ตำนานใบพลู “เสียบอวัยวะเพศ” ไม้เด็ดพระนางจามเทวี เรื่องกระแสรองที่อาจเลือนหาย

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จังหวัดลำพูน

บทความ “ตำนานพระนางจามเทวีมี 2 versions : ฤาจะเป็นโศกนาฏกรรมของตำนานที่ห้ามถกเถียง” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556 โดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้เล่าถึงตำนานที่มีอยู่ 2 สำนวนหลักของพระนางจามเทวี ซึ่งตำนานหนึ่งอาจถูกกลืนกินให้เหลือเพียงเรื่องเล่าหลักเพียงเรื่องเดียว ด้วยการประกาศให้ “ตำนานพระนางจามเทวี” เป็นมรดกที่จับต้องไม่ได้

ตำนานทั้ง 2 สำนวนมีเนื้อหาที่ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ เนื่องจากสำนวนหนึ่งเขียนโดยผู้ชนะ และอีกสำนวนเขียนขึ้นโดยผู้แพ้ ซึ่งพิพัฒน์ตั้งข้อสงสัยว่า ผู้เสนอให้ตำนานพระนางจามเทวีเป็นมรดกที่จับต้องไม่ได้ อาจไม่รู้ว่าตำนานของพระนางมีอยู่สองสำนวน ซึ่งการขึ้นทะเบียนสำนวนใดสำนวนหนึ่งย่อมกระทบต่อการคงอยู่ของตำนานอีกสำนวน

จากข้อมูลของพิพัฒน์ ตำนานเวอร์ชั่นแรกปรากฏอยู่ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา และตำนานจามเทวีวงศ์ เขียนขึ้นโดยพระภิกษุล้านนา เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ต่อต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งอธิบายว่า พระนางจามเทวีเสด็จมาจากละโว้ ตามคำเชิญของฤษีวาสุเทพ เพื่อขึ้นมาปกครองเมืองหริภุญชัย ขุนหลวงวิลังคะซึ่งเป็นกษัตริย์ของชาวลัวะ/เลอเวือะ ที่ในตำนานของคนเมือง/คนไทยเรืกว่า “มิลักขะ” แปลว่า คนป่าเถื่อน ต้องการพระนางจามเทวีมาเป็นมเหสี แต่นางปฏิเสธ เพราะผู้นำชนพื้นเมือง “รูปชั่วตัวดำ”

ด้วยเหตุนี้ทั้งสองฝ่ายจึงใช้ฤทธิ์เดช กลอุบายเข้าห่ำหั่นกันเป็นเวลานาน 7 ปี ก่อนที่ขุนหลวงวิลังคะจะยกทัพมาตี พระนางจามเทวีจึงให้โอรสยกกองทัพออกไปสู้ด้วยช้าง และได้ชัยชนะขับไล่กองทัพของขุนหลวงวิลักคะได้สำเร็จ

อนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะ ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองก๊ะ จังหวัดเชียงใหม่
อนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะ ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองก๊ะ จังหวัดเชียงใหม่

ส่วนเวอร์ชั่นที่ 2 ปรากฏอยู่ในความทรงจำของชาวลัวะที่ถือกันว่า ขุนหลวงวิลังคะเป็นวีรบุรุษในตำนาน มีการสร้างอนุสาวรีย์ให้ผู้นำชาวลัวะผู้นี้ในหลายแห่ง โดยตำนานของชาวลัวะอ้างว่า ขุนหลวงวิลังคะต้องพ่ายแพ้ให้กับพระนางจามเทวีด้วยวิธีการ “สกปรก” เนื่องจากพระนางใช้ “ประจำเดือน” เพื่อทำลายวิชาอาคมของขุนหลวงวิลังคะซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่ไม่ปรากฏในเรื่องเล่าเวอร์ชั่นแรก

นอกจากนี้ พิพัฒน์อ้างว่า “แม่อุ๊ยบางคน เช่น นางนวล ดอยคำ เล่าถึงขั้นว่า พระนางจามเทวีเอาใบพลุ ‘จิ่หี’ (สอดเข้าไปในอวัยวะเพศหญิง) แล้วเอาใบพลูส่งให้ขุนหลวงวิลังคะกิน ทำให้ปัจจุบันชาวลัวะแทบทุกหมู่บ้านมีธรรมเนียมว่า ถ้าจะกินใบพลูต้องเด็ดปลายทิ้งเสียก่อน และจะไม่เดินเหยียบน้ำหมาก เพราะถือเป็นเลือดประจำเดือน”

พิพัฒน์กล่าวว่า การจะบอกว่า ตำนานสำนวนใดจะถูกต้องกว่ากันคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากตำนานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรล้วนเขียนขึ้นหลักเหตุการณ์หลายร้อยปี และหากส่วนกลางจะปฏิเสธตำนานในสำนวนของชาวลัวะก็อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นได้ อีกทั้งประวัติศาสตร์บอกเล่าก็มิได้เป็นสมบัติของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ทั้งนี้ กฎหมายว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าสุดท้ายการคุ้มครองมรดกดังกล่าวจะออกมาในลักษณะใด และจะมีบทบังคับ “ห้ามการดัดแปลง” ตำนานที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างที่พิพัฒน์ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้หรือไม่


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 22 มกราคม 2560