“ฮาร่า อาซา” ภรรยานายกฯ ญี่ปุ่น สมัยไทโช อดีตเกอิชากำราบสามีแสนดุอยู่มือ

(ซ้าย) ภาพประกอบเนื้อหา - ครอบครัวของนางฮาร่า อาซา [ภาพจาก "15 สตรีหมายเลขหนึ่งแห่งแดนอาทิตย์อุทัย, 2555] (ขวา) นาย ทาคาชิ อาซา [ไฟล์ public domain ในญี่ปุ่น]

รัชสมัยไทโช ประเทศญี่ปุ่นมีนายชื่อฮาร่า ทากาชิ เป็นประธานพรรคเซยิวไค และนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นชื่อว่าผู้คนต้องเกรงอกเกรงใจเขาพอสมควร มีเพียงคนเดียวที่นอกเหนือจากคนทั่วไปที่ต้องเกรงใจเขา นั่นคือนางฮาร่า อาซา ภรรยาคนที่ 2 ของท่านนายกฯ ซึ่งมีข้อมูลกล่าวขานกันว่า นายฮาร่า ทากาชิ คือผู้ที่ต้องออกจากบ้านเพียงผู้เดียวเมื่อทั้งคู่เกิดมีปากเสียงกันขึ้น

รัชสมัยไทโช (ค.ศ. 1912-1926) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอย่างนายฮาร่า ทากาชิ เป็นอีกหนึ่งผู้นำที่ได้รับความยำเกรงจากคนใหญ่โตในสมัยนั้น อิมาอิ ฮิซาโอะ ผู้เขียนหนังสือ 15 สตรีหมายเลขหนึ่งแห่งแดนอาทิตย์อุทัย เล่าว่า แม้แต่ยามางาตะ อาริโตโม้ (1838-1922) รัฐบุรุษอาวุโสก็ต้องเคารพ แต่อย่างน้อยมีสตรีที่หาญกล้าโต้เถียงกับเขาได้ เธอก็คือภรรยาที่ไม่ได้มีพื้นฐานการศึกษา และมีภูมิหลังเป็นเกอิชาที่หลายคนน่าจะรู้สึกว่าช่างเป็นคุณสมบัติที่ห่างไกลจากคุณสมบัติสตรีหมายเลขหนึ่งมากพอสมควร

Advertisement

แม้ว่าภรรยาของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่มีพื้นเพจากการเป็นเกอิชาไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจมากนัก นักการเมืองและรัฐบุรุษอาวุโสจำนวนไม่น้อยก็มีภรรยาเป็นเกอิชา อาทิ อิโต้ ฮิโรบุมิ (1844-1909) นายกฯคนแรกของญี่ปุ่น คะทสึระ ทาโร่ (1847-1913) ก็มีภรรยาเป็นเกอิชา หรือกรณีของยามาโมโต้ คอนโนะเฮียวเอ (1852-1933) ผู้เป็นทั้งทหารและนักการเมืองก็มีประวัติว่าไถ่เกอิชาชื่อโออิรัง จากชินางาว่า มาเป็นภรรยาด้วยซ้ำ เพียงแต่เกอิชาของท่านผู้นำเหล่านี้เป็นเกอิชาระดับสูงแถวอากาซากะ และชินบาชิ (ในโตเกียว) มีความรู้ทางศิลปวัฒนธรรม ประพันธ์กวีนิพนธ์แบบญี่ปุ่นได้

อิมาอิ ฮิซาโอะ บรรยายว่า นางโออิรังมีฐานะเป็นทายุ (นางโลมชั้นสูงสุด) กล่าวคือเป็นดาวเด่นของวงการก็ว่าได้

แต่สำหรับเรื่องราวในความสัมพันธ์ของฮาร่า ทากาชิ กับอาซา แตกต่างกับกรณีข้างต้น ฮิซาโอะ ผู้เขียนหนังสือเล่าว่า ไม่มีใครรู้ที่มาของนางฮาร่า อาซา ไม่รู้ว่าชื่อแซ่อะไร โดยข้อมูลที่เปิดเผยออกมา เธอบอกแค่ว่าเป็นชาวเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) เกิดแถวอาซากุซ่า บิดาเป็นคนอิวาเตะ มารดาเป็นคนจังหวัดอิชิงาว่า ข้อมูลอื่นๆ ก็ยังสับสนและไม่สามารถยืนยันได้ ข้อมูลบางแหล่งบอกว่า ภรรยาของทากาชิ เป็นเกอิชาชั้นต่ำแถวเมืองชินบาชิ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันข้อมูลได้

ฮาร่า เคอิชิโร่ ผู้เป็นบุตรบันทึกเรื่องราวในหนังสือชื่อ “ฮาร่าผู้เป็นสามัญชน” บอกเล่าข้อมูลยืนยันว่าแม่ของเขาไม่สามารถอ่านได้นั้นเป็นเรื่องจริง ในหนังสือเล่าว่า แม่ของเขาเกลียดโรงเรียนเป็นที่สุด และเรียนได้แค่ 3 วันเท่านั้น เธอจับดินสอไม่เป็น แต่ยังสามารถใช้ตะเกียบได้คล่องแคล่ว อย่างไรก็ตาม ในแง่การปฏิบัติหน้าที่ของเธอ ฮาร่า อาซา สามารถทำหน้าที่สตรีหมายเลขหนึ่งได้อย่างดี

นางอาซา มาอยู่กับนายฮาร่า ทากาชิ หลังจากเขาหย่ากับซาดาโกะ ภรรยาคนแรกที่ป่วยเป็นโรคประสาทจนต้องหย่าร้างกัน แต่ก่อนหน้าที่จะมาอยู่กับนายฮาร่า นางอาซา มีโอกาสเข้าไปอยู่ในบ้านของนายฮาร่า ในฐานะอนุภรรยา ใช้ชีวิตเปล่าเปลี่ยวในบ้านเช่าที่ชิบาทาโกโจ โดยนายฮาร่า ที่ยังไม่มีลูก ได้มอบลูกของหลานชายที่ชื่อเคอิชิโร่ ให้เธอเลี้ยงดู (เป็นบุตรบุญธรรม) โดยไม่ได้ให้ภรรยาหลวงทราบ

เป็นที่รู้กันว่า นายทากาชิ เป็นคนพูดน้อย โดยเฉพาะในเวลาทำงานจะยิ่งเงียบขรึมมาก (แต่ชอบจดอนุทิน) อิมาอิ ฮิซาโอะ เล่าว่า ทั้งคู่เป็นคู่สามีภรรยาที่รักใคร่กันอย่างมาก เธอรู้วิธีปรนนิบัติสามีที่หน้าตาเคร่งเครียดตลอดเวลา นายฮาร่า ทากาชิ ได้รับการปรนนิบัติจนภายหลังไม่ค่อยยอมออกจากบ้าน คาดว่ามีความสุขกับการปรนนิบัติไม่มากก็น้อย นายทากาชิ ก็มักเล่าเรื่องราวให้ภรรยาฟังเสมอ และเคยเปรยระหว่างอยู่ที่บ้านพักตากอากาศว่า เหนื่อย และอยากลาออกให้รู้แล้วรู้รอด

นางอาซา เตือนว่า หากลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ถูกเชิญให้เป็นเกงโร (รัฐบุรุษอาวุโส) อยู่ดี ไม่มีเวลาพักผ่อนเช่นกัน นายทากาชิ กล่าวอย่างจริงจังว่า “ตำแหน่งเกงโรรึ อย่าเลย น่าเบื่อที่สุด”

นายทากาชิ เคยหลุดปากเรื่องอนาคตหลังอำลาการเมืองแล้วว่าจะกลับไปทำงานในวงการหนังสือพิมพ์ที่เขาเคยทำงานมาก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายเขาถูกลอบสังหารก่อนจะกลับไปรังเก่า ข้อมูลที่พูดกับนางอาซา ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาปรัชญาความคิดของนายกฯ ฮาร่า

อิมาอิ ฮิซาโอะ ผู้เขียนหนังสือยังบรรยายว่า นายฮาร่า พูดกับภรรยาอย่างภูมิใจว่า เขาเป็นคนที่จักรพรรดิไทโช (ครองราชย์ระหว่าง 1912-1926) ทรงไว้วางพระทัยมากคนหนึ่ง เรื่องนี้นายฮาร่า ไม่เคยเล่าให้ใครฟัง เป็นข้อมูลจากนางอาซา เพียงแหล่งเดียวเท่านั้น แสดงถึงความไว้วางใจและความรักต่อนางอาซา

ขณะที่นางอาซา ก็ชื่นชอบให้นายฮาร่า อ่านหนังสือพิมพ์ หรือเรื่องอื่นให้ฟังเสมอ เนื่องจากเธออ่านหนังสือไม่ออก เรื่องราวเหล่านี้เป็นข้อมูลจากหนังสือที่เขียนโดยเคอิชิโร บุตรบุญธรรมของสามีภรรยาคู่นี้เขียนเล่า

นอกจากนางอาซา สตรีคนที่ 3 ในชีวิตของเขาก็ยังมีพื้นเพเป็นเกอิชาด้วย เธอคืออิเกะนางะ ชิโฮ ที่เป็นอาจารย์สอนคัดตัวหนังสือด้วยพู่กันจีนให้นายฮาร่า เดิมที่เธอเป็นเกอิชาแถวกิอองในเกียวโต บ้านเกิดของเธออยู่ที่โอซาก้า เดิมทีทำอาชีพทำถุงมือส่งต่างประเทศ

นายฮาร่า เป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นคนมีท่าทีชัดเจนแข็งกร้าว เด็ดขาด ทำหน้าที่อย่างขยันขันแข็ง แสดงความเป็นผู้นำ แต่ในอีกด้านก็มักกล่าวลบหลู่คน ด้วยเหตุนี้ทำให้เขามีศัตรูมากมาย แน่นอนว่านายฮาร่า รู้ตัวดี แม้จะกล่าวลบหลู่คน แต่ก็เป็นคนเคารพให้เกียรติคนที่ทำงานด้วย อาทิ คนขับรถ คนสวน ซึ่งคนที่ทำงานกับนายฮาร่า ก็มักทำงานกับเขาตลอดชีวิต เพราะนับถือที่เขาเป็นคนมีคุณธรรม

แม้จะเคยผ่านวิวาทะกับผู้คนมาแล้วมากมาย แต่นายฮาร่า กลับต้องจำนนกับบทสนทนากับนางอาซา จากหนังสือที่อิมาอิ ฮิซาโอะ เขียนเล่าว่า นางอาซา กล่าวถึงผิวพรรณตัวเองว่า “จากคอขึ้นบนหน้าของฉันออกดำนิดๆ” (เป็นนัยทำนองว่าส่วนอื่นขาวนวลอย่างน่าภูมิใจ)

นายกฯ ฮาร่า กล่าวเชิงล้อเล่นว่า “หน้าของเธอดำเพราะเครื่องสำอาง” ซึ่งแทงใจดำจากที่เธอเคยเป็นเกอิชา นางอาซา อารมณ์เสียทันที และกล่าวว่า “ท่านว่าไงนะ ถูกเครื่องสำอางกัดงั้นหรือ พูดจามีขอบเขตบ้างนะคะ ฉันน่ะเกลียดการแต่งหน้ามาแต่กำเนิดแล้ว ขนาดพ่อแม่ให้ทาแป้งยังไม่ยอมเลยจะบอกให้ แล้วท่านมาว่าอย่างนั้นได้อย่างไร ฟังแล้วน่าเกลียดนะคะ”

สมรภูมิวาทะจากฝ่ายค้านที่นายฮาร่า ไม่เคยหวั่น แต่เมื่อถูกจู่โจมโดยภรรยากลับต้องอ้ำอึ้งไป ได้แต่พูดว่า “เอาเถอะน่าๆ” และรีบหลบฉากเข้าไปในห้องอ่านหนังสือของตัวเอง ความพ่ายแพ้ครั้งนี้น่าจะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

นายฮาร่า ถูกลอบสังหารที่สถานีโตเกียว โชคร้ายที่เวลาเกิดเหตุไม่มีนายชิบุย่า ชิโยมิ ซึ่งเป็นผู้อารักขาของนักการเมืองฝ่ายค้านติดตาม เพราะขึ้นรถไปตรวจดูความเรียบร้อยที่อื่น นายชิโยมิ เป็นมือปืนที่นายฮาร่า มักเรียกใช้ในหลายเรื่อง ทำหน้าที่หลายอย่างจนกลายเป็นจุดอ่อนในการรักษาความปลอดภัย

นางอาซา เสนอให้คณะรัฐมนตรีนำศพกลับบ้านตัวเอง โดยนางอาซา เป็นเจ้าภาพจัดงานให้สามีได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ชื่นชม เนื่องจากเธอไม่มีพื้นฐานทางการศึกษามาก่อนแต่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไร้ที่ติ

โคอิสุมิ ซากุทาโร่ เขียนใน “ปกิณกะเกี่ยวกับไซอองจิ” (นายไซอองจิ คืออดีตประธานพรรค) ว่า นายไซอองจิ ปรารภว่า “นายฮาร่า เป็นคนชอบเงินก็จริง แต่ท่านไม่เคยแสวงหาเงินด้วยลูกไม้สกปรก ท่านเป็นคนมือสะอาดมาก ภรรยาของท่านก็ประเสริฐเช่นเดียวกัน หลังจากนายฮาร่า ถูกลอบสังหาร เธอได้มาปรึกษาข้าพเจ้าเกี่ยวกับงบหาเสียงที่ยังอยู่ในชื่อของสามี และมอบเงินที่เหลือทั้งหมดให้ทากาฮาชิ โคเรคิโย (โคเรคิโย เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยนายฮาร่า เป็นนายกฯ) หากเรื่องเช่นนี้เกิดกับคนบางคนที่เป็นม่าย เธออาจยักยอกหรือเก็บงำไว้เฉยๆ…”

ศพของนายฮาร่า ถูกส่งกลับไปที่โมริโอกะ จังหวัดอิวาเตะ บ้านเกิดของเพื่อทำพิธี สุสานของนายฮาร่า อยู่ที่วัดไดจิจิ วัดที่เก็บป้ายวิญญาณประจำตระกูล อิมาอิ ฮิซาโอะ เล่าว่า ตอนที่ขุดหลุมฝังศพนายฮาร่า นางอาซา ยืนคุมงานอยู่ และพูดกับนากามุระ คนสนิทใกล้ชิดราวญาติว่า

“คุณนากามุระ ช่วยจำความลึกของหลุมนี้ไว้ให้ดี เวลาฉันถูกฝังข้างๆ จะพูดคุยกันสักทีหากต้องปีนขึ้นปีนลงไปหานั้นช่างไม่สะดวกเลย ช่วยฝังในระดับความลึกเดียวกันด้วยนะคะ”

การพูดทีเล่นนี้กลายเป็นความจริงเมื่อนางอาซา ป่วยเป็นหวัดหลังนายฮาร่า จากไปไม่นาน อาการของเธอกำเริบขึ้นจนป่วยเป็นปอดบวม และเสียชีวิตหลังนายฮาร่า จากไปได้ปีเศษ หลุมศพของนางอาซา ก็ได้รับการจัดการตามประสงค์ของเธอ คล้ายกับทั้งสองกำลังนอนสนทนากันอยู่จนถึงบัดนี้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อิมาอิ ฮิซาโอะ. “15 สตรีหมายเลขหนึ่งแห่งแดนอาทิตย์อุทัย”. แปลและเรียบเรียงโดย รศ.อาทร ฟุ้งธรรมสาร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ธันวาคม 2561