หลวงมัศยจิตรการ ช่างเขียน สมัย ร. 6 ผู้วาดภาพปลาเหมือนจริงยังกะก๊อบปี้

นกขุนทอง หรือ ปลานกขุนทอง ผลงาน หลวงมัศยจิตรการ
นกขุนทอง หรือ ปลานกขุนทอง ผลงานหลวงมัศยจิตรการ (ภาพจาก "ภาพปลา")

หลวงมัศยจิตรการ ชื่อเดิม ประสพ ตีระนันท์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2439 เป็นบุตรของหลวงวิจิตรเจียรไน และนางเปี๊ยก ภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดจันทบุรี หลวงมัศยจิตรการศึกษาด้านจิตรกรรมจากอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา รับราชการครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 ตำแหน่งช่างเขียน (พ.ศ. 2466) และเป็นผู้ช่วย ดร. ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ (Hugh McCormick Smith)

หลวงมัศยจิตรการ ผู้ชาย
หลวงมัศยจิตรการ ช่างเขียนของเของผลงาน “ภาพปลา”

ดร. ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ (พ.ศ. 2408-2484) เป็นนักวิชาการประมงชาวอเมริกัน ระหว่างปี 2450-2453 เดินทางพร้อมคณะมาสำรวจความหลากหลายของธรรมชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อต้องการศึกษาปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่มีความสามารถพิเศษ นั่นคือ ปลาเสือพ่นน้ำ เขาอยู่รับราชการในไทย และเป็นอธิบดีกรมประมงคนแรก

Advertisement

ในปี 2466 ที่ หลวงมัศยจิตรการรับราชการได้ติดตามออกสำรวจปลาร่วมกับ ดร. สมิธ อยู่เสมอๆ เวลานั้นกล้องถ่ายภาพยังไม่แพร่หลาย หลวงมัศยจิตรการจึงเป็นผู้วาดภาพเก็บสีสันของปลาในขณะที่ยังสดหรือมีชีวิตอยู่ด้วยสีน้ำ โดยเน้นความถูกต้องต่างๆ เช่น สัดส่วนลำตัว, จำนวนเกล็ด, จำนวนก้านครีบ, ตลอดจนสีสันที่ใกล้เคียงความจริง ภาพที่วาดจึงใช้ในการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงมัศยจิตรการ”

นับเป็นข้อมูลเกี่ยวกับปลาและสัตว์น้ำยุคแรกๆ ของไทย 

เมื่อ หลวงมัศยจิตรการ ถึงแก่กรรม ครอบครัวได้ติดต่อกรมประมงขออนุญาตนำภาพปลาที่ หลวงมัศยจิตรการ เคยวาดจำนวน 107 ชนิด มาพิมพ์เป็นหนังสือ “ภาพปลา” เพื่อเป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงมัศยจิตรการ

ในที่นี้ขอนำเสนอปลาบางชนิดที่หลวงมัศยจิตรการวาดไว้ โดยเลือกปลาชื่อแปลกๆ ที่ใช้ชื่อสัตว์อื่นๆ มาตั้งเป็นชื่อปลา ดังนี้

ปลา ภาพเขียน
ภาพวาดปลาบางชนิด ผลงานหลวงมัศยจิตรการ (ภาพจาก “ภาพปลา”)

แมว หรือ ปลาแมว (หูยาว) ชื่อวิทยาศาสตร์ Setipinna melanochir (Bleeker) อาศัยอยู่ทั้งในน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด แต่ส่วนใหญ่จับได้ในแหล่งน้ำจืด เช่น แม่น้ำบางปะกง, ทะเลสาบพัทลุง ฯลฯ เป็นปลาที่ตัวค่อนข้างโต ขนาดยาว 19-32.5 เซนติเมตร มีขายในตลาดให้ซื้อไปทำอาหาร

เหตุที่เรียกปลาชนิดนี้ว่า “แมว” เพราะเมื่อดูเผินๆ จะเห็นเค้าคล้ายแมว ปลาแมวเมื่อโตเต็มที่ ตัวจะเป็นสีเหลืองอ่อน ที่แก้มและครีบอกสีดำ

ตุ๊กแก หรือ ปลาตุ๊กแก ชื่อวิทยาศาสตร์ Epinephelus tauvina (Forskal) เป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกับปลากะรัง ลำตัวมีสีน้ำตาล มีจุดแต้มไม่ชัดนัก ครีบสีแก่ และมีริมขาว จึงเรียกชื่อ “ปลาตุ๊กแก” เป็นปลาขนาดใหญ่ บางตัวยาวถึง 2 เมตร หนักประมาณ 200 กิโลกรัม ใช้เป็นอาหารได้ดี พบที่ปากน้ำจันทบุรี ตามรายงานว่าปลาชนิดนี้อาจจะเข้ามาในแม่น้ำก็ได้

แพะ หรือ ปลาแพะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Upeneus tragula (Richardson) เป็นปลาทะเล ขนาดเล็ก-กลาง หากินตามชายฝั่ง มีหลายชนิดด้วยกัน บางชนิดเป็นอาหารที่ดี ชนิดที่กล่าวนี้มีสีแดง หรือสีน้ำตาลแก่ตอนบน ส่วนตอนล่างเป็นสีขาว มีแถบน้ำตาลแก่ตามยาวของลำตัว จากปลายปากไปจดปลายหาง จัดเป็นปลาสวยชนิดหนึ่ง แถมมีหนวดใต้คาง ดูคล้ายแพะสมชื่อ พบที่นราธิวาส, ปัตตานี, เกาะสีชัง และปากน้ำจันทบุรี

หมู หรือ ปลาหมู มีหลายสกุลด้วยกัน ชื่อวิทยาศาสตร์ต่างๆ กัน เช่นว่า Botia beauforti (H.M. Smith), Nemacheilus nicholsi (H.M. Smith) ปลาหมูเป็นปลาน้ำจืด บางชนิดมีเงี่ยง 2 แฉก อยู่ใต้ตา เป็นอาวุธป้องกันตัวเองอย่างหนึ่ง งูที่กินปลาหมูเข้าไปถูกเงี่ยงปลาแทงคอเป็นอันตราย สีจะเป็นสิ่งจำแนกว่าเป็นปลาหมูชนิดใด

นกขุนทอง หรือ ปลานกขุนทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Cheilinus fascitus (Bloch) เป็นปลาทะเลในเขตร้อนและเขตอบอุ่น มีชุกชุมตามหินกองและปะการัง บางชนิดมีฟันแข็งแรง พอที่จะงับเปลือกหอยให้แตกได้ บางชนิดก็มีเขี้ยวอีกด้วย ปลานกขุนทองมีสีสันสวย พื้นเป็นสีเหลือง และมีแถบสีดำ 6-7 เส้นลายพาดขวางลำตัว

แม้ปลานกขุนทองจะเป็นอาหารได้ แต่ไม่ค่อยปลอดภัย ด้วยบางครั้งปลาไปกินของที่มีพิษเข้าไป หรือปลานกขุนทองบางชนิดจะมีพิษในบางฤดู เช่น ฤดูวางไข่ จึงเป็นโทษต่อผู้กินปลาชนิดนี้ได้

เสือ หรือ ปลาเสือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Coxotes chatareus (Hamilton) มีรูปร่างป้อมและแข็งแรง ลำตัวเป็นสีเหลือง ที่เรียกปลาเสือ เพราะมีลายเหมือนเสือ และมีความสามารถพิเศษพ่นน้ำออกจากปาก เพื่อจับแมลงในอากาศ เป็นปลาขนาดกลาง อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นน้ำกร่อย ตามปากน้ำ และในแม่น้ำต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

หลวงมัศยจิตรการ. ภาพปลา อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันทน์) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 17 เมษายน 2508.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 สิงหาคม 2566