“โลก” ไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล (นะจ๊ะ) : “อริสตาร์คัส” ผู้มาก่อนกาล

อริสตาร์คัส โลก ศูนย์กลางจักรวาล
(ภาพจาก Wikimedia Commons และ PIRO ใน Pixabay) - ปรับแต่งกราฟิกเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

หากเอ่ยถึงความรู้เกี่ยวกับจักรวาล ว่าด้วยดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางระบบสุริยะ หรือการที่ “โลก” โคจรรอบดวงอาทิตย์ ชื่อของนิโคลัส โคเปอร์นิคัส และกาลิเลโอ กาลิเลอี คงจะโผล่เข้ามาในความคิดคนส่วนใหญ่เป็นลำดับแรก ๆ ในฐานะนักดาราศาสตร์ผู้นำเสนอเรื่องนี้จนแพร่หลาย แต่เชื่อหรือไม่ว่าก่อนปูชนียบุคคลทั้งสองท่านจะไขความกระจ่างนี้แก่ชาวโลก มีปราชญ์กรีกคนหนึ่งพยายามเสนอเรื่องนี้มาแล้วเมื่อ 18-19 ศตวรรษก่อน… เขาคือ “อริสตาร์คัส” แห่งเกาะซามอส

อริสตาร์คัส (Aristarchus) เป็นนักคณิตศาสตร์ นักคิด และนักปรัชญาเมธีคนสำคัญของโลกกรีกโบราณ มีชีวิตเมื่อราว 310-230 ปีก่อนคริสต์ศักราช เขาอาจไม่ใช่นักปราชญ์ชาวกรีกที่ชื่อคุ้นหูคนทั่ว ๆ ไปนัก เพราะทฤษฎีที่เขานำเสนอค่อนข้าง “หลุดโลก” หรือเกินจริงสำหรับผู้คนร่วมยุคสมัย จนแทบไม่มีใครอยากรับรู้หรือจดจำสิ่งที่เขาบอก

สิ่งที่อริสตาร์คัสนำเสนอคือความสามัญธรรมดาของโลก เขาพยายามอธิบายว่า โลกต่างหากที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ ไม่ได้วิเศษวิโสอะไรถึงขั้นเป็นศูนย์กลางสรรพสิ่ง หรือศูนย์กลางจักรวาล พระเจ้าไม่ได้บันดาลให้โลกอยู่ในสถานะนั้น อริสตาร์คัสยืนกรานเรื่องนี้ท่ามกลางคนที่เชื่อว่า “โลก” คือศูนย์กลางจักรวาล ทำให้เขากลายเป็น “ผู้มาก่อนกาล” ที่โลกลืมอยู่นานนับพันปี!

แต่ปัจจุบันนักวิชาการส่วนหนึ่งยกย่องอริสตาร์คัสเป็นนักดาราศาสตร์ยุคโบราณที่ยิ่งใหญ่คู่กับฮิปปาร์คัส (Hipparchus) นายคนนี้ฉลาดเป็นกรดเช่นกัน เพราะเขาสามารถคำนวณระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ได้อย่างแม่นยำด้วยตรีโกณมิติ การคำนวนนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช

ข้อมูลชีวิตและเรื่องราวเกี่ยวกับอริสตาร์คัสมีน้อยมาก ทราบเพียงเขาเกิดที่เกาะซามอส เกาะเดียวกับที่พิธากอรัสเกิดเมื่อราว 260 ปีก่อนหน้าเขา โดยอยู่ร่วมยุคกับ อาร์คิมีดีส เจ้าของวลี “ยูเรก้า” อันโด่งดัง เป็นบันทึกของอาร์คิมีดีสนี่เองที่ทำให้เราพอทราบรายละเอียดและภูมิความรู้อันยิ่งใหญ่ของอริสตาร์คัสอยู่บ้าง บันทึกดังกล่าวชื่อว่า ผู้คำนวณเม็ดทราย (The Sand Reckoner) เป็นจดหมายของอาร์คีมีดีสถึงกษัตริย์เกลอนแห่งซีราคิวส์

บันทึกเล่าว่า อริสตาร์คัสเป็นศิษย์ของสตราโต เจ้าสำนักคนที่ 3 ของ “สำนักเพอริพาเทติก” หรือเพอริพาโทส ซึ่งเป็นสำนักที่สืบทอดคำสอนจากอริสโตเติล เชื่อว่าอริสตาร์คัสเคยทำนาฬิกาแดด แบบแรกเป็นรูปจานแบน อีกแบบเป็นรูปครึ่งวงกลม ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการทำนาฬิกาแดดเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์มากน้อยเพียงใด แต่แนวคิดของปราชญ์นามฟิโลเลอัสแห่งโครตอน ว่าด้วย “กองไฟเป็นศูนย์กลางจักรวาล” น่าจะมีอิทธิพลต่อการศึกษาของเขาอยู่ไม่น้อย

อริสตาร์คัสตีความว่า “อัคคีศูนย์” น่าจะเป็นดวงอาทิตย์นี่แหละ เมื่อเขาลองจัดวางดาวเคราะห์ต่าง ๆ เท่าที่รู้จักตามระยะห่างที่เหมาะสม พบว่ามันสอดคล้องกับข้อมูลการโคจรเป็นอย่างดีเสียด้วย

อาร์คิมีดีสเล่าใน ผู้คำนวณเม็ดทราย ว่า “พระองค์ (กษัตริย์เกลอน) ก็ทรงทราบว่า จักรวาลคือชื่อที่นักดาราศาสตร์ใช้เรียกทรงกลมที่รัศมีลากตรงจากศูนย์กลางของโลกไปยังศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ แต่ ‘อริสตาร์คัสได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่ระบุว่า เขาเชื่อว่าจักรวาลใหญ่กว่าที่เราเคยคิดไว้มาก เขากล่าวว่าดวงดาวและดวงอาทิตย์ไม่ได้เคลื่อนที่ และโลกเรานี้เองที่เคลื่อนที่ไปรอบดวงอาทิตย์ โดยมีเส้นทางโคจรเป็นวงกลม

แม้เราจะทราบในภายหลังว่าแม้แต่ดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ก็เคลื่อนที่เช่นกัน แต่การอธิบายเรื่องโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ของอริสตาร์คัสถือว่าถูกต้องและ “มาก่อนกาล” เอามาก ๆ เป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ทางความคิดเกี่ยวกับจักรวาลสำหรับสองพันกว่าปีที่แล้วเลยทีเดียว

ประติมากรรม อริสตาร์คัส แห่งซามอส
Aristarchus of Samos (ภาพโดย Eliseevmn ใน Wikimedia Commons สิทธิการใช้งาน CC BY-SA 4.0)

อริสตาร์คัสเชื่อว่า โลกหมุนรอบตัวเองโดยใช้เวลาหนึ่งวัน เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องอีกเช่นกัน เขาบอกว่าดวงอาทิตย์เป็นแกนโลหะที่โดนไฟเผาจนร้อนแดง ส่วนดวงจันทร์ไม่ต่างจากโลก ขณะดวงดาวอื่น ๆ (ที่เปล่งแสง) ล้วนเป็นก้อนไฟร้อน ๆ ทั้งสิ้น

อริสตาร์คัสยังพยายามคำนวณระยะห่างของโลกจากดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ด้วย เขาตั้งข้อสังเกตและสมมติฐานต่าง ๆ จนทำให้ได้ค่าขนาดของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงทีเดียวสำหรับขนาดดวงจันทร์ แต่ผิดพลาดอย่างมากในส่วนขนาดดวงอาทิตย์ (เล็กกว่าขนาดจริงไปหลายสิบเท่า) ถึงอย่างนั้นคุณูปการของเขาทำให้นักดาราศาสตร์ชาวกรีกยุคถัดมาอย่างฮิปปาร์คัสและปโตเลมีใช้วิธีคำนวณเดียวกัน จนได้ค่าที่ทั้งละเอียดและแม่นยำอย่างมากในส่วนขนาดดวงจันทร์และระยะห่างจากโลกของดวงจันทร์

อย่างน้อยการคำนวณของอริสตาร์คัส ทำให้เขาทราบระยะระหว่างดวงอาทิตย์กับโลกว่ามันมากกว่าระยะระหว่างดวงจันทร์กับโลกมากโข อย่างไรก็ตาม เขายังเชื่อว่าโลก “แบน” และลอยเคว้งอยู่บนอากาศ ส่วนภัยพิบัติเช่น แผ่นดินไหวเป็นผลจากอากาศที่ห่อหุ้มโลกโดนก่อกวนด้วยสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขายังอธิบายไม่ได้

ความยิ่งใหญ่ของ “อริสตาร์คัส” แฝงตัวอยู่อย่างเงียบเชียบในผลงานของนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างโคเปอร์นิคัส และกาลิเลโอ

เมื่อปี 1543 หรือ 1,800 ปีหลังอริสตาร์คัส ความเชื่อตามพระคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า โลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล และเทหวัตถุทั้งหลายบนฟากฟ้าไม่ว่าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ ล้วนโคจรรอบโลกที้งสิ้น คือความเชื่อหลัก แต่โคเปอร์นิคัสออกหนังสือ ว่าด้วยการโคจรของทรงกลมแห่งสรวงสวรรค์ (On the Revolutions of the Heavenly) ชี้ให้เห็นว่า โลกไม่ต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ เลย เราต่างโคจรรอบดวงอาทิตย์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ระบบสุริยะมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง

ข้อมูลนั้นเปลี่ยนความเข้าใจต่อจักรวาลของชาวโลกขนานใหญ่เลยทีเดียว หนังสือของโคเปอร์นิคัสจึงโดนแบนตามคำสั่งของคริสตจักร แต่ความเชื่อดังกล่าวถูกยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ดี

ประเด็นสำคัญคือ โคเปอร์นิคัสทราบแนวคิดของอริสตาร์คัสเป็นทุนเดิมอยู่แล้วแน่ ๆ เพราะเขาเขียนคำขอบคุณอริสตาร์คัสไว้ในต้นร่างหนังสือ โดยระบุว่า อริสตาร์คัสน่าจะเคยกล่าวไว้ว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ แต่เขาตัดส่วนนี้ทิ้งไปในฉบับตีพิมพ์ ส่วนเพราะเหตุใดยังเป็นปริศนาอยู่ อย่างไรก็ตาม ต้นฉบับ (พร้อมคำขอบคุณ) ดังกล่าวถูกค้นพบหลังจากโคเปอร์นิคัสเสียชีวิตไปแล้ว

กาลิเลโอเองก็เคยอ่านหนังสือ ผู้คำนวณเม็ดทราย ของอาร์คิมีดีสเช่นกัน บรมจารย์อย่างกาลิเลโอย่อมเข้าใจสิ่งที่อริสตาร์คัสพยายามอธิบายอยู่แล้ว นี่อาจเป็นสาเหตุที่กาลิเลโอไม่เคย “ให้เครดิต” โคเปอร์นิคัสว่าเป็นผู้ค้นพบเรื่องระบบสุริยะที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางเลย แต่เลือกจะกล่าวถึงโคเปอร์นิคัสว่าเป็นผู้ “รื้อฟื้นและยืนยัน” ทฤษฎีดังกล่าวแทน เป็นไปได้ว่า กาลิเลโอให้เกียรติอริสตาร์คัสในฐานะ “ผู้ค้นพบ” นั่นเอง

การปฏิเสธว่า โลกคือศูนย์กลางจักรวาลของอริสตาร์คัส และดวงดาวไม่ใช่ส่วนประกอบที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาเสริมบารมีโลก คือความก้าวหน้าที่ล้ำยุคอย่างแท้จริง แม้มันขัดสามัญสำนึกของคนทั่วไป เพราะพวกเขาไม่สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดตำแหน่งของดวงดาวต่าง ๆ จึงคงที่จนเกือบไม่เปลี่ยนแปลง แต่ตำแหน่งของโลกเปลี่ยนไปตลอดเวลา (จากการโคจรรอบดวงอาทิตย์) โชคดีที่อาร์คิมีดีสเห็นว่าแนวคิดของอริสตาร์คัสน่าสนใจ จึงจดบันทึกไว้

จะเห็นว่าการ “มาก่อนกาล” ของอริสตาร์คัส แม่นยำจนเหลือเชื่อ แม้จะมีหลายเรื่องที่เขาเข้าใจผิด หากเขาได้รับรู้ถึงความกว้างใหญ่ของจักรวาลอย่างที่เราทราบกันในปัจจุบัน คงช็อคไปเลยแน่ ๆ โชคไม่ดีที่เราไม่รู้ว่ายังมีบันทึกของอริสตาร์คัสตกหล่นหรือรอการค้นพบอยู่ในซอกมุมใดของห้องสมุดโบราณอีกหรือไม่

แต่น่าคิดว่าหากคนในยุค “อริสตาร์คัส” เชื่อในสิ่งที่เขาอธิบาย ความเข้าใจในจักรวาลของมนุษยชาติจะแตกต่างไปจากปัจจุบันมากมายเพียงใด…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นำชัย ชีววิวรรธน์. (2566). 543 BC ปวงเมธีแห่งอารยกาล. กรุงเทพฯ : SUNDOGS.

Cambridge University. The Works of Archimedes : THE SAND-RECKONER. September 07, 2010. From https://www.cambridge.org/core/books/abs/works-of-archimedes/sandreckoner/FFE3BF25964F12CBA5A5E182B576754D

James Evans, Encyclopedia Britannica. Aristarchus of Samos. Retrieved August 10, 2023. From https://www.britannica.com/biography/Aristarchus-of-Samos#ref1118241


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2566