“ฟรานซิสโก โซลาโน โลเปซ” นโปเลียนแห่งอเมริกาใต้ ผู้นำหลงตัวเอง จนปารากวัยพินาศ

ภาพวาด ฟรานซิสโก โซลาโน โลเปซ
ฟรานซิสโก โซลาโน โลเปซ วาดโดย Aurelio García ในปี 1866 (ภาพจาก Government Palace Collection, Asunción)

ครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ปารากวัย บุรุษผู้นำประเทศนามว่า ฟรานซิสโก โซลาโน โลเปซ หลงคิดไปว่าตนเองเป็น “นโปเลียนแห่งอเมริกาใต้” เพราะเชื่อว่าตนเองรบเก่งเทียบเท่า “นโปเลียน” จักรพรรดิฝรั่งเศส และจะสามารถเอาชนะศัตรูได้โดยง่าย จึงตัดสินใจนำปารากวัยทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านพร้อมกันถึง 3 ประเทศ โดยไม่หวาดกลัวตัวตาย แต่เมื่อต้องออกรบจริง เขากลับนำประเทศแพ้สงครามและทำให้บ้านเมืองต้องพังพินาศ!  

ปลาบปลื้ม “นโปเลียน” 

หลังจากจักรวรรดิสเปนหมดอำนาจในทวีปอเมริกาใต้ ปารากวัยก็ประกาศอิสรภาพและปกครองตนเองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1811 ช่วงแรกปารากวัยถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการ ที่มีนโยบายโดดเดี่ยวตนเอง ไม่ยุ่งวุ่นวายกับความขัดแย้งภายในประเทศอื่น หรือระหว่างประเทศในอเมริกาใต้ แต่เมื่อ ฟรานซิสโก โซลาโน โลเปซ (Francisco Solano López) ซึ่งคลั่งไคล้นโปเลียนเป็นทุนเดิม ขึ้นเป็นผู้นำปารากวัย ประเทศก็เปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

ฟรานซิสโกเกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ปี 1827 ที่กรุงอะซุนซิออง ในปารากวัย เป็นบุตรของ คาร์ลอส อันโตนิโอ โลเปซ (Carlos Antonio Lopez) ประธานาธิบดีคนแรกของปารากวัย ชีวิตวัยเด็กจึงเพียบพร้อมทั้งการดูแลและการศึกษา เขาได้รับการส่งเสริมให้เป็นผู้นำในอนาคต ถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนทหาร ติดยศนายพลจัตวาในปี 1844 ขณะอายุเพียง 17 ปี และยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลังปารากวัยตามแนวชายแดนอาร์เจนตินาอีกด้วย

ปี 1853 โลเปซผู้พ่อส่งลูกชายไปยุโรป เพื่อทำหน้าที่ทูตปารากวัยประจำอังกฤษ ฝรั่งเศส และราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย ทำให้ฟรานซิสโกมองเห็นความก้าวหน้าของยุโรป และยังมีโอกาสเดินทางไปรัสเซีย เพื่อทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์ทางการทหารช่วงสงครามไครเมียอีกด้วย

ฟรานซิสโกใช้ชีวิตในยุโรปกว่าหนึ่งปีครึ่ง ส่วนใหญ่มักอยู่ในกรุงปารีส ทำให้เขาประทับใจประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะในสมัยจักรวรรดิที่ 2 ที่เกรียงไกรด้วยฝีมือของ “นโปเลียนที่ 3” ผู้เป็นหลานของนโปเลียน โบนาปาร์ต ฟรานซิสโกในฐานะทหารจึงต้องการสร้างให้ปารากวัยยิ่งใหญ่เทียบเท่าฝรั่งเศส โดยการเดินตามรอยนโปเลียน จักรพรรดิฝรั่งเศส ผู้พิชิตดินแดนทั่วยุโรป  

สร้างฝรั่งเศสแห่งที่สอง

ฟรานซิสโกกลับปารากวัยในปี 1855 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสงคราม ช่วงนั้นเขาทุ่มงบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก พร้อมกับเรือกลไฟหลายลำ ต่อมาก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีปารากวัย เมื่อปี 1857

ด้านชีวิตส่วนตัวนั้น ระหว่างฟรานซิสโกพำนักที่กรุงปารีส ก็พบรักกับ เอลิซา ลินช์ (Eliza Lynch) ม่ายสาวชาวไอริช เขาตกหลุมรักเธอหัวปักหัวปำ และพากลับไปอยู่กินที่ปารากวัย แม้ว่าฟรานซิสโกจะไม่ได้แต่งงานกับเอลิซา แต่เธอก็เป็นหญิงที่ฟรานซิสโกรักมาก จนมีลูกด้วยกันถึง 6 คน 

ในปี 1857 ประธานาธิบดีคาร์ลอส ซึ่งต้องการเอาใจลูกชายและลูกสะใภ้ที่ชื่นชอบความหรูหรา ได้สร้างคฤหาสน์สุดหรูราวกับ “พระราชวัง” สไตล์ฝรั่งเศส กลางกรุงอะซุนซิออง โดยมี อลอนโซ เทย์เลอร์ สถาปนิกชาวอังกฤษ เป็นผู้ดูแล พร้อมนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น รูปปั้นทองสัมฤทธิ์ เครื่องเรือน กระจกบานใหญ่ โคมไฟแสนหรูหราจากฝรั่งเศส มาประดับตกแต่งให้คฤหาสน์อลังการยิ่งขึ้น

จนเมื่อวันที่ 10 กันยายน ปี 1862 คาร์ลอสถึงแก่อสัญกรรม ฟรานซิสโกในวัย 35 ปี จึงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปารากวัยต่อจากบิดา

เขาเริ่มนโยบายที่จะทำให้ปารากวัยเป็น “ฝรั่งเศสแห่งที่สอง” โดยปรับทัศนียภาพของกรุงอะซุนซิออง เมืองหลวง ตามแบบกรุงปรารีส ซึ่งโครงการที่ใหญ่ที่สุด คือ การสานต่อโครงการพระราชวังของบิดาผู้ล่วงลับ โดยระดมศิลปินยุโรปหลายคนเข้ามาตกแต่งจนเกือบแล้วเสร็จ

ฟรานซิสโกพยายามตามรอยนโปเลียน โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบกองทัพปารากวัยให้ทันสมัยตามแบบฝรั่งเศส โดยเฉพาะการกำหนดชุดเครื่องแบบทหารสไตล์นโปเลียน และสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม เขาคลั่งไคล้ความเป็นนโปเลียนมากถึงขั้นสั่งทำมงกุฎจำลองของนโปเลียนให้ตัวเอง และคิดว่าตนเองเป็น “นโปเลียนแห่งอเมริกาใต้” อยู่เสมอ สังเกตได้จากการแต่งเครื่องแบบทหารเต็มยศ เพื่อว่าราชการและพบปะประชาชน 

ชาร์ลส์ เอ. วอชเบิร์น (Charles A. Washburn) ข้าราชการและอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำกรุงอะซุนซิออง ระหว่างปี 1861-1868 อธิบายลักษณะการแต่งกายของฟรานซิสโกไว้ว่า

“โดยส่วนตัวข้าพเจ้าแล้ว เขาเตี้ยและล่ำสัน ส่วนสูงประมาณ 5 ฟุต 4 นิ้ว (ประมาณ 162 เซนติเมตร) …แต่งตัวอย่างพิสดาร แต่เครื่องแต่งกายของเขามักมีราคาแพงและตกแต่งอย่างประณีต…” [1]

นำปารากวัยสู้กับสามพันธมิตร 

ฟรานซิสโกเป็นผู้นำที่ทะเยอทยาน ต้องการทำให้ปารากวัยเป็นมหาอำนาจในอเมริกาใต้ ซึ่งมีคู่แข่งเป็นชาติมหาอำนาจอย่าง บราซิล และ อาร์เจนตินา เป็นตัวกีดขวาง เขาจึงตกลงเป็นพันธมิตรกับ อุรุกวัย เพื่อรวมประเทศขนาดเล็กในอเมริกาใต้เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อทัดทานชาติมหาอำนาจ

แต่บราซิลไม่พอใจกับพันธมิตรปารากวัย-อุรุกวัย จึงเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองในอุรุกวัย โดยสนับสนุนการกบฏในปี 1863 ตามด้วยการรุกรานอุรุกวัยในปี 1864 ทำให้ฟรานซิสโกซึ่งมั่นใจในฝีมือการรบของตนเองตัดสินใจประกาศสงครามกับบราซิลในเดือนธันวาคม 1864 โดยเริ่มรุกรานทางใต้ของบราซิลและส่งกองทัพช่วยเหลืออุรุกวัย 

กองทัพปารากวัยต้องเดินทัพผ่านดินแดนอาร์เจนตินา แต่ บาร์โธโลมิว มิเตอร์ (Bartolomé Miter) ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ไม่อนุญาตให้ผ่านพรมแดน ทำให้วันที่ 13 เมษายน ปี 1865 ฟรานซิสโกจึงประกาศสงครามกับอาร์เจนตินา ส่งกองทัพเข้ารุกรานอย่างรวดเร็วจนได้รับชัยชนะ พร้อมกับรุกคืบเข้ายึดพื้นที่เพื่อเคลื่อนทัพไปช่วยเหลืออุรุกวัย ทำให้บราซิลและอาร์เจนตินาที่แม้ไม่ค่อยถูกกัน ก็หันมาร่วมมือกันสู้กับปารากวัย

ด้านอุรุกวัย บราซิลส่งกองทัพเข้าไปโค่นล้มรัฐบาลเก่า และตั้ง เวนันซิโอ ฟลอเรส (Venancio Flores) เป็นประธานาธิบดีอุรุกวัยคนใหม่ ทำให้อุรุกวัยกลายเป็นพันธมิตรของบราซิลและอาร์เจนตินา ทั้ง 3 ประเทศลงนามใน “สนธิสัญญาสามพันธมิตร” (Treaty of the Triple Alliance) ในวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 1865 รวมพลังกันทำสงครามกับปารากวัย จนกว่ารัฐบาลปารากวัยจะถูกโค่นล้ม 

ฟรานซิสโกซึ่งเชื่อมั่นในตนเองว่าจะสามารถชนะในทุกสมรภูมิดังเช่นนโปเลียน จึงนำกองทัพปารากวัยทำสงครามกับกองทัพสามพันธมิตร สงครามในครั้งนั้นจึงมีชื่อเรียกว่า “สงครามสามพันธมิตร” (Triple Alliance War) หรือ “สงครามปารากวัย” (Paraguayan War) 

พังพินาศไม่มีชิ้นดี

ความคลั่งไคล้ในตัวนโปเลียนของฟรานซิสโกไม่ได้ช่วยให้กองทัพปารากวัยได้ชัยชนะ เพราะสมรภูมิส่วนใหญ่จบลงด้วยความปราชัย ทหารปารากวัยบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จนเรียกได้ว่า เป็นสงครามที่นองเลือดมากสุดในอเมริกาใต้

ดินแดนของปารากวัยถูกกองทัพสามพันธมิตรยึดครองมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับปี 1870 ปารากวัยต้องเผชิญกับโรคระบาดและความหิวโหย แต่ฟรานซิสโกยังคงดื้อรั้นนำปารากวัยต่อสู้กับกองทัพสามพันธมิตรต่อไป ท้ายสุด กรุงอะซุนซิออง เมืองหลวงถูกตีแตก ฟรานซิสโกตัดสินใจนำทหารกว่า 200 นายไปจังหวัดเชอโร โครา (Cerro Cora) ทางตอนเหนือของประเทศ และเข้าป่าทำสงครามกองโจรกับกองทัพบราซิล 

จนกระทั่งในวันที่ 1 มีนาคม ปี 1870 ระหว่างการต่อสู้ ฟรานซิสโกถูกหอกแทงที่ท้อง และมีแผลถูกฟันที่ศีรษะ เขาจึงต้องหนีออกมาด้วยสภาพอันน่าเวทนา แต่ยังไม่ยอมแพ้ หอบสังขารตัวเองวิ่งถือดาบประจันหน้ากับกองทัพบราซิล พร้อมตะโกนว่า “ข้าตายเพื่อชาติของข้า!”  ก่อนจะถูกยิงจนถึงแก่อสัญกรรม ปิดฉากชีวิตนโปเลียนแห่งอเมริกาใต้ 

ฟรานซิสโก โซลาโน โลเปซ
ฟรานซิสโก โซลาโน โลเปซ

การตายของฟรานซิสโกเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามปารากวัย ซึ่งยืดเยื้อยาวนานเกือบ 6 ปี กองทัพสามพันธมิตรได้รับชัยชัยชนะ ปารากวัยพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ และต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล พร้อมกับเสียดินแดนกว่า 40% ให้บราซิลและอาร์เจนตินา สงครามนี้ยังทำให้ชาวปารากวัยล้มตายจากการรบ โรคระบาด และภาวะอดอยากอาหารอีกจำนวนมาก ก่อนสงครามปารากวัยมีประชากรประมาณ 525,000 คน แต่ในปี 1971 หลังสงครามสิ้นสุด เหลือประชากรเพียง 221,000 คน จำนวนนี้เป็นชายเพียง 28,000 คนเท่านั้น เพราะช่วงสงครามประชากรชายส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร

แม้ฟรานซิสโกจะนำประเทศสู่สงครามและพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ แต่กลับได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำที่ยอมสละชีพเพื่อชาติบ้านเมือง รัฐบาลปารากวัยจัดให้วันที่ 1 มีนาคม ซึ่งเป็นวันอสัญกรรมของฟรานซิสโกเป็น “วันวีรบุรุษ” (Dia de los Heroes) เพื่อรำลึกถึงการเสียสละอันยิ่งใหญ่ของเขา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] Charles A. Washburn. The History of Paraguay: With Notes of Personal Observations, and Reminiscences of Diplomacy under Difficulties Vol. 2, Bod Third Party Titles,48.

อ้างอิง :

“4.1 the Paraguayan War | Brazil: Five Centuries of Change.”. Brown University Library. Online. n.d. Accessed July 25, 2023. <https://library.brown.edu/create/fivecenturiesofchange/4-1-the-paraguayan-war>

Charles A. Washburn. The History of Paraguay: With Notes of Personal Observations and Reminiscences of Diplomacy under Difficulties Vol. 2, Bod Third Party Titles.

Costa, William. “Paraguay Still Haunted by Cataclysmic War That Nearly Wiped It off the Map.” The Guardian. Online. Published 28 February 2020. Accessed 25 July 2023. <https://www.theguardian.com/world/2020/feb/27/paraguay-war-of-the-triple-alliance-anniversary>

“War of the Triple Alliance | South American History. Encyclopedia Britannica. Online. n.d. Accessed 25 July 2023 <https://www.britannica.com/event/War-of-the-Triple-Alliance>

“Francisco Solano López | Dictator of Paraguay.”. Encyclopedia Britannica. Online. n.d. Accessed 25 July 2023. <https://www.britannica.com/biography/Francisco-Solano-Lopez>

“Francisco Solano Lopez: Who Was This South American Napoleon?” The Collector. Online. Published 11 December 2021. Accessed 25 July 2023. <https://www.thecollector.com/francisco-solano-lopez-paraguayan-war/>.

Whigham, Thomas, Author. The road to Armageddon: Paraguay versus the Triple Alliance, -70. [Calgary, Alberta, Canada: University of Calgary Press, ©, 2017] Pdf.  Accessed 25 July 2023. <https://www.loc.gov/item/2019667225/.>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566