ฮะนะโอะกะ เซชู ใช้ยาสลบในการผ่าตัดสำเร็จครั้งแรกของโลก เพราะภรรยายอมเป็น “หนูทดลอง”

ฮะนะโอะกะ เซชู ชาวญี่ปุ่น ยาสลบ
ฮะนะโอะกะ เซชู คิดค้นยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย หรือ "ยาสลบ" ในการผ่าตัดได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

ฮะนะโอะกะ เซชู คือแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่มีชีวิตอยู่ในสมัยเอโดะ เป็นผู้คิดค้นยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ยาสลบ” ในการผ่าตัดเป็นผลสำเร็จครั้งแรกของโลก แต่หากปราศจากภรรยาสุดที่รัก ความสำเร็จนี้ของเซชูอาจไม่เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้

บัญชา ธนบุญสมบัติ เล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ Pioneering Minds ก้าว-รุก-บุก-เบิก (สำนักพิมพ์ SUNDOGS) ว่า ฮะนะโอะกะ เซชู (Hanaoka Seishu) เกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1760 ในครอบครัวหมอ เป็นลูกชายของฮะนะโอะกะ นะโอะมิชิ (Hanaoka Naomichi) หมอแห่งแคว้นคิชู ส่วนปู่ของเขาก็เป็นหมอเช่นกัน

เมื่อเซชูอายุ 23 ปี ก็เดินทางไปเกียวโต ซึ่งมีหมอมากความสามารถอยู่หลายคน อย่าง ยะมะวะกิ โทะโยะ (Yamawaki Toyo) ผู้มีชื่อเสียงจากการจดบันทึกการผ่าศพ ซึ่งเป็นการแพทย์อย่างแรกของญี่ปุ่น โยะชิมะซุ นังงะอิ (Yoshimasu Nangai) ซึ่งเซชูฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อเรียนการแพทย์แผนโบราณของจีน และ ยะมะโตะ เค็นริว (Yamato Kenryu) ผู้ถ่ายทอดวิชาการแพทย์ฮอลันดาแผนใหม่ให้เซชู

ตอนนั้นญี่ปุ่นมีนโยบายปิดประเทศ ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งเพราะหวาดเกรงภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก เช่น สเปน แต่ก็ยังติดต่อสัมพันธ์กับชาติอื่นอยู่บ้าง ทั้ง จีน เกาหลี และฮอลันดา ซึ่งเป็นชาติตะวันตกเพียงชาติเดียวที่ญี่ปุ่นติดต่อสัมพันธ์ด้วย โดยจัดให้ชาวดัตช์อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งเดียวคือเกาะเดจิมะ เป็นเกาะเทียมขนาดเล็กที่สร้างขึ้นในอ่าวนางาซากิ เหตุที่ญี่ปุ่นยังสมาคมกับฮอลันดา เพราะเห็นว่าตนเองไม่เป็นฝ่ายเสียเปรียบ อีกทั้งฮอลันดาก็มุ่งค้าขายอย่างเดียว ไม่ได้คิดเผยแผ่ศาสนาคริสต์เข้าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักอีกอย่างที่ทำให้ญี่ปุ่นปิดประเทศ

ฮอลันดานำวิทยาการหลายอย่างเข้าสู่ญี่ปุ่น ทั้งพฤกษศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การสำรวจ การทำแผนที่ รวมไปถึงความรู้ทางการแพทย์ เภสัชตำรับ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมเค็นริวถึงมีวิชาการแพทย์แบบฮอลันดา และสามารถถ่ายทอดให้เซชูได้นั่นเอง

เซชูศึกษาการแพทย์แผนจีนและแผนตะวันตกที่เกียวโตอยู่ราว 2 ปี ก่อนจะกลับบ้านเกิดในปี 1785 จากนั้นก็เริ่มค้นคว้าเรื่องยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย (general anesthesia) โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก “ยาหมาเฝ้ยซ่าน” ของหมอฮัวโต๋ (ในเรื่องสามก๊ก) ซึ่งเชื่อกันว่าหมอเทวดาผู้นี้เคยใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายในการผ่าตัด

เซชูทดลองปรุงยาโดยใช้ส่วนต่างๆ เช่น ต้น ดอก ใบ ของพืชลำโพงขาวมาบดแล้วชงดื่ม ซึ่งจะทำให้หลับลึก ร่างกายจะชา และไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่ถ้าดื่มมากไปก็อาจเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม เมื่อเซชูเห็นว่าต้นลำโพงขาวออกฤทธิ์เบาไป จึงผสมรากของ “ต้นอะโคไนต์” ที่มีพิษรุนแรง นิยมนำมาใช้เป็นยาพิษอาบหัวธนูเพื่อฆ่าคนหรือสัตว์ป่าลงไปในยาด้วย จากนั้นก็นำไปทดลองกับสุนัขและแมว ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี

แต่กับมนุษย์ล่ะ?

ปรากฏว่า คะเอะ ภรรยาของเซชู ยอมเป็น “หนูทดลอง” เสียสละตัวเอง เพื่อให้สามีได้ทดสอบยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย หรือ ยาสลบ ที่เขาคิดค้นขึ้น นับเป็นการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ เพราะแม้ได้ผล แต่คะเอะกลับตาบอดจากผลข้างเคียงของยา

เวลาผ่านไปจนถึงเดือนกันยายน ปี 1804 มีชายคนหนึ่งนำภรรยาอายุราว 60 ปี ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งเต้านมมาให้เซชูรักษา ทางรอดเดียวคือต้องตัดเต้านมทิ้ง เซชูจึงตัดสินใจใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายที่เขาคิดค้นและทดลองกับคะเอะมาใช้ในกรณีนี้

การผ่าตัดครั้งประวัติศาสตร์เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม ปี 1804 นับเป็นการผ่าตัดโดยวางยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายเป็นครั้งแรกของโลก การผ่าตัดประสบผลสำเร็จอย่างดี ข่าวนี้แพร่สะพัดไปทั่วเกาะญี่ปุ่น ทำให้มีผู้คนหลายร้อยคนเดินทางมาหาเซชูเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ แต่ความก้าวหน้าทางการแพทย์เรื่องนี้ไม่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปไหน เพราะญี่ปุ่นยังคงปิดประเทศ

หลังจากนั้น เซชูก็ประดิษฐ์และดัดแปลงเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผ่าตัด เขาเขียนบันทึกหลายเล่มเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อแวดวงการแพทย์เป็นอย่างมาก มีบันทึกว่าตลอดชีวิตของเซชู เขาผ่าตัดมะเร็งทรวงอกไปกว่า 150 ครั้ง รวมทั้งผ่าตัดเนื้องอก นิ่ว และผ่าตัดแขน-ขา ด้วย

เซชูได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นหมอประจำแคว้น ก่อนจะจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ปี 1835 ในวัย 75 ปี ส่วนการผ่าตัดโดยใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายครั้งแรกในโลกตะวันตก เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา โดย ครอว์ฟอร์ด ดับเบิลยู. ลอง (Crawford W. Long) ในปี 1842 ช้ากว่าการผ่าตัดของเซชูถึง 38 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

บัญชา ธนบุญสมบัติ. Pioneering Minds ก้าว-รุก-บุก-เบิก. กรุงเทพฯ : SUNDOGS 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2566