“เกอิชา” อาชีพมากความสามารถในญี่ปุ่น เริ่มมาจาก “ผู้ชาย” กว่า 800 ปีก่อน

เกอิชา เล่น ดนตรี
painting of playing Sankyoku, color on silk.

“เกอิชา” อาชีพมากความสามารถในญี่ปุ่น เริ่มมาจาก “ผู้ชาย” กว่า 800 ปีก่อน

“เกอิชา” ถือเป็นอาชีพหนึ่งที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถ คนที่จะดำรงอาชีพนี้ได้ต้องมีความชำนาญทั้งศาสตร์และศิลป์ พูดคุยเรื่องกิจการบ้านเมืองได้อย่างคล่องปรื๋อ ขณะเดียวกัน การขับร้อง เล่นดนตรี ร่ายรำ ก็ห้ามขาด เพื่อให้ผู้รับบริการได้ความประทับใจกลับบ้านและมีความสุขสูงสุด

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักมีภาพจำว่า “เกอิชา” จะต้องเป็นสตรีรูปร่างหน้าตาดี แต่รู้หรือไม่ว่าจุดกำเนิดของอาชีพนี้เกิดมาจาก “ผู้ชาย”

เกอิชา กำเนิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 13 จากการริเริ่มของพระภิกษุชื่อว่า “อิปเปน” พระสงฆ์รูปนี้ได้สร้างโรงเรียนจิ (Ji) แห่งดินแดนพระพุทธศาสนาที่ใสสะอาด และเดินทางไปทั่วญี่ปุ่น พร้อมเทศนาแนวคิดเรื่อง “เน็นบุตสึ โอโดริ” ซึ่งคือการร่ายรำที่ท่องพระนามพระพุทธเจ้าไปด้วย 

หลังจากชาวประชาทั่วฟ้าได้เห็นการร่ายรำ และรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของพระสงฆ์อิปเปนมากขึ้น ผู้คนมากหน้าหลายตาต่างเริ่มชื่นชอบติดตามการขยับโยกย้ายอันสวยงาม และตัดสินใจเข้าร่วมเป็นศิษย์ ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็ต่างเรียกขานพวกเขาเหล่านี้ว่า เป็นผู้มีความสามารถเรื่องการบันเทิงและศิลปะโดยแท้

เมื่อเรื่องราวเล่าไปปากต่อปาก ผ่านตาใครต่อใครหลายร้อย หลายพันคู่ จึงทำให้ลูกศิษย์ลูกหาของอิปเปนกลายมาเป็นผู้ดูแลของขุนนางศักดินา และตั้งตนขึ้นมาเป็น “โดบุชู” ซึ่งถือเป็นเกอิชากลุ่มแรก ๆ

โดบุชู ประสบความสำเร็จอย่างมากหลังก่อตั้งในช่วงยุคมูโรมาจิ (ค.ศ. 1336-1573) อาจเพราะช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ เนื่องจากขณะนั้นญี่ปุ่นกำลังประสบสงครามกลางเมือง ชายชาติทหารต่างต้องการใครสักคนที่ช่วยรวบรวม คัดกรองข่าวสารบ้านเมืองมากมายให้กับเขา รวมไปถึงแนะนำยุทธศาสตร์การรบที่ได้ประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ช่วยปลอบประโลมความเหนื่อยล้าหลังจากกรำศึกมานาน ไม่ว่าจะเป็น ดื่มชา วาดภาพด้วยน้ำหมึก แต่งกลอน ขับกลอนไปจนถึงการจัดดอกไม้ 

นอกจากนี้ โดบุชูยังมีความสามารถด้านวาจาที่สามารถแปลงและส่งข่าวร้ายให้เหล่าเจ้านายของตนด้วยท่าทางขบขันและไม่ทำให้พวกเขาหัวเสีย 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ชายหนุ่มผู้รอบรู้ทุกศาสตร์และศิลป์ กลายมาเป็นกลุ่มสำคัญและโด่งดังไปทั่วดินแดน

กระทั่งเข้าปลายศตวรรษที่ 16 โดบุชูที่เคยเป็นคนสำคัญของชนชั้นนำก็ไม่ได้โดดเด่นเหมือนเคย เนื่องจากญี่ปุ่นมีเป้าหมายใหม่คือการรวมชาติ ทำให้บทบาททางทหาร การรวมรวมและกรองข่าวของโดบุชูลดลง ประจวบเหมาะกับโดบุชูขัดแย้งกับกฎลำดับขั้นของสังคมญี่ปุ่น เพราะพวกเขามีสิทธิพิเศษมากมาย แต่ไม่ได้อยู่ในฐานะชั้นต้น ๆ จึงทำให้ต่อมา จากบุคคลรอบรู้กลายมาเป็นเพียงตัวตลกของสังคม ผู้คนเริ่มแปรเปลี่ยนภาพจำและเรียกโดบุชูว่า ฮานาชิกุสะ (นักเล่าเรื่อง), โฮกัง (ตัวตลก) และไทโกโมชิ (ผู้ถือกลอง) แทน

โดบุชูที่เคยสง่างามต่างต้องเก็บกระเป๋าออกจากบ้านหลังใหญ่ กลับไปอยู่ยังที่ที่เคยจากมา ก่อนจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการนำวิชาชีพของตนเองมาทำมาหากิน แต่น่าเสียดายที่ช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ในครั้งนี้กลับอยู่ไม่นานเท่าที่ควร เนื่องจากโดบุชูถูกตราหน้าว่าสนใจแค่กลุ่มซามูไรหรือพ่อค้าฐานะร่ำรวยเท่านั้น 

ต่อมา กลุ่มโดบุชูส่วนใหญ่ต่างเก็บตัวและเลือกทำงานในย่านโคมแดงเท่านั้น เพราะสังคมประณามว่าพวกเขาเป็นเพียงแค่นักเล่าเรื่องตลกแสนสกปรก และร้องเพลงลามกอนาจาร ทั้งรัฐบาลยังต่อต้านการมีอยู่ของชายหนุ่มผู้เคยให้ความสุขแก่ผู้คน 

จนเมื่อ ค.ศ. 1750 ก็กำเนิดเกอิชาหญิงคนแรก นามว่า “คิคุยะ” เธอมีความสามารถด้านขับร้องและเล่นซามิเซ็น (เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายในญี่ปุ่น) ทำให้ชายมากหน้าหลายตาให้ความสนใจจนเธอกลายเป็นดาวเด่น เมื่อได้ยินชื่อเสียงเรียงนามและหนทางใหม่ในการเฉิดฉาย ผู้หญิงจากหลายพื้นที่จึงตัดสินใจหันมาเป็นเกอิชามากขึ้น ในที่สุดพื้นที่ความบันเทิงก็กลายมาเป็นของสตรี 

ส่วนเกอิชาชายที่เคยเรืองอำนาจ ก็เป็นเพียงเรื่องเล่าขานและตำนานที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กันยายน 2566