มหานรธา แสดงเจตนารมย์ชัดเจนว่า จะต้องปิดล้อมอยุธยาเป็นสิบปี หากยังตีไม่ได้ก็จะไม่ยอมถอยเด็ดขาด ถ้ามีทัพมากู้จะแบ่งกำลังไปสกัดกั้น อีกทั้งได้เตรียมกองทัพเรือ ทหารช่าง และวัสดุที่ใช้ต่อเรือไว้พร้อมเพรียงแล้วย่อมทำให้ต้านกองทัพเรืออยุธยาได้อย่างไม่เป็นรอง

ศ.ดร.สุเนตร อธิบายว่า ฟากยุทธศาสตร์ในการตั้งรับของไทยครั้งนี้เป็น “ตั้งรับเชิงรุก” ใช้พระนครเป็นฐานรับศึก แต่ก็ไม่ปล่อยให้พม่าเข้ากระทำฝ่ายเดียว กรุงส่งกำลังออกไปตีค่ายพม่าหลายครั้ง พยายามขับไล่พม่าให้พ้นชานพระนคร รวมไปถึงการ “วางแนวปะทะ”

เมื่อถึงครั้นต้องรบกันในสภาพที่ชานพระนครจมอยู่ใต้สายน้ำก็เป็นไปอย่างดุเดือด พงศาวดารพม่า ระบุว่า น้ำหลากลงท่วมชานพระนครอย่างรวดเร็วภายในเวลา 5 วัน รอบพระนครแทบไม่ต่างจากมหาสมุทรใหญ่ ผู้ปกครองอยุธยาย่อมตระหนักว่าพม่าไม่ถอยหนีน้ำแล้วจึงจำเป็นต้องรีบตีทัพพม่าให้แตกกลับไป

พงศาวดารพม่ากล่าวถึง “พระยาตาน-พระยากูระติ”

พงศาวดารพม่ากล่าวว่า ในการนี้ พระยาตาน อำมาตย์ผู้ใหญ่ของอยุธยาท่านหนึ่งเป็นผู้ขันอาสาไปตีค่ายใหญ่ของมหานรธาทางตะวันตก ทัพพระยาตานตามรายละเอียดในพงศาวดารพม่ามีพล 85,000 เรือเล็ก 2,000 และเรือสำปั้น 500 พร้อมปืนใหญ่ประจำการ ส่วนทัพมหานรธาที่ยกมารับมีทหาร 35,000 เรือรบบรรทุกปืนใหญ่ 700 การรบเป็นการตะลุมบอน ฝ่ายอยุธยาใช้ปืนใหญ่บนเชิงเทินยิงสนับสนุนกองทัพเรือ

เมื่อเรือรบทั้งสองฝ่ายประชิดเข้าหากัน ทหารแต่ละฝ่ายต่างชิงกันกระโดดขึ้นบนเรือฝ่ายตรงข้าม กลายเป็นการรบประชิดตัว พระยาตาน แม่ทัพอยุธยาต่อสู้อย่างอาจหาญ วิ่งขึ้นลงระหว่างหัวเรือกับท้ายเรือตลอดเวลาเพื่อควบคุมการรบของทหาร ท้ายที่สุดแล้วตัวคนเดียวอยู่ในวงล้มเรือรบพม่าถึง 20 ลำก็ไม่ได้ย่อท้อหรือยอมเป็นเชลย

ในขณะประจัญบานกันนั้น นายทหารปืนของพม่าชื่อ งะสานควาน (Nga San Tun) พุ่งเรือเข้าหาเรือพระยาตานเพื่อเข้าจับกุม พระยาตานไม่รอให้เรือของงะสานควานเข้าถึงก็กระโดดขึ้นเรือของศัตรูพร้อมดาบคู่มือ แต่ยังไม่ทันเข้าถึงตัวงะสานตวานก็ถูกปืนยิงบาดเจ็บและถูกจับเป็นเชลย ฝ่ายทหารไทยไม่เห็นนายทัพก็ระส่ำระส่ายพากันถอยเข้าเมือง พม่าเห็นได้ทีก็ตามตีและยึดพาหนะอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมเชลยศึกเป็นจำนวนมาก

ศ.ดร.สุเนตร ชี้ให้เห็นว่า แม้ฝ่ายไทยจะเป็นฝ่ายปราชัย แต่จากหลักฐานจะเห็นได้ว่าก็ทำการรบอย่างเข้มแข็ง ไม่ “เหยาะแหยะ” ไม่ไร้ประสิทธิภาพตามที่ผู้ชำระพงศาวดารอยุธยาบรรยายไว้ว่า “พม่ายิงปืนมาถูกนายเริกซึ่งรำดาบอยู่หน้าเรือตกน้ำลงคนหนึ่ง ก็ถอยทัพกลับมาสิ้น”

ไม่เพียงพระยาตาน หลังจากยุทธนาวีข้างต้นอีก 10 วัน พระยากูระติก็อาสาออกตีค่ายใหญ่ของเนเมียวสีหบดี พงศาวดารพม่าระบุว่า กำลังของพระยากูระติ มีทหาร 5,000 เรือเล็ก 1,000 และเรือใหญ่หรือสำปั้นบรรทุกปืนใหญ่ 500 ด้านทัพของเนเมียวสีหบดี กำลังพลที่ออกมารับศึกมี 20,000 เรือรบ 200 แบ่งกำลังพลเป็น 3 กอง

กองทัพของพระยากูระติหลงกลศึกของพม่าถูกตีจนแตกพ่าย ทำให้พม่าได้ชัยทางเรืออีกครั้ง หลังจากนั้นผู้นำทางการทหารไทยเห็นว่ากองทัพที่ส่งไปขับไล่ไม่ได้ผลจึงหันมาป้องกันรักษาพระนครด้วยการวางอิฐปิดประตูเมืองและเพิ่มกำลังคนรักษาเชิงเทิน

การรบหลังน้ำลด

ด้านการรบหลังน้ำลดแล้ว กรมพระยาดำรงฯ เสนอว่า พม่าตีค่ายไทยที่ตั้งอยู่รอบนอกพระนครแตกกลับเข้ามาในกรุงหมด พม่าตั้งค่ายประชิดพระนครและปลูกหอรบเอาปืนยิงเข้ามาในเมืองทุกวัน เมื่อตกในสถานการณ์จวนตัว ฝ่ายไทยจึงตั้งใจรบอย่างแข็งขัน พม่าก็เปลี่ยนไปใช้ยุทธวิธีขุดรากกำแพงด้านตะวันออกเฉียงเหนือจนท้ายที่สุดตีกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. 2310

อย่างไรก็ตาม พงศาวดารราชวงศ์คองบอง อธิบายว่าไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น แม้ทัพพม่าตีค่ายรอบพระนครแตก แต่ผู้นำไทยมีกองเรือรบและเรือปืนอีกมาก และยังมีเพิ่มกำลังพลที่กองเชิงเทิน ลงขวากหนามป้องกันการทะลวงบุกของกองช้างและม้า

รายละเอียดเรื่องการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในแต่ละขั้นของพม่า และไทย แต่ละฝ่ายก็ระบุแตกต่างกัน ท้ายที่สุดแล้ว พงศาวดารราชวงศ์คองบอง ระบุกลวิธีที่พม่าใช้ในขั้นสุดท้ายคือ ที่ประชุมแม่ทัพนายกองเห็นชอบให้สุมไฟเผารากกำแพงเมืองจากตัวอุโมงค์ที่ขุดไว้ตามแนวกำแพงก่อน ครั้นกำแพงทรุดทัพพม่าที่ห้อมล้อมก็บุกตีพระนคร พม่าตีเข้าพระนครได้ในเวลาตี 4 กว่าของวันพฤหัสบดีขึ้น 11 ค่ำ เดือนเมษายน พ.ศ. 2310 ตรงกับปี 1129 ของศักราชพม่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุเนตร ชุตินธรานนท์. สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2561