ตะลึง! ภาพวาดสมัยเอโดะ “ตดมหาประลัย ขับไล่ต่างชาติ”!!?

ภาพวาด ประชันตด สมัยเอโดะ
ส่วนหนึ่งของผลงาน “He-gassen” หรือแปลได้ว่า "ประชันตด" ภาพจิตรกรรมบนม้วนกระดาษ (ภาพจาเว็บไซต์ http://archive.wul.waseda.ac.jp/kosho/chi04/chi04_01029/chi04_01029.html)

จิตรกรรมภาพหญิงชายผายลม (ตด) สุดสะพรึงที่เราเห็นกันอยู่นี้มีชื่อว่า “He-gassen” หรือแปลตรงตัวได้ว่า “ประชันตด” เป็นภาพวาดสไตล์ญี่ปุ่นบนม้วนกระดาษยาวกว่า 10 เมตร!!!!!

คาดว่าผลงาน “ประชันตด” น่าจะถือกำเนิดในสมัยเอโดะ หรือราวศตวรรษที่ 17-19 ส่วนเรื่องที่ว่าใครเป็นคนวาดภาพการเปลือยก้นตดสุดอลังการ ขัดกับภาพลักษณ์ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันเหลือเกินนั้น ยังไม่มีใครตอบได้

อย่างไรก็ตาม ภาพวาดนี้ไม่ได้ให้แค่ความฮากับผู้ชมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวทางสังคมและความอัดอั้นตันใจของผู้คนในสมัยนั้นด้วย

คาดกันว่า ภาพวาดบนม้วนกระดาษนี้ อาจมีแรงบันดาลใจมาจากความพยายามอันล้มเหลวในการขับไล่ชาวต่างชาติที่เข้ามาบุกรุกประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นประเทศปิดมาอย่างยาวนาน จะเปิดรับก็เพียงแต่ ชาวจีน พ่อค้าชาวอังกฤษ และคนจากบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch East India Company) ที่เข้ามาค้าขาย หรือมีผลประโยชน์ร่วมกับญี่ปุ่นเท่านั้น สำหรับชนชาติอื่น ๆ หากจับได้ว่าแอบลักลอบเข้ามา ก็จะโดนจับประหารโดยทันที ไม่มีการสอบสวนใด ๆ ทั้งนั้น

ส่วนหนึ่งของม้วนภาพจิตรกรรม “He-gassen” (ภาพจากเว็บไซต์ http://archive.wul.waseda.ac.jp/kosho/chi04/chi04_01029/chi04_01029.html)

สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับภาพดังกล่าว มีผู้อธิบายไว้ว่า ศิลปินอาจต้องการสะท้อนภาพของชาวญี่ปุ่น ที่พยายามจะขับไล่ชาวต่างชาติด้วยการผายลมใส่ หวังให้ชาวต่างชาติปลิวออกจากประเทศไป แต่ผลของลมตดนั้นกลับทำอะไรชาวต่างชาติไม่ได้ หนำซ้ำยังทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เมื่อชาวต่างชาติต้องเปิดประตูหรือหน้าต่าง เพื่อหาทางระบายกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ เปรียบได้กับการเปิดประตูประเทศให้กว้างขึ้น พร้อมต้อนรับชาวต่างชาติกลุ่มอื่น ๆ ให้เข้ามาเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าอย่างแน่แท้ว่า จุดประสงค์ในการสร้างสรรค์ผลงาน “ประชันตด” ของศิลปินคืออะไร แต่ที่แน่ ๆ คือภาพเหล่านี้มีคุณค่าในเชิงศิลปะอย่างชัดเจน เพราะใครได้เห็นก็ต้องรู้สึกสะเทือนอารมณ์และอมยิ้มไปตาม ๆ กัน

หมายเหตุ: ใครที่สนใจภาพ “He-gassen” อยากดูทั้งม้วนภาพให้หนำใจ ก็สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ดูแลภาพดังกล่าวในปัจจุบันได้ที่ลิงก์นี้ http://archive.wul.waseda.ac.jp/kosho/chi04/chi04_01029/chi04_01029.html

อ่านเพิ่มเติม: 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-2104250/Divine-wind-Japanese-He-gassen-art-actually-form-social-commentary.html

https://dangerousminds.net/comments/hilariously_crude_japanese_fart_battle_scrolls?fbclid=IwAR1Gx1k7raeHHmaEgA58bmow8a1xMZ2HNMK1qTpfvz8l82yjX3r4meAknjY

https://www.huffingtonpost.com/2014/01/23/the-fart-battle_n_4653800.html


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2561