ร.4 ทรงตำหนิภาพสตรีในวัดทองนพคุณ อุจาด “นั่งปัสสาวะ-ผ้าข้างหน้าแหวกถึงอุทรประเทศ”

ภาพวาดบนฝาผนังพระอุโบสถ วัดบางยี่ขัน (ภาพจาก เชิงสังวาส, 2541)

งานจิตรกรรมในวัดวาอารามไทยหลายแห่งปรากฏภาพวาดเชิงอีโรติก (Erotic) อยู่มากหลาย บางชิ้นงานไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมก็ชวนเย้ายวนและแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของศิลปิน แต่หากไปอยู่ผิดที่ก็อาจเกิดเรื่อง ดังเช่นกรณีบันทึกเรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงตำหนิภาพนางฟ้าเล่นน้ำที่ดู “อุจาดตา” ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาของวัดทองนพคุณ ฝั่งธนบุรี

พระอุโบสถและพระวิหารในไทยส่วนใหญ่มักมีงานจิตรกรรมฝาหนังอยู่แล้ว ภาพวาดที่เขียนกันก็มีหลากหลายตั้งแต่พระพุทธศาสนา พระธรรมคัมภีร์ พุทธประวัติชาดก นิทานสอนใจ หรือว่าเรื่องในวรรณคดีก็มีให้เห็นกันประปราย รายละเอียดที่ศิลปินเขียนลงในงานก็มักสอดแทรกเรื่องวาบหวิว หรือที่นิวัติ กองเพียร เรียกว่า “เชิงสังวาส” เอาไว้ด้วย โดยความคิดเห็นของนักเขียนชื่อดังมองว่า ช่างเขียนหรือประชาชนทั่วไปสมัยโบราณถือกันว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ (ตราบที่ไม่อุจาดตามากนัก)

แต่บางครั้งก็มีบางงานซึ่งออกมาอุจาดตาอย่างกรณีที่พระครูกสิณสังวร ผู้ดูแลการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดทองนพคุณ ซึ่งเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์ พ.ศ. 2535 บรรยายว่า เป็นจิตรกรเอกยุคขรัวอินโข่ง วาดภาพฝาผนังอุโบสถวัด

เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน ทอดพระเนตรภาพฝีมือของพระครูกสิณสังวรก็ทรงพอพระทัย ตรัสถามหาผู้วาด และทรงชื่นชมว่าเก่ง แต่เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรอีกมุมที่เป็นรูปสตรีเพศ ลักษณะเหมือน “นางฟ้า” เล่นน้ำแล้ว พระองค์ไม่พอพระทัย ทรงตำหนิทำนองว่าเปิดส่วนมิบังควรให้เห็นอุจาดตาในสถานที่ทางศาสนา

เสฐียรพงษ์ วรรณปก อ้างอิงถึงบันทึกเหตุการณ์นี้อันมีใจความส่วนหนึ่งว่า

“…จึงทรงพระราชดำริ จะใคร่สถาปนาเลื่อนพระครูกสิณสังวรให้เป็นพระญาณรังสี ที่พระราชาคณะ สำหรับพระอารามนั้น แต่ครั้นทรงพิเคราะห์ไปในจิตรกรรมการเขียนผนังพระอุโบสถนั้น รำคาญพระเนตรอยู่ห้องหนึ่ง ซึ่งเป็นห้องระหว่างประตูกลางและประตูเหนือหน้าพระอุโบสถ เขียนเป็นนันทอุทยานในดาวดึงส์สวรรค์ ก็ในนันทอุทยานนั้นล้วนเกลื่อนกลาดดาษดาไปด้วยนางเทพ นิกร อัปสรกัญญา เดินไปมาแลชมต้นไม้ที่มีดอกมีผลบ้าง ลงอาบน้ำในสุนันทโบกขรณีบ้าง

มีรูปวุ่นวายอยู่ถึง 7 รูป คือรูปเปิดผ้านุ่งถึงตะโพก นั่งถ่ายปัสสาวะ บ้างเป็นรูปยืนแหวกผ้านุ่งข้างหน้า บ้างบางนางว่ายน้ำท่อนกลางตัวพ้นน้ำมา ผ้านุ่งไม่มี บางนางขึ้นจากท่า ผลัดผ้าข้างหน้าแหวกอยู่จนถึงอุทรประเทศ บางนางผลัดผ้าข้างหลังเปิดเห็นตะโพกบางนางหกล้มผ้าหลุดลุ่ย

รูปภาพสตรีต่างๆ ถึง 7 รูปที่เขียนไว้ดังนี้ ก็เป็นรูปนางสวรรค์ล้วนประดับประดามงกุฎ เป็นรูปภาพระบายอย่างดี มิใช่เป็นของเล่นที่ห้องนั้นอยู่เบื้องหน้าพระอุโบสถ ตรงพระพักตร์พระประธาน ตรงที่เสด็จไปประทับ หรือเมื่อพระสงฆ์จะมาชุมนุมกันทำสังฆกรรมอุโบสถกรรมก็จะต้องแลดูรูปนั้นอยู่จนสังฆกรรมเลิก ก็รูปภาพนางสวรรค์แปลกตา 7 รูปนี้ พระครูกสิณสังวรให้การเขียนหรือช่างเขียนไปเอง ถ้าให้การเขียนนั้นจะเป็นประโยชน์โภชผล เป็นปริศนาธรรมทางสังเวช หรือทางเลื่อมใสอย่างไร จึงเขียนไว้ ถ้าช่างเขียนไปเองช่างเขียนนั้นเป็นคนดีหรือเสียจริต ถ้าเสียจริต ทำไมจึงเขียนรูปภาพระบายได้งามๆ ได้ดีๆ”

นิวัติ กองเพียร อธิบายต่อมาว่า ถึงกับมีพระราชโองการให้แก้ไขไม่ให้อุจาดตา อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบผลงานอื่นที่เชื่อว่าเขียนขึ้นในสมัยเดียวกัน ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ต่อมา เช่น วัดบางยี่ขัน หรือวัดอื่นก็ไม่ได้ถูกลบทิ้ง แต่ก็อาจเป็นได้ว่าช่างเขียนสร้างผลงานไม่อุจาดตาต่อผู้มาทำบุญ และเหมาะสมกับเรื่องราว

ภาพวาดที่วัดบางยี่ขันนั้นปรากฏบนผนังพระอุโบสถ โดยนิวัต กองเพียร ชี้จุดว่า หากเข้าไปในพระอุโบสถวัดบางยี่ขัน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วหันหน้าเข้าหาพระประธาน ผนังด้านซ้ายมือห่างประตูไปประมาณ 2 เมตร หันหน้าเข้าหาผนังแล้วแหงนหน้าขึ้นเล็กน้อยก็จะเห็นภาพ “เชิงสังวาส” รูปเดียวในที่แห่งนี้ได้

จิตรกรรมเชิงสังวาสในพระอุโบสถ วัดบางยี่ขัน กรุงเทพฯ

ภาพวาดเป็นชายหญิงกำลังเสพสังวาสด้วยท่าปกติบนศาลา ฉากหน้าเป็นกำแพง ฉากหลังเป็นผนังกำแพง บนภาพเห็นดวงตาของหญิงสาวโผล่พ้นมาแค่ข้างเดียว ให้อารมณ์ทั้งหฤหรรษ์และระคนกลัว บอกอารมณ์ได้อย่างน่าชื่นชม ส่วนตาของฝ่ายชายก็เขม็ง ขณะที่การใช้สีฟ้าอ่อนบนหัวส่วนที่ไม่มีผม เป็นสีหนังหัวที่เพิ่งโกนผมออกใหม่ก็แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการใช้สีธรรมชาติเมื่อเป็นสีฟ้าอ่อนจุดเดียวแต่ก็ดูกลมกลืนสวยงาม

วัดบางยี่ขัน สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 มีร่องรอยว่าอาจเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยธนบุรีหรืออาจไปถึงอยุธยา โดยภาพเขียนบนฝาผนังทั้ง 4 ด้าน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นฝีมือ คงแป๊ะ ครูที่ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น แต่คาดว่าเขียนแค่บางตอน ไม่ได้เป็นผู้เขียนทั้งหมด (นิวัติ กองเพียร, 2541)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นิวัติ กองเพียร. เชิงสังวาส กามรูปในภาพเขียนตามประเพณีที่มีเสียงวรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2541.

เสฐียรพงษ์ วรรณปก. “รื่นร่ม รมเยศ : เทวดาแก้ผ้า โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก”. มติชน. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2562. เข้าถึงเมื่อ 9 กันยายน พ.ศ. 2562. <https://www.matichon.co.th/article/news_1618969>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2562