“อิเมลดา มาร์กอส” อดีตสตรีหมายเลข 1 ฟิลิปปินส์ ถลุงภาษีประชาชน 3 เดือน 4.5 ล้านเหรียญ!

เฟอร์ดินาน มาร์กอส อิเมลดา มาร์กอส ลินดอน บี. จอห์นสัน นั่งคุยกัน
President Ferdinand Marcos and his wife Imelda meet with President Lyndon B. Johnson in Manila.

เมื่อพูดถึง “ฟิลิปปินส์” ประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุกคนคงมีอะไรให้นึกถึงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยสดงดงาม หรือวัฒนธรรมแสนล้ำค่า แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องราวของการเมืองนั้น ที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ “ตระกูลมาร์กอส” โดยเฉพาะ “อิเมลดา มาร์กอส” (Imelda Marcos) อดีตสตรีหมายเลข 1 ผู้ซื้อรองเท้า 3,000 คู่จากภาษีประชาชน!

อิเมลดา มาร์กอส เป็นลูกสาวของ วิเซนเต โรมูอัลเดซ (Vicente Romualdez) กับภรรยาคนที่ 2 เรเมดิออส โรมูอัลเดซ (Remedios Romualdez) เธอเกิดที่เมืองซานมิเกล กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 1929 ชีวิตของอิเมลดาในตอนแรกเรียกได้ว่าไม่สวยหรูนัก แม้ว่าพ่อจะฐานะดี แต่เพราะเธอไม่ได้เป็นลูกสาวจากภรรยาแรก และเมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจในฟิลิปปินส์ความอู้ฟู่ก็ได้จางหายไป ทำให้ครอบครัวต้องย้ายถิ่นฐานจากมะนิลาไปยังทาโคลบัน

ชีวิตวัยเด็กของอิเมลดานั้นเรียบง่าย เธอชื่นชอบการเต้นจังหวะรุมบ้าและหนังของอิงกริด เบิร์กแมน นักแสดงสาวชาวสวีเดน ส่วนเรื่องความสวยงามเรียกได้ว่าเป็นที่เลื่องลือ เพราะช่วงมัธยมอิเมลดาได้รับฉายาว่า “กุหลาบแห่งทาโคลบัน” เนื่องจากรูปร่างหน้าตาอันสวยสดงดงาม อีกทั้งเธอเคยประกวดนางงามเวทีท้องถิ่นในปี 1949 และได้รับรางวัลชนะเลิศ 

หลังเรียนจบ “กุหลาบแห่งทาโคลบัน” ได้ทำงานมากมายตามที่คนรู้จักแนะนำ หนึ่งในนั้นคือ ประกวดเวทีนางงามอย่าง Miss Manila Beauty Pageant ซึ่งทำให้เธอเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

แต่สิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล คือการพบกับ “เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส” นักการเมืองหนุ่มไฟแรงมากความสามารถในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1954 

เพียง 11 วันเท่านั้น ทั้งคู่ก็แต่งงานแบบสายฟ้าแลบ อิเมลดาคอยอยู่เบื้องหลัง ผลักดันสามีของตนเองในสนามการเมือง ใช้เสน่ห์และความสวยของตนเองให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้คนทั้งประเทศหันมาสนใจสามีและเทคะแนนให้ ประจวบเหมาะกับเฟอร์ดินานด์ที่มีภาษีด้านงานการเมืองมายาวนาน และมีความสามารถเต็มเปี่ยม ทุกอย่างผสมลงตัวเป็นอย่างดี จึงทำให้ทุกอย่างไม่พลิกโผ

เฟอร์ดินานด์ชนะการเลือกตั้งในปี 1965 กลายมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ 

ในช่วงแรกเฟอร์ดินานด์ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งนโยบายหาเสียงที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโต ซึ่งเขาทำได้ เพราะเฟอร์ดินานด์ในฐานะประธานาธิบดีสั่งให้มีการสร้างอาคาร โครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ ก่อรายได้ให้คนในประเทศ 

ส่วนภรรยาสุดสวยก็คอยทำหน้าที่ทูตเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะงานเล็กหรือใหญ่ สตรีหมายเลข 1 คนนี้ก็พร้อมแสตนด์บาย (แม้จะไม่ได้ถูกรับเชิญ) เช่น ปรากฏตัวในงานพิธีสาบานเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของริชาร์ด นิกสัน หรืองานสาบานตนของประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ 

รวมถึงรับตำแหน่งทางการเมืองในฟิลิปปินส์ เช่น ผู้ว่าการกรุงมะนิลา พ่วงด้วยการเป็นประธานคณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ทำให้ใครต่อใครมองว่าทั้งคู่คือคู่รักที่สวรรค์ทรงโปรด

เมื่อเป็นเช่นนี้ เฟอร์ดินานด์จึงได้ดำรงตำแหน่งประธาธิบดีสมัยที่ 2 ท่ามกลางความเชื่อมั่นของประชาชน

แต่ทุกอย่างกลับตาลปัตร เสรีภาพและการเติบโตในทิศทางที่ดีของประเทศดูเหมือนจะดิ่งลงเหว เพราะประธานาธิบดีสมัยที่ 2 คนนี้กลับมีท่าทีเปลี่ยนไป เริ่มปกครองประเทศในรูปแบบเผด็จการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิของสื่อหรือประชาชน จนไปถึงการออก “กฎหมายอัยการศึก” ในปี 1972 เฟอร์ดินานด์ให้เหตุผลว่าที่ต้องทำเช่นนี้เพราะมีผลมาจากภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการประท้วงแยกดินแดน 

การออกกฎหมายดังกล่าวทำให้ประธานาบดี 2 สมัยคนนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ 

ทว่าแทนที่จะได้ใช้ “กฎหมายอัยการศึก” เพื่อความสงบสุข เฟอร์ดินานด์กลับใช้มันเพื่อแก้รัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์พวกพ้อง และใช้ปิดปากสื่อจำนวนมาก

ความไม่พอใจปะทุในภาคประชาชนคนทั่วไป บวกกับความเบื่อหน่ายอำนาจอันยาวนานของเฟอร์ดินานด์ จนทำให้กลุ่มนักศึกษาและชาวฟิลิปปินส์มากมายเริ่มออกมาประท้วง

สื่อเริ่มขุดคุ้ยให้เห็นถึงการใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายของครอบครัวมาร์กอส โดยเฉพาะ “อิเมลดา” สตรีหมายเลข 1 ที่มีหลักฐานว่ายักยอกภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายในต่างประเทศอย่างอู้ฟู่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินซื้อของแบรนด์เนม กระทั่งใช้ในชีวิตประจำวัน

อย่างที่ CIA ได้เคยรายงานถึงเงินจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มีการทุจริตมาจากภาษีประชาชนว่า อิเมลดาได้ใช้มันไปในงานครบรอบวันแต่งงาน โดยอดีตสตรีหมายเลข 1 นำเงินไปถลุงกับผ้าคลุมหน้าสีขาวประดับเพชรที่มีการประเมินว่าน่าจะมีราคาอย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงมีการจัดปาร์ตี้โดยจ้างวงดนตรีมะนิลาซิมโฟนีออร์เคสตราถึงรุ่งเช้า

ความฉาวยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะยังมีการรายงานว่าขณะที่เธอไปเยือนนิวยอร์กในปี 1977 ได้ใช้เงินไปถึง 193,320 ดอลลาร์สหรัฐกับของเก่า รวมถึงจ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับร้านเครื่องประดับหรูหราหลายแห่ง เช่น ซื้อสร้อยข้อมือทองคำขาวและมรกตของ Bulgari จนหมดเงินไปทั้งสิ้น 2,181,000 ดอลลาร์สหรัฐ 

หากให้นับเงินที่เสียไปจากการชอปปิงเพียง 3 เดือนก็น่าจะราว 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งยังมีข่าวลือที่ว่ารองเท้าในคลังทั้งหมดของเธอนั้นมีประมาณ 3,000 คู่ แม้ว่าตอนหลังจะมีการแก้ข่าวจากสำนักข่าว Time ว่าจากการตรวจสอบครั้งสุดท้ายมีเพียง 1,060 คู่ และจากสัมภาษณ์ของอิเมลดาเองก็ตอบว่ามีเพียง 1,060 คู่ แต่ทั้งหมดนี้ก็มาจากภาษีประชาชน

รวมไปถึงการบริหารประเทศของเฟอร์ดินานด์ที่เรียกได้ว่าทำฟิลิปปินส์เข้าสู่วิกฤต เพราะมีหนี้สินจำนวนมากจนเรียกว่ามากที่สุดในเอเชียขณะนั้น

ด้วยความหรูหราฟู่ฟ่าของผู้นำที่แตกต่างจากความเป็นอยู่ของชาวฟิลิปปินส์ราวฟ้ากับเหว ทำให้เกิดการประท้วงและต่อต้านอำนาจสกปรกของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และตระกูลนี้หนักขึ้นเรื่อย ๆ 

แม้ประธานาธิบดีคนดังกล่าวจะพยายามยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แต่ทุกอย่างก็สายไป เพราะประชาชนและทหารได้รวมตัวกันประท้วง จนเกิดเหตุการณ์ “การปฏิวัติเอ็ดซา” (EDSA Revolution) หรือ “การปฏิวัติสีเหลือง” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อสู้ระหว่างชาวฟิลิปปินส์กับทหารของรัฐบาล กระทั่งมีผู้เสียชีวิตมากมาย 

ท้ายที่สุด ครอบครัวมาร์กอสต้องอพยพไปอยู่รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางความปิติยินดีของประชาชนที่หวังว่าจะได้ความสงบกลับคืน ชัยชนะและเสรีภาพได้กลับมาสู่มือของประชาชนอีกครั้ง ก่อนที่ปี 1989 เฟอร์ดินานด์จะเสียชีวิตที่ฮาวาย ทำให้ภรรยาอย่าง “อิเมลดา” หมายมั่นว่าจะกลับมาเหยียบฟิลิปปินส์อีกครั้ง 

เมื่อกลับมายังบ้านเกิด ทั้งยังทิ้งความโหดร้ายไว้ให้แก่ประชาชน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงตัดสินใจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอิเมลดาในฐานะข้อหาทุจริต 

แต่เนื่องจากการฟ้องร้องนั้นวุ่นวายอย่างมาก เพราะแม้จะมีการสั่งฟ้อง แต่ก็ถูกยกฟ้องอยู่หลายครั้ง ทำให้อิเมลดาใช้ช่องโหว่ตรงนี้ในการกลับเข้าสู่เส้นทางทางการเมือง และหวังชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ค.ศ. 1992 แต่ก็พ่ายให้กับฟิเดล รามอส

อย่างไรก็ตามในปี 1998 ศาลก็ตัดสินให้อดีตสตรีหมายเลข 1 คนนี้รอดคดี แม้ในเวลาต่อมาจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นอีก แต่อิเมลดาก็รอดไปได้อยู่เสมอ

วันเวลาผ่านไป “ตระกูลมาร์กอส” ดูเหมือนจะสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองในฟิลิปปินส์ และประเทศคงจะเดินหน้าต่อไปโดยไร้นามสกุลนี้ที่เคยมีอำนาจยาวนานถึง 20 ปี 

แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบัน “ตระกูลมาร์กอส” ก็ยังโลดแล่นอยู่ในวงการการเมือง และลูกชายสุดที่รักของเธอ “บองบอง มาร์กอส” ก็เพิ่งชนะการเลือกตั้งในปี 2022 อย่างถล่มทลายแบบแลนด์สไลด์ และกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 17 ของฟิลิปปินส์ เหมือนไม่เคยมีเหตุการณ์ก่อนหน้าเกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.britannica.com/biography/Imelda-Marcos

https://www.encyclopedia.com/women/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/marcos-imelda-1929

www.silpa-mag.com/history/article_70227%20

www.silpa-mag.com/history/article_86712

https://www.thepeople.co/read/23907

https://www.vice.com/en/article/59n8ab/what-ever-happened-imelda-marcos-3000-pairs-shoes-philippines


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566