“ใบพลู” พืชที่ชาวสยามใช้ทั่วบ้านทั่วเมือง เคยจะถูกชาวจีนเก็บภาษี แต่ ร.4 ทรงห้าม?!

ใบพลู เชี่ยนหมาก
ใบพลู และเชี่ยนหมากถมทองลาย 12 นักษัตร ตลับรูปฟักทองเป็นเงินกะไหล่ทองลงยาสีเขียว หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ประทานให้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

“ใบพลู” เป็นพืชพันธุ์ชนิดหนึ่งที่ชาวสยามมักใช้ในชีวิตประจำวัน จนชาวจีนเคยร่วมมือกับข้าราชการฝ่ายในฝ่ายนอกยื่นขอเก็บ “ภาษีใบพลู” ต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ

ในสมัยก่อน การเก็บภาษีส่วนใหญ่มักจะให้เอกชนเป็นผู้เก็บภาษีแบบผูกขาด โดยเอกชนจะกำหนดให้รัฐบาลสยามทราบว่าจะให้ภาษีในหนึ่งปีเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ และถ้าหากว่าเก็บแล้วได้จำนวนเงินเกินที่กำหนดไว้กับรัฐ เงินภาษีดังกล่าวก็จะเป็นของเอกชนทันที

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้มีกลุ่มชาวจีนที่สนิทสนมกับขุนนางฝ่ายในฝ่ายนอก ยุยงให้กลุ่มข้าราชการเหล่านี้กราบทูลต่อพระเจ้าแผ่นดินว่า ชาวจีนต้องการเก็บภาษีใบพลู ทั้งใบพลูสด ใบพลูแห้ง และใบพลูนาบ

แต่รัชกาลที่ 4 ทรงคัดค้าน และให้เหตุผลว่า ทั้งหมดนี้จะเป็นเหตุทำให้ใบพลูมีราคาแพงขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ทั้งยังกระทบต่อชาวสวนปลูกพลู และขณะนั้นสยามเก็บสมพัตสรของใบพลูอยู่แล้ว ซึ่งเป็นอากรพืชสวนประเภทหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องเก็บภาษีใบพลูเพิ่มอีก

แม้ต่อมา ข้าราชการจะพยายามกราบทูลเรื่องภาษีใบพลู ถึง 6-7 หน แต่รัชกาลที่ 4 ก็ยังคงทรงคัดค้าน

จนในที่สุดพระองค์ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า “อย่าให้จีนผู้หนึ่งผู้ใดคิดอ่านว่าจะทำภาษีพลู ว่ากล่าวก่อเหตุให้ชาวสวนพลูแลราษฎรซึ่งอดพลูไม่ได้ต้องซื้อพลูกินได้ความสะดุ้งสะเทือนไปเลย แล้วอย่าให้ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน นำเรื่องราวขอทำภาษีพลู ยิ่งกว่าสมพัตสรตามอย่างเก่าขึ้นกราบทูลซ้ำซากต่อไปเลย ไม่โปรด แล้วให้มีแต่สมพัตสรอยู่ตามเดิม…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

“ภาษีพลู” ในห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ https://vajirayana.org/ศาลไทยในอดีต


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566