“อานามสยามพ่าย” ยุทธนาวี “แหร็กเกิม-ส่วยมุ๊ท” เมื่อทัพสยามพ่ายยับที่เวียดนาม

อานามสยามพ่าย อนุสรณ์สถาน ระลึกถึง ยุทธนาวี แหร็กเกิม-ส่วยมุ๊ท ที่ เวียดนาม
อนสรณ์สถานที่ระลึกถึง ยุทธนาวี "แหร็กเกิม-ส่วยมุ๊ท" จังหวัดหมีทอ เวียดนาม

ยุทธนาวีที่คลอง “แหร็กเกิม-ส่วยมุ๊ท” ประเทศเวียดนาม ดูจะเป็นความทรงจำอันเลือนรางในประวัติศาสตร์ไทย เหตุการณ์ครั้งนั้นคือความปราชัยอันย่อยยับของกองทัพสยามที่เข้าไปปฏิบัติการบริเวณภาคใต้ของ “เวียดนาม” จึงมีการขนานนามสงครามนี้ว่า “อานามสยามพ่าย” และ เวียดนามถือว่านี่คือศึกใหญ่ระดับ “มหาสงคราม” เป็น 1 ใน 10 มหาศึกของประวัติศาสตร์เวียดนามด้วย

“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ “สมฤทธิ์ ลือชัย” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมภูมิภาคอุษาคเนย์ ชวนตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์กับทุกประเด็นที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ตั้งข้อสงสัย โดยเลือกหยิบยกเรื่องราว “อานามสยามพ่าย” หรือความพ่ายแพ้ของกองทัพสยามในสมรภูมิลำน้ำโขง บริเวณคลองแหร็กเกิม-ส่วยมุ๊ท มานำเสนอ โดยเทียบหลักฐานทั้งฝ่ายไทยและเวียดนาม วิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมา ตีแผ่ความจริง พร้อมการถ่ายทอดเรื่องราวอย่างน่าสนใจ ชวนติดตาม และย่อยง่าย

Advertisement

อานามสยามพ่ายเกิดใน พ.ศ. 2328 เรื่องมีอยู่ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงส่งกองทัพมาช่วย “องเชียงสือ” เชื้อสายขุนนางที่ปกครองเวียดนามใต้ รบกับพวกไตเซิน ด้วยหมายจะชิงเวียดนามจากพวกไตเซินให้แก่องเชียงสือ

ไตเซินคือชาวไร่ชาวนาผู้ถูกรีดนาทาเร้น พวกเขาลุกฮือไล่ยึดดินแดนต่าง ๆ จากชนชั้นสูงจนสามารถยึดเวียดนามได้ทั้งประเทศ ฝ่ายชาตินิยมเวียดนามจะยกย่องวีรกรรมของกลุ่มนี้มาก แต่ฝ่ายราชสำนักและพันธมิตรจะมองว่าเป็น “พวกกบฏ” ดังเอกสารฝ่ายไทยเองเรียกพวกนี้ว่า “กบฏไตเซิน”

อาจารย์สมฤทธิ์ เล่าว่า ตระกูลเหงวียนเคยเข้ามาพึ่งสยามก่อนหน้านั้นแล้ว คือในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี นั่นคือ “องเชียงชุน” อาขององเชียงสือ แต่ถูกพระเจ้าตากประหารในภายหลัง พอรัชกาลที่ 1 สถาปนาจักรีวงศ์ สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ องเชียงสือเข้ามาอีก ซึ่งท่านมีความสัมพันธ์กับรัชกาลที่ 1 มาก่อนแล้ว

“รัชกาลที่ 1 นั้นคงหวังว่าเมื่อเราช่วยองเชียงสือยึดอำนาจ ยึดแผ่นดินเวียดนามได้ อย่างน้อยสยามคงจะได้เขมร ได้ดินแดน โบนัสจากการช่วยคราวนั้น เมื่อเสร็จสิ้นสงคราม 9 ทัพในปี 2328 จึงบัญชาส่งทัพสยามครับ ไปช่วยองเชียงสือ เพื่อไปตีพวกไตเซิน”

แต่การช่วยเหลือครั้งนั้น ผลลัพธ์คือสยามประสบกับความพ่ายแพ้ในสงครามทางเรือ ต้องทิ้งเรือหนีขึ้นบกไปทางเขมร ในเอกสารเวียดนามชี้ให้เห็นว่า กองทัพสยามถูกลวง ถูกล่อให้ไปอยู่ในชัยภูมิที่โดนตีขนาบจากศัตรู

อาจารย์สมฤทธิ์ให้ความเห็นว่า “นี่แสดงว่า การที่ฝ่ายไตเซินถูกไล่ตี ไม่ใช่เขาแพ้ครับ อันนี้เป็นกลยุทธ์ เรานี่ไม่รู้ชัยภูมิ อันนี้แปลกมากนะ ทำไมถลำเข้าไปขนาดนั้น แล้วเข้าไปถึงจุดตายที่โดนกองทัพไตเซินเข้าจัดการล้อมจนกองทัพพังพินาศ…”

นักรบ ญวน สมัย ราชวงศ์เหงวียน
นักรบญวนสมัยราชวงศ์เหงวียน (ภาพโดย Vinhtantran จาก Cornell Libary Archives / Wikimedia Commons)

เกิดอะไรขึ้นที่คลอง “แหร็กเกิม-ส่วยมุ๊ท” อะไรคือปฐมเหตุแห่งการรุกราน “เวียดนาม” ในครั้งนั้น และกองทัพสยามปราชัยอย่างย่อยยับได้อย่างไร?

ติดตาม ได้ใน PODCAST นี้ :

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน 2566