“สงครามฟุตบอล” ฮอนดูรัส-เอลซัลวาดอร์ เปิดฉากรบ 100 ชั่วโมง ชนวนเหตุจากเกมลูกหนัง

นักฟุตบอลทีมชาติเอลซัลวาดอร์ การแข่งขันฟุตบอลโลก 1970 ประเทศเม็กซิโก
นักฟุตบอลทีมชาติเอลซัลวาดอร์ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1970 ที่ประเทศเม็กซิโก (ภาพจาก Wikimedia Commons)

“สงครามฟุตบอล” ที่ใช้เวลาสู้รบกันราว 100 ชั่วโมง เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอเมริกากลางระหว่างประเทศฮอนดูรัสกับเอลซัลวาดอร์ในปี 1969 ที่นอกจากจะถูกปูทางด้วยบรรยากาศร้อนระอุทางการเมือง ยังเสริมด้วยชนวนสำคัญอย่าง “ฟุตบอล” 

อเมริกากลาง เป็นภูมิภาคหนึ่งที่เผด็จการทหารครองอำนาจอย่างยาวนาน เพราะตั้งแต่ประเทศต่างๆ ได้รับเอกราชจากสเปนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้นำเผด็จการทั้งหลายก็ตั้งตนเองเป็นผู้นำประเทศ เอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องและอภิสิทธิ์ชน กดขี่ข่มเหงคนรากหญ้าที่ไม่มีทางสู้ 

ต่อมา สหรัฐอเมริกาเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในภูมิภาค โดยเฉพาะบริษัทผลไม้ “ยูไนเต็ด ฟรุ้ต” (United Fruit Company) ที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินในแถบอเมริกากลาง เพื่อปลูกกล้วยหอมป้อนตลาดสหรัฐฯ ทำให้กล้วยหอมกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของฮอนดูรัส 

รัฐบาลเผด็จการทหารฮอนดูรัสไม่กล้าต่อรองอันใด เพราะการค้ากล้วยหอมสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทำให้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 เป็นต้นมา ยูไนเต็ด ฟรุ้ต มีบทบาทมากขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ขณะเดียวกัน ยูไนเต็ด ฟรุ้ต ก็ร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ หนุนเผด็จการทหารให้ยังคงเรืองอำนาจ นับเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน ทำให้ฮอนดูรัสเป็นประเทศในกลุ่มอเมริกากลางที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าที่ดิน ทหาร ล้วนได้ประโยชน์จากสหรัฐฯ ส่วนคนรากหญ้า ชาวนา ชาวไร่ ลูกจ้างแรงงาน ทำได้เพียงอดทนเท่านั้น 

แม้ฮอนดูรัสจะพยายามสร้างกระบวนการประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 1948 และผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งก็ดำเนินนโยบายเอาใจคนรากหญ้า เช่น สวัสดิการแรงงาน แต่กลับไม่ถูกใจสหรัฐฯ เพราะดูเป็นคอมมูนิสต์มากเกินไป รัฐบาลสหรัฐฯ จึงหนุนให้ทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลประชาธิปไตยในปี 1963 โดยมี นายพล ออสวัลโด โลเปซ อาเรยาโน (Oswaldo López Arellano) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

อาเรยาโนต้องเผชิญความวุ่นวายทางการเมือง เพราะแม้จะจัดการเลือกตั้งในปี 1965 เพื่อชุบตัวเป็นประชาธิปไตยและได้รับชัยชนะ แต่ก็ถูกชาวฮอนดูรัสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส และได้รับเงินสนับสนุนจากยูไนเต็ด ฟรุ้ต ประกอบกับสภาพเศษฐกิจของฮอนดูรัสที่ย่ำแย่ ทุกอย่างดูเลวร้ายลงเรื่อย ๆ 

อาเรยาโนจึงใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจจากประชาชน ด้วยกาสร้างศัตรูรายใหม่ของประเทศ คือ ผู้อพยพชาวเอลซัลวาดอร์!

เอลซัลวาดอร์ ประเทศเพื่อนบ้านของฮอนดูรัส มีพื้นที่ประมาณ 21,040 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรหนาแน่นคือประมาณ 3.7 ล้านคน เทียบกับฮอนดูรัสซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 112,492 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรเพียง 2.6 ล้านคน 

ปี 1960 ปัญหาประชากรหนาแน่นและความยากจน ผลักให้ชาวเอลซัลวาดอร์บางส่วน โดยเฉพาะชาวนาซึ่งมีปัญหาพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอ ตัดสินใจอพยพเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายในฮอนดูรัสมากถึง 300,000 คน ทำให้อาเรยาโนกล่าวโทษชาวเอลซัลวาดอร์อพยพว่าเป็นพวกเข้ามาแย่งที่ดินและแย่งงานชาวฮอนดูรัส ทำให้ชาวฮอนดูรัสโกรธแค้นชาวเอลซัลวาดอร์อพยพ 

อาเรยาโนผ่านร่างกฎหมายที่ดินฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ในปี 1967 ให้อำนาจรัฐบาลกลางและเทศบาลท้องถิ่นริบที่ดินของชาวเอลซัลวาดอร์ นำมาแจกจ่ายให้ชาวฮอนดูรัส และเนรเทศชาวเอลซัลวาดอร์กลับประเทศ

ฟิเดล ซานเชส เฮอร์นันเดซ (Fidel Sánchez Hernández) ประธานาธิบดีเผด็จการทหารเอลซัลวาดอร์ ไม่พอใจที่ฮอนดูรัสขับไล่ชาวเอลซัลวาดอร์ออกนอกประเทศ จึงประท้วงฮอนดูรัสด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม แต่ความจริงคือ เอลซัลวาดอร์แออัดมากพออยู่แล้ว ไม่สามารถรองรับผู้อพยพจำนวนมากให้กลับบ้านได้

เมื่อชาวฮอนดูรัสหัวรุนแรงเริ่มลงไม้ลงมือทำร้ายและข่มขู่ชาวเอลซัลวาดอร์ที่ยังอาศัยอยู่ในฮอนดูรัส ชาวเอลซัลวาดอร์ก็ยิ่งโกรธชาวฮอนดูรัสมากขึ้น บรรยากาศชายแดนเริ่มตึงเครียด และฟางเส้นสุดท้ายคือ “ฟุตบอล”

การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1970 ที่ประเทศเม็กซิโก เป็นครั้งแรกที่จัดฟุตบอลโลกนอกทวีปยุโรปและอเมริกาใต้ เปิดโอกาสให้ชาติต่าง ๆ ในโซนคอนคาเคฟ (อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน) ชิงตั๋วไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

12 ประเทศในโซนคอนคาเคฟส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันรอบคัดเลือกที่แบ่งเป็น 3 รอบ รอบแรกเป็นรอบแบ่งกลุ่ม จำนวน 4 กลุ่ม กลุ่มละ 3 ทีม แข่งขันแบบเหย้า-เยือน คัดอันดับ 1 ของแต่ละกลุ่มเข้าสู่รอบ 2 เพื่อหา 2 ทีมเข้าไปรอบที่ 3 ชิงตั๋วไปเตะฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่เม็กซิโก

ฮอนดูรัสและเอลซัลวาดอร์ผ่านเข้ารอบแรกในฐานะอันดับ 1 ของกลุ่ม และทั้งคู่ก็ต้องมาเจอกันในรอบ 2 ซึ่งทั้งสองทีมต้องดวลฝีเท้ากัน 3 นัด 

นัดแรกจัดขึ้นวันที่ 8 มิถุนายน ปี 1969 ที่ฮอนดูรัส คืนก่อนแข่งขันชาวฮอนดูรัสรวมตัวกันนอกโรงแรมที่นักเตะเอลซัลวาดอร์พัก เพื่อสร้างเสียงรบกวน เช่น ทำเสียงดังโครมคราม ขว้างปาข้าวของใส่โรงแรม ไม่ให้นักเตะเอลซัลวาดอร์ได้พักผ่อนเต็มที่ ผลการแข่งขันนัดนั้น ฮอนดูรัสชนะเอลซัลวาดอร์ไป 1-0

อาเมเลีย โบลาญอส (Amelia Bolaños) แฟนบอลสาวชาวเอลซัลวาดอร์ ซึ่งดูการแข่งขันผ่านโทรทัศน์ที่บ้าน เสียใจกับผลการแข่งขัน จึงตัดสินใจหยิบปืนยิงตัวเองเสียชีวิต

ความตายของโบลาญอสถูกรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ปลุกระดมประชาชนให้โกรธแค้นฮอนดูรัส มีการถ่ายทอดสดพิธีศพไปทั่วประเทศ มีประธานาธิบดีและนักเตะทีมชาติเอลซัลวาดอร์เข้าร่วม รัฐบาลได้สรรเสริญเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้โบลาญอสกลายเป็นวีรสตรีของชาติ 

การแข่งขันนัดที่ 2 วันที่ 15 มิถุนายน ปี 1969 ที่เอลซัลวาดอร์ นักฟุตบอลชาวฮอนดูรัสโดนก่อกวนหนัก ไม่ได้หลับได้นอน เพราะชาวเอลซัลวาดอร์ปาข้าวของใส่จนกระจกโรงแรมแตก แถมยังโยนของเน่าเหม็นเข้าห้องพักนักเตะ รุ่งขึ้นทีมชาติฮอนดูรัสต้องเดินทางไปสนามแข่งขันด้วยรถหุ้มเกราะของทหารเอลซัลวาดอร์ และเห็นว่าฝ่ายจัดการแข่งขันนำผ้าขี้ริ้วมาใช้แทนธงชาติฮอนดูรัส  

ทีมชาติฮอนดูรัสแพ้เจ้าบ้านอย่างย่อยยับ 0-3 แฟนบอลทีมเยือนจึงหันไปรัวหมัดใส่แฟนบอลเอลซัลวาดอร์ไม่ยั้ง เกิดความโกลาหลไปทั่วสนาม นักเตะฮอนดูรัสต้องนั่งรถกันกระสุนกลับที่พัก และตกเป็นเป้าให้ชาวเอลซัลวาดอร์กระหน่ำปาข้าวของใส่อย่างเอาเป็นเอาตาย

ชาวฮอนดูรัสที่โกรธแค้นกับผลการแข่งขันที่พ่ายแพ้ และเห็นความโหดร้ายป่าเถื่อนของชาวเอลซัลวาดอร์ จึงเริ่มคุกคามชาวเอลซัลวาดอร์ในฮอนดูรัสมากขึ้น มีการขับไล่และเผาบ้านเรือนเพื่อระบายอารมณ์ ชาวเอลซัลวาดอร์จึงต้องหนีหัวซุกหัวซุนกลับบ้านเกิด

ตามกติกาการแข่งขันฟุตบอลสมัยนั้นที่ยังไม่มีการนับผลรวมประตูทั้ง 2 นัด หรือกฎประตูทีมเยือน (Away Goal) หากผลการแข่งขันออกมาเหมือนกันทั้ง 2 นัด จะต้องมีการแข่งตัดสินนัดที่ 3 ในสนามกลาง ซึ่งคู่นี้ต้องดวลแข้งกันที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ในวันที่ 26 มิถุนายน ปี 1969  

ทั้งสองทีมเสมอกันในเวลาปกติ 90 นาที 2-2 จนต้องต่อเวลาพิเศษ ท้ายสุดเอลซัลวาดอร์ได้ประตูชัย เอาชนะไป 3-2 เขี่ยฮอนดูรัสตกรอบ 

บอลแพ้คนไม่แพ้ ชาวฮอนดูรัสเอาคืนชาวเอลซัลวาดอร์อย่างแสนสาหัส การทำร้ายร่างกายและเผาบ้านเรือนลุกลามไปทั่ว รัฐบาลเอลซัลวาดอร์หมดความอดทนกับรัฐบาลฮอนดูรัสที่เพิกเฉยกับเหตุการณ์นี้ต่อไปไม่ได้ จึงประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูต ตามด้วยการประกาศสงครามกับฮอนดูรัส ในวันที่ 14 กรกฎาคม 1969 และเริ่มเปิดฉากโจมตีฮอนดูรัสทันที

สงครามฟุตบอล (Football War) หรือ สงครามร้อยชั่วโมงจึงเริ่มต้นขึ้น!

เอลซัลวาดอร์เปิดศึกโจมตีทางอากาศทำลายฐานทัพอากาศฮอนดูรัส และบุกทางบกด้วยทหารราบและรถถัง สามารถรุกคืบอย่างรวดเร็วจนเข้าใกล้กรุงเตกูซิกัลปา เมืองหลวงของฮอนดูรัส ทำให้องค์กรนานารัฐอเมริกัน (Organization of American States-OAS) หวั่นวิตกว่าสงครามอาจบานปลาย จึงขอเจรจากับรัฐบาลเอลซัลวาดอร์แต่ถูกปฏิเสธ

เมื่อกองทัพอากาศฮอนดูรัสฟื้นตัวหลังถูกโจมตีสายฟ้าแลบ ประกอบกับได้รับความช่วยเหลือจากนิการากัว ประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ที่ส่งอาวุธยุทโปกรณ์มาให้ ฮอนดูรัสจึงเปิดฉากตอบโต้ด้วยการตัดท่อน้ำเลี้ยงสายส่งกำลังบำรุงของเอลซัลวาดอร์ ทำให้การบุกต้องหยุดชะงัก 

ฮอนดูรัสร้องเรียนต่อ OAS ให้เข้ามาช่วยหยุดเอลซัลวาดอร์ OAS จึงขอเจรจากับเอลซัลวาดอร์อีกครั้ง ในที่สุด สงครามที่กินเวลาราว 100 ชั่วโมงก็ยุติลง เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปี 1969 และเมื่อฮอนดูรัสการันตีความปลอดภัยของชาวเอลซัลวาดอร์ที่ยังเหลืออยู่ในฮอนดูรัส และ OAS เข้ามากดดันทางเศรษฐกิจ เอลซัลวาดอร์จึงยอมถอนกำลังทหารทั้งหมดกลับประเทศในวันที่ 2 สิงหาคม 1969

สงครามฟุตบอล ทำให้ฮอนดูรัสสูญเสียทหารและประชาชนราว 2,000 ราย ส่วนผู้นำฮอนดูรัสตัวต้นเรื่องอย่างอาเรยาโน ก็มีเรื่องอื้อฉาวในการเอื้อผลประโยชน์ให้ยูไนเต็ด ฟรุ้ต และถูกกองทัพฮอนดูรัสทำรัฐประหารในปี 1975 ส่วนเอลซัลวาดอร์ที่ต้องแบกรับผู้อพยพก็เกิดวิกฤติทางสังคม ซึ่งรัฐบาลทหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองตั้งแต่ปี 1979 และยืดเยื้อยาวนานถึงปี 1992

ต่อมาในวันที่ 30 ตุลาคม ปี 1980 ทั้งสองประเทศได้ลงนามในสัญญาสันติภาพ เป็นการปิดฉาก “สงครามฟุตบอล” อย่างเป็นทางการ

ส่วนผลงานของนักฟุตบอลทีมชาติเอลซัลวาดอร์ที่ฝ่าด่านฮอนดูรัสได้ ก็สามารถเอาชนะเฮติ คว้าตั๋วไปเตะฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ผลงานของเอลซัลวาดอร์ในฟุตบอลโลกไม่ดีนัก เพราะแพ้รวด 3 นัด สกอร์รวมเป็นศูนย์ ยิงประตูทีมไหนไม่ได้เลย ท้ายสุดจึงต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

www.fifa.com/fifaplus/en/articles/1970-fifa-world-cup-when-el-salvador-made-central-american-history

www.britannica.com/place/El-Salvador/Military-dictatorships#ref468021

www.bbc.com/news/world-latin-america-48673853

www.theguardian.com/football/2007/feb/21/theknowledge.sport

www.nytimes.com/1975/05/16/archives/united-brands-bribe-linked-to-honduran-honduran-official-named-in.html

www.independent.co.uk/sport/football/world-cup/world-cup-2018-1970-el-salvador-honduras-100-hour-war-amelia-bolanios-a8407721.html

historyofsoccer.info/the-football-war?expand_article=1


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2566