เปิดเส้นทาง “เซเว่น อีเลฟเว่น” ร้านสะดวกซื้อเล็ก ๆ ที่พัฒน์พงษ์ สู่ 10,000 กว่าสาขาทั่วประเทศ

เซเว่น อีเลฟเว่น สมัยก่อน ตู้สเลอปี้
คริส สารสิน ค่ายโค้ก มาร่วมแสดงความยินดีกับนายธนินท์ เจียรวนนท์ ในพิธีเปิดร้านเซเว่นฯ สาขาแรก (ภาพ: 10 ปี 10,000 สาขา เส้นทางสู่ความสำเร็จที่ยิ่งกว่านิยาย)

“เซเว่น อีเลฟเว่น” (7-Eleven) เป็นร้านสะดวกซื้อหรือร้านอิ่มสะดวกที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคย ด้วยทำเลที่หาง่าย สินค้าหลากหลายที่ตอบความต้องการในชีวิตประจำวัน รวมถึงกลยุทธ์การตลาดอย่างการสะสมแต้มแลกของพรีเมียม ทำให้เซเว่น อีเลฟเว่น เป็นร้านสะดวกซื้อที่ยึดหัวหาดความนิยมของผู้บริโภคมาได้อย่างต่อเนื่อง

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เซเว่น อีเลฟเว่นก็ต้องผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายมาก่อน 

จุดกำเนิดเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย เริ่มต้นจาก ธนินท์ เจียรวนนท์ (ปัจจุบันเป็นประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์) สนใจธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง โดยนโยบายและแนวคิดหลักของเขาคือ ทำธุรกิจที่ยังไม่มีใครทำ หรือทำแล้วแต่ยังไม่ดี ซึ่งคอนวีเนียนซ์สโตร์หรือร้านสะดวกซื้อก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก “เจ้าสัวธนินท์” จึงตัดสินใจปลุกปั้นธุรกิจนี้ให้เติบโตและเข้มแข็งขึ้นมาให้ได้ โดยได้รับสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้า “7-Eleven” มาจาก 7-Eleven, Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา 

ธนินท์ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องการคัดสรรบุคลากรที่มีความสามารถมาร่วมงาน ได้มอบหมายให้ ดร. ประเสริฐ จารุพนิช ผู้บริหารระดับสูงที่ทำงานร่วมกับเครือซี.พี. มาตั้งแต่ พ.ศ. 2521 ทั้งยังมีดีกรีปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอกลาโฮมา สหรัฐอเมริกา เข้ามาดูแลธุรกิจแขนงใหม่ของบริษัท ก่อนที่ ดร. ประเสริฐจะชักชวนให้ ลิขิต ฟ้าปโยชนม์ ผู้เคยกู้ ซี.พี. เท็กซ์ไทล์ ที่กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง มาร่วมกันสร้างธุรกิจร้านสะดวกซื้อ

หลังจากศึกษาธุรกิจหน้าใหม่นี้แบบหามรุ่งหามค่ำ ลิขิตก็ได้คำตอบว่าแฟรนไชส์ไม่ใช่สูตรสำเร็จ 100% และไม่สามารถเลียนแบบต้นฉบับได้ทั้งหมด เพราะแต่ละพื้นที่มีปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น เรื่องทำเล ที่ในต่างประเทศมีสูตรสำเร็จคือตั้งร้านในพื้นที่ที่รถยนต์สามารถขับเข้าถึงได้ แต่ลิขิตเห็นว่าในเมืองไทย ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ควรตั้งใกล้ป้ายรถเมล์ เพราะคนไทยใช้รถสาธารณะมากกว่ายานพาหนะส่วนตัว หรือการจัดจำหน่ายลอตเตอรี่ในร้านก็ไม่สามารถทำอย่างต่างประเทศได้ 

เมื่อศึกษาลู่ทางธุรกิจสู่ความสำเร็จแล้ว ก็ได้จดทะเบียนก่อตั้ง บริษัท ซี.พี. คอนวีเนียนต์สโตร์ จำกัด ขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 เพื่อดำเนินการร้านเซเว่น อีเลฟเว่น 

ดร. ประเสริฐเริ่มจัดตั้งทีมงานให้เป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจใหม่ เขามอบหน้าที่ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปให้กับลิขิต เพราะถือว่าเป็นผู้บ่มเพาะ เซเว่น อีเลฟเว่น ในไทย ก่อนจะเชิญชวน ปรีชา เอกคุณากูล มาเป็นรองผู้จัดการทั่วไป ดูแลด้านการตลาด และดึง วัฒนา เอกเผ่าพันธุ์ มารับหน้าที่ด้านบัญชีและการเงิน ส่วนลูกทีมที่เหลือก็ใช้วิธีปิดประกาศเหมือนการรับสมัครงานทั่วไป

หลังจากประกาศไปไม่นานนัก ทีมงานก็ได้บุคลากรที่จะมาช่วยสานฝันให้เซเว่น อีเลฟเว่นเป็นจริงประมาณ 20 คน ต่อมาในปี 2532 บริษัท ซี.พี. คอนวีเนียนสโตร์ จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด และเพิ่มทุนจดทะเบียน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับกิจการที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทว่าท้ายสุด ข้อมูลที่หามาทั้งหมดยังไม่เป็นที่พึงพอใจของ 4 ผู้นำในโปรเจกต์นี้เท่าที่ควร ทุกคนจึงตัดสินใจลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปของเซเว่น อีเลฟเว่น ในต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทแม่ มาเลเซีย ไปจนถึงฮ่องกง และไต้หวัน 

เรียกได้ว่าการเดินทางนี้พบสมบัติล้ำค่า เพราะผู้นำทั้ง 4 ได้พบปัญหาของเซเว่น อีเลฟเว่น ในมาเลเซีย ฮ่องกง และไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสำคัญของทำเล ประชากร และการจัดส่วนผสมของสินค้าที่วางจำหน่ายในร้าน ขณะเดียวกัน ทีมบุกเบิกยังทำการบ้านเกี่ยวกับธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์ในไทยอีกด้วย เช่น “เซ็นทรัล มินิมาร์ท” ของกลุ่มห้างเซ็นทรัล หรือ “บิ๊กเซเว่น” ของกลุ่มห้างคาเธย์ และพบว่าประเด็นที่สามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพขึ้นมาได้อีก คือ เรื่องการบริหารและจัดการอย่างเป็นระบบ

เซเว่น อีเลฟเว่น จึงนำประเด็นเหล่านี้มาวิเคราะห์ พร้อม ๆ กับเจรจาหาซัพพลายเออร์ให้นำสินค้ามาลงในร้าน แต่ก็มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่เชื่อมั่นว่าร้านสะดวกซื้อแบรนด์นี้จะไปได้ไกลในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจใหม่ต้องเดินหน้า ในที่สุด วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2532 ก็เป็นฤกษ์งามยามดีที่ เซเว่น อีเลฟเว่น สาขาพัฒน์พงษ์ ได้เปิดให้บริการต้อนรับลูกค้า นับเป็นเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาแรกในประเทศไทย เนรมิตพื้นที่อาคาร 2 คูหาริมถนนย่านพัฒน์พงษ์ให้กลายเป็นร้านสะดวกซื้อแสนทันสมัย อาคารด้านนอกทาด้วยสีขาวสะอาดตา แต่งแต้มด้วยสีแดง สีส้ม สีเขียวที่เราคุ้นเคย ส่วนด้านในใช้แสงไฟสีนวล พร้อมกับสินค้ามากมายวางเรียงรายให้ทุกคนมาจับจ่าย 

เซเว่น อีเลฟเว่น มีสินค้าชูโรงที่ดึงดูดลูกค้าให้เข้าไปใช้บริการ อย่าง “สเลอปี้” น้ำหวานปั่นน้ำแข็งรสชาติหอมหวาน “บิ๊กกัลฟ์” น้ำอัดลมหลากรสชาติที่กดได้เองจากตู้  “บิ๊กไบต์” ฮอตดอกที่ลูกค้าสามารถตักเครื่องเคียงและบีบซอสได้เอง ขาดไม่ได้คือสินค้าในชีวิตประจำวันทั้งของกินของใช้สารพัด เช่น ข้าว ขนมปัง ขนมขบเคี้ยว น้ำดื่ม นม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ฯลฯ นอกจากนี้ จุดเด่นของเซเว่น อีเลฟเว่น ที่เปิด 24 ชั่วโมง ยังทำให้ลูกค้าสามารถเข้าไปใช้บริการได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา ได้อีกด้วย 

เมื่อเป็นเช่นนี้ เซเว่น อีเลฟเว่นจึงเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ จากร้านสะดวกซื้อที่ใครหลายคนต่างปรามาสว่าไม่น่าจะประสบความสำเร็จ จำนวนสาขาก็ขึ้นไปแตะ 1,000 สาขาในปี 2541 ครบ 5,000 สาขาในปี 2552 และเข้าสู่ 10,000 สาขาในปี 2560 ส่วนปัจจุบัน เซเว่น อีเลฟเว่น มีสาขากว่า 13,800 สาขา กระจายตัวทั่วประเทศ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สุริยา ประดับสมุทร, สมปรารถนา คล้ายวิเชียร และจุฑารัตน์ เหลืองศรีพงศ์. 10 ปี 10,000 สาขา เส้นทางสู่ความสำเร็จที่ยิ่งกว่านิยาย มหัศจรรย์ธุรกิจ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2540.

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน). รายงานประจำปี 2565. https://www.cpall.co.th/wp-content/uploads/2023/03/CP-ALL-TH-AW-ALL-14-03-66-Low-res.pdf

เปิดเหตุผลทำไม 7-Eleven เน้นร้านไซส์ใหญ่-มีที่จอดรถ ปี 2566 ยังเดินหน้าขยายอีก 700 สาขา. https://www.brandbuffet.in.th/2022/12/cpall-plans-to-expand-around-700-new-stores-of-7-eleven-in-2023/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2566