เปิดงานจิตรกรรมเชิงสังวาสในวัด ชายหญิงทำกิจความรักท่าปกติ ถึงภาพแนวแฟนตาซี

จิตรกรรมเชิงสังวาส วัดบางยี่ขัน กรงุเทพ
ภาพวาดบนฝาผนังพระอุโบสถ วัดบางยี่ขัน (ภาพจากหนังสือ เชิงสังวาส, 2541)

สำหรับผู้ที่นิยมผลงานเชิงศิลป์ โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาหนังในศาสนสถานประเทศไทยย่อมคุ้นเคยกับ “จิตรกรรมเชิงสังวาส” กันเสมอ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ภาพบนฝาผนังของวัดหลายแห่งในไทยปรากฏภาพลักษณะนี้กันอย่างแพร่หลาย แม้ว่าบางแห่งจะถูกติเตียนและลบหายไปบ้างแล้วก็ตาม

นิวัติ กองเพียร คอลัมนิสต์เกี่ยวกับศิลปะและร่างกายมนุษย์ แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหารไม่เพียงนำเสนอปรัชญาและเรื่องราวทางพุทธศาสนาและสร้างบรรยากาศให้กับผู้มาเยือน สิ่งที่ปรากฏขึ้นในภาพศิลปะยังเป็นการแสดงตัวตนของช่างเขียน แสดงชีวิตความเป็นอยู่และแสดงยุคสมัยของตัวช่างออกมาในภาพเขียนด้วย

ภาพ “จิตรกรรมสังวาส” ชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งหยิบยกมานำเสนอในที่นี้คือ ภาพวาดบนผนังพระอุโบสถ ที่วัดบางยี่ขัน นิวัต กองเพียร ชี้จุดว่า หากเข้าไปในพระอุโบสถวัดบางยี่ขัน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วหันหน้าเข้าหาพระประธาน ผนังด้านซ้ายมือห่างประตูไปประมาณ 2 เมตร หันหน้าเข้าหาผนังแล้วแหงนหน้าขึ้นเล็กน้อยก็จะเห็นภาพ “เชิงสังวาส” รูปเดียวในที่แห่งนี้ได้

ชาย หญิง จิตรกรรมเชิงสังวาส วัดบางยี่ขัน
ภาพวาดบนฝาผนังพระอุโบสถ วัดบางยี่ขัน (ภาพจากหนังสือ เชิงสังวาส, 2541)

ภาพวาดดังกล่าวปรากฏลักษณะชายหญิงกำลังเสพสังวาสด้วยท่าปกติบนศาลา ฉากหน้าเป็นกำแพง ฉากหลังเป็นผนังกำแพง บนภาพเห็นดวงตาของหญิงสาวโผล่พ้นมาแค่ข้างเดียว ให้อารมณ์ทั้งหฤหรรษ์และระคนกลัว เรียกได้ว่าสื่อสารถึงอารมณ์ได้ดีเลยทีเดียว

ส่วนตาของฝ่ายชายอยู่ในลักษณะเขม็ง บนศีรษะฝ่ายชายในส่วนที่ไม่มีผมใช้การลงสีฟ้าอ่อนเป็นสีหนังหัวที่เพิ่งโกนผมออกใหม่ แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการใช้สีธรรมชาติเมื่อเป็นสีฟ้าอ่อนจุดเดียวแต่ก็ดูกลมกลืนสวยงาม

วัดบางยี่ขัน สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 มีร่องรอยว่าอาจเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยธนบุรีหรืออาจไปถึงอยุธยา โดยภาพเขียนบนฝาผนังทั้ง 4 ด้าน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นฝีมือ คงแป๊ะ ครูที่ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น แต่คาดว่าเขียนแค่บางตอน ไม่ได้เป็นผู้เขียนทั้งหมด (นิวัติ กองเพียร, 2541)

วัดคงคาราม

ไม่เพียงแค่ภาพบุคคลสามัญชนทั่วไป ที่ราชบุรี ในอําเภอโพธาราม ริมทางรถไฟ ณ วัดคงคาราม มีงานจิตรกรรมที่สวยงาม เรื่องส่วนใหญ่ที่เขียนขึ้นเป็นเรื่องชาดก นิวัติ กองเพียร แสดงความคิดเห็นไว้ว่าฝีมือการเขียนของช่างที่นับว่าเลิศในพระอุโบสถคือการเขียนภาพคน ซึ่งถือว่าเป็นเอกในด้านความมีชีวิตชีวา เคลื่อนไหวได้ รวมถึงอารมณ์ต่างต่างนับว่าดีเยี่ยม

“ด้วยเหตุนี้ภาพเชิงสังวาสอันมีปรากฏอยู่มากแห่งในผนังพระอุโบสถวัดคงคารามนี้ จึงดูได้อารมณ์และสวยงามยิ่ง นอกเหนือจากภาพคนแล้ว ยังมีภาพสัตว์ที่สวยงามในเชิงสังวาสด้วย และช่างเขียนเป็นผู้ที่สามารถเขียนได้อย่างมีอารมณ์และงามในการจัดวางภาพ”

เงือก ปลา จิตรกรรมเชิงสังวาส วัดคงคาราม
ภาพ จิตรกรรมเชิงสังวาส ที่วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี

หรือเป็นภาพตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะออกบวช เข้ามาดูพระชายา เห็นนางสนมกํานัลนอนเกลือกกลิ้งผ้าผ่อนหลุดลุ่ย มือไม้ไขว่คว้าหาที่เกาะกุม นิวัติ กองเพียร วิจารณ์ไว้ว่า วางภาพได้งาม เขียนรูปร่างคนได้ สัดส่วนงามกลมกลึง เส้นอ่อนหวานและเขียนอย่างแม่นยํามาก

จิตรกรรมเชิงสังวาส วัดคงคาราม
ภาพสาวชาววังกอดกันแนบชิด ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ (ภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี)

ชมภาพอื่นๆ ได้จากโพสต์นี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงใหม่จากบทความ “ร.4ทรงตำหนิภาพสตรีในวัดทองนพคุณ อุจาด ‘นั่งปัสสาวะ-ผ้าข้างหน้าแหวกถึงอุทรประเทศ’ “ เผยแพร่ใน silpa-mag.com เมื่อ 9 กันยายน พ.ศ. 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน 2564