“เด็กปั๊ม” อาชีพสุดฮอตของ “ผู้หญิง” ชาว “เกาหลีเหนือ” ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ท่านผู้นำ เกาหลีเหนือ ผู้หญิง
中文(臺灣):朝鮮民主主義人民共和國首相金日成和最高人民會議女代議員們交談。

ถ้าให้ทุกคนลองทายดูว่าหนึ่งในอาชีพที่ “ผู้หญิง” ชาว “เกาหลีเหนือ” อยากทำมากที่สุดคืออะไร? คนจำนวนมากน่าจะคิดว่าคือ ทหาร หมอ ทนายความ ดารา นักร้อง ฯลฯ แต่จริง ๆ แล้วผิดถนัด เพราะสิ่งที่สาวงามทั้งหลายใฝ่ฝันคืออาชีพ “เด็กปั๊มน้ำมัน”

เรื่องราวนี้มาจากประสบการณ์ตรงของ “ปาร์ค ยอนมี” (Park Yeonmi) หญิงสาวผู้ลี้ภัยมาจากเกาหลีเหนือเพื่ออิสรภาพ นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน และเจ้าของผลงานหนังสือดังอย่าง “While Time Remains: A North Korean Defector’s Search for Freedom in America” (2023) ที่ถ่ายทอดผ่านวิดีโอ “Shocking Reason Why the Most Beautiful Women Work at Gas Stations in North Korea” บนแพลตฟอร์ม YouTube ของเธอ

ยอนมีเล่าว่า หลายคนที่ได้ฟังเรื่องราวนี้อาจจะตกใจมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในอาชีพที่จะทำให้ทุกคนเจอสาวงามประจำดินแดนนี้ก็คือ “เด็กปั๊มน้ำมัน” 

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะในประเทศเกาหลีเหนือไม่ได้นิยมขับรถยนต์ ถนน 97% จากทั้งหมดไม่ได้ลาดยาง แถมรอบนอกของกรุงเปียงยางก็ไม่มีไฟจราจร 

นอกจากนี้ กระบวนการสอบและยื่นขอใบขับขี่เรียกได้ว่าสุดแสนหฤโหด เพราะต้องลงเรียนขับรถตลอดทั้งปี เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องทราบชิ้นส่วนทั้งหมดของรถ ทั้งยังต้องรู้จักการแยกชิ้นส่วนและประกอบยานพาหนะให้ได้ ทำให้คนทั่วไปแทบไม่มีวันได้เป็นเจ้าของใบอนุญาตสัญจรบนท้องถนน

ดังนั้นใครที่ขับรถยนต์จึงเรียกได้ว่าเป็นแรร์ไอเท็มของสาว ๆ มากกว่าหมอเสียอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ผู้หญิงมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะสาวงาม ต่างกรูเข้ามาส่งใบสมัครเพื่อให้ตนเองได้ทำหน้าที่เติมน้ำมันและเช็ดทำความสะอาดรถยนต์ เพราะนอกจากจะมีโอกาสพบปะชายฐานะดี มีหน้าตาทางสังคม อาชีพนี้ยังให้ค่าตอบแทนค่อนข้างสูงและจุนเจือครอบครัวได้ทั้งเดือน

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม “ผู้หญิง” ใน “เกาหลีเหนือ” จึงมีความฝันที่จะเป็น “เด็กปั๊มน้ำมัน” นั่นเอง 

ยอนมีทิ้งท้ายไว้ว่า เมื่อได้เห็นภาพเหล่านี้ก็รู้สึกเศร้าเสียใจอย่างมาก มีผู้หญิงหลายคนที่ไม่ได้มีดีเพียงหน้าตา แต่ความสามารถด้านอื่น ๆ ก็มีเต็มเปี่ยม แต่เพราะปัญหาโครงสร้างทางสังคม จึงทำให้หลายคนต้องผันตัวมาเป็นเด็กปั๊มน้ำมัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.youtube.com/watch?v=UPZiuAvwxvo&list=LL&index=1&t=390s


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2566