ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กองทัพ ขับเคลื่อนด้วยกำลังคน คนจะมีกำลังรบได้ก็ต้องอาศัยอาหาร ถ้าเป็นช่วงที่บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ เช่น ในสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สยามต้องเผชิญสงครามทั้งกับต่างชาติ กับคนชาติเดียวกัน ตลอดจนการกบฏ การจลาจล ดังนั้น การเกณฑ์ไพร่พลและตระเตรียมข้าวที่เป็นอาหารหลักสำหรับใช้ใน กองทัพ จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีสงครามทั้งหมด 19 ครั้ง ใช้กำลังพลรวม 268,000 คน ระยะเวลาที่ใช้ในการทำสงคราม 343 สัปดาห์ (คำนวณจาก ประชุมพงศาวดารเล่ม 6 และ ประชุมพงศาวดารเล่ม 40) แบ่งเป็น
- สงครามรวมชาติ 4 ครั้ง ได้แก่ การปราบก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลก, ก๊กเจ้าพิมาย, ก๊กเจ้านคร และก๊กเจ้าพระฝาง
- สงครามกับพม่า 10 ครั้ง ได้แก่ ศึกโพธ์สามต้น, ศึกบางกุ้ง, ศึกสวรรคโลก, ศึกเชียงใหม่ 3 ครั้ง, ศึกพิชัย 2 ครั้ง, ศึกบางแก้ว และศึกอะแซหวุ่นกี้
- สงครามกับเขมร 3 ครั้ง
- สงครามกับลาว ได้แก่ สงครามจำปาศักดิ์ และสงครามเวียงจันทร์
สมัยรัชกาลที่ 1 มีสงครามทั้งหมด 14 ครั้ง ใช้กำลังคน 373,000 คน ระยะเวลาที่ใช้ในการทำสงคราม 386 สัปดาห์ (คำนวณจาก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 1) ได้แก่ สงครามญวน (ไกเซิง) 2 ครั้ง, สงครามพม่า 10 ครั้ง (ศึกเก้าทัพ, ศึกไทรโยค, ศึกทวาย 2 ครั้ง ฯลฯ), กบฏปัตตานี และกบฏยะหริ่ง
สมัยรัชกาลที่ 2 มีสงครามทั้งหมด 6 ครั้ง ใช้กำลังคน 86,000 คน ระยะเวลาที่ใช้ในการทำสงคราม 257 สัปดาห์ (คำนวณจาก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 1) ได้แก่ สงครามพม่า 2 ครั้ง, สงครามเขมร 2 ครั้ง, กบฏสาเกียดโง้ง และกบฏไทรบุรี
สมัยรัชกาลที่ 3 มีสงครามทั้งหมด 7 ครั้ง ใช้กำลังคน 118,700 คน ระยะเวลาที่ใช้ในการทำสงคราม 944 สัปดาห์ (คำนวณจาก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 1) ได้แก่ สงครามพม่า, กบฏเจ้าอนุวงศ์, กบฏไทรบุรี 2 ครั้ง, สงครามญวน, จลาจลสาครบุรี และจลาจลฉะเชิงเทรา
จะเห็นว่า ไพร่จะต้องลำบากมาก เพราะเวลาส่วนใหญ่ของไพร่หลวง ไพร่สม ต้องไปเข้า กองทัพ หรืออยู่ในสภาพเตรียมพร้อมถึงร้อยละ 44.55 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของเวลาทั้งหมด บางรัชกาล เช่น สมัยธนบุรี สงครามแต่ละครั้งห่างกันโดยเฉลี่ยเพียง 9 เดือนเท่านั้น ส่วนในรัชกาลที่ 1-3 ระยะเวลาห่างกันของสงครามแต่ละครั้งประมาณ 2-3 ปี
ประเมินว่าในสงครามแต่ละครั้ง กองทัพ ใช้กำลังทหาร 14,105-26,642 คน หรือเฉลี่ย 18,008 คน จำนวนสงคราม กบฏ จลาจล รัชกาลละ 6-19 ครั้ง เฉลี่ยรัชกาลละ 12 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เฉลี่ยเวลา 18-135 สัปดาห์ หรือเฉลี่ยครั้งละ 56 สัปดาห์ หรือ ประมาณ 1 ปี 1 เดือน
ส่วนข้าวที่เป็นอาหารหลักของ กองทัพ นั้น โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละครั้งจะใช้ข้าวเปลือกเพื่อเลี้ยงทหาร ดังนี้ ในสมัยธนบุรีใช้ต่ำสุดครั้งละ 1,371 เกวียน ถัดลงมาเป็นสมัยรัชกาลที่ 2 ใช้ข้าวเปลือกครั้งละ 3,328 เกวียน, สมัยรัชกาลที่ 1 ครั้งละ 4,028 เกวียน, สูงสุดสมัยรัชกาลที่ 3 ใช้ข้าวเปลือกถึงครั้งละ 12,362 เกวียน
สรุปว่า ในช่วง 4 รัชกาล กองทัพใช้ข้าวเปลือกเฉลี่ย 5,272 เกวียนต่อครั้งในการทำสงคราม, ปราบกบฏ หรือจลาจล 1 ครั้ง
ผลทางตรงของสงคราม กบฏ จลาจล ทำให้ขาดแรงงานผลิตส่วนหนึ่งไป และประชากรที่เหลือต้องผลิตข้าวสำรองเอาไว้เลี้ยงทหารเหล่านี้
ผลทางอ้อมคือ หากมีการรบ จลาจล และกบฏในประเทศ พื้นที่การผลิตข้าวส่วนหนึ่งจะถูกกระทบกระเทือนมาก โดยเฉพาะสงครามใหญ่ๆ กับต่างชาติสมัยธนบุรี ทำให้พื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคเหนือตอนล่างและตอนบน ผลิตข้าวไม่ได้ ผู้คนต้องหลบหนีข้าศึกเข้าป่าไปเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถทำนาหรือทำไร่ได้เป็นปกติ
ยังผลให้ข้าวขาดแคลนอย่างมากในสมัยธนบุรี จึงพระราชทานข้าวสารให้ข้าราชการคนละ 1 ถัง/20 วัน ซึ่งหากคิดเป็นปี จะบริโภคข้าวสารคนละ 18 ถังข้าวสาร หรือ 27.130 ถังข้าวเปลือก เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 1 สงครามกับพม่าก็ยังมีอยู่ จึงต้องมีรับสั่งห้ามส่งข้าวออก ห้ามกักตุนข้าว และควบคุมราคาข้าว
อ่านเพิ่มเติม :
- “ศึกเจ้าอนุวงศ์” สงครามปลดแอกชาติลาว
- เผยกลศึก “พระเจ้าตาก” ปราบซ่อง “โจรสลัด”
- รับสั่งรัชกาลที่ 7 ในการปรับ-เปลี่ยน-ลดกองทัพ เพื่อลดงบประมาณแผ่นดิน
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก สุวิทย์ ธีรศาสวัต. ประวัติศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2548.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2566