ส่องประวัติ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส “จอมเผด็จการ” พ่อของว่าที่ปธน.คนใหม่ของฟิลิปปินส์

ภาพบองบอง มาร์กอส (Bongbong Marcos) กำลังให้ลายเซ็นบนรูปภาพของบิดา คือ เฟอร์ดินาน มาร์กอส (Ferdinand Marcos) (PHILIPPINE-MARCOS JUNIOR / AFP)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศฟิลิปปินส์ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ผลปรากฏออกมาอย่างไม่เป็นทางการว่า บองบอง มาร์กอส (Bongbong Marcos) บุตรชายคนเดียวของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และอีเมลดา มาร์กอส มีคะแนนนำคู่แข่งอย่างถล่มทลาย

ผลคะแนนการเลือกตั้งเช่นนี้ได้ทำให้ บองบอง มาร์กอส กลายเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ ซึ่งหากสืบประวัติของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะพบว่า พ่อของเขาคือ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เคยทรงอิทธิพลที่สุด และถูกตีตราว่าเป็นจอมเผด็จการแห่งฟิลิปปินส์ โดยในบทความนี้จะพาไปย้อนรอยประวัติของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) เกิดที่เมืองซาร์รัต (Sarrat) ประเทศฟิลิปปินส์ มาร์กอสเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนในกรุงมะนิลา และศึกษาต่อทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ เขาเริ่มทำงานเป็นทนายความในกรุงมะนิลา

ต่อมาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาร์กอสเข้าไปเป็นทหารของกองทัพฟิลิปปินส์ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลของการเข้าร่วมกองทัพกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มาร์กอสได้รับการสนับสนุนในเส้นทางการเมือง

ในช่วง พ.ศ. 2489-2490 มาร์กอสเป็นผู้ช่วยของ มานูเอล โรซาส (Manuel Roxas) ประธานาธิบดีคนแรกของฟิลิปปินส์หลังได้รับเอกราช และมาร์กอสได้เข้ารับดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2492-2502 และเป็นสมาชิกวุฒิสภาฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2502-2508

ต่อมา มาร์กอสสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ใน พ.ศ. 2508 ซึ่งเขาสามารถทำให้ประเทศฟิลิปปินส์เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ในช่วงที่เขาเริ่มดำรงตำแหน่งในสมัยแรก โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการศึกษา

ใน พ.ศ. 2512 เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง โดยมาร์กอสกลายเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีติดต่อกัน 2 สมัย แต่การดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2 ของมาร์กอสต้องประสบกับการเดินขบวนต่อต้านของนักศึกษา และการก่อความวุ่นวายในเมืองเพื่อประท้วงการทำงานของมาร์กอส

ภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ และการประท้วงแยกดินแดน ได้ทำให้มาร์กอสประกาศกฏอัยการศึกที่ทำให้ ประธานาธิบดีมีอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยมาร์กอสกำจัดนักการเมืองฝ่ายค้าน และผู้ก่อความไม่สงบภายในประเทศ การประกาศกฎอัยการศึกทำให้มาร์กอสถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

มาร์กอสประกาศยุติกฎอัยการศึกในเดือนมกราคม พ.ศ. 2524 แต่เขายังคงซ่อนอำนาจแบบเผด็จการไว้ในกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ

ก่อนที่มาร์กอสจะหมดวาระในสมัยที่สอง เขาให้รัฐสภาแก้กฎหมายใหม่ให้ตรงกับความต้องการของเขา ทำให้มาร์กอสสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้โดยไม่มีกำหนด นอกจากนี้ เขายังจำกัดเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงข้าม กำจัดฝ่ายค้านทางการเมือง มุสลิม ผู้ที่มีพฤติการณ์เป็นคอมมิวนิสต์ รวมถึงประชาชนในประเทศ

ภรรยาของมาร์กอส คือ อีเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) อดีตนางงาม เธอได้กลายมาเป็นผู้ทรงอำนาจทางการเมืองหลังจากมีกฎอัยการศึก อีเมลดา มาร์กอส มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ความร่ำรวย และการแต่งตั้งญาติของเธอให้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล

ถึงแม้ว่าการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจของมาร์กอส จะมีอำนาจแบบเผด็จการที่สามารถแต่งตั้งพรรคพวกตัวเองหรือกำจัดศัตรูฝ่ายตรงข้ามได้ แต่อำนาจของมาร์กอสก็มาถึงจุดเสื่อม จากการที่รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชันทำให้เกิดความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซาลง ผนวกกับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ตามเกาะและชนบทต่างๆ ในประเทศ ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านมาร์กอส

พอถึง พ.ศ. 2526 สุขภาพของมาร์กอสเริ่มเสื่อมลง และการต่อต้านการปกครองของเขาก็เพิ่มมากขึ้น ผนวกกับการลอบสังหารผู้นำฝ่ายค้าน เบนิกโน อากีโน จูเนียร์ (Benigno Aquino, Jr.) การลอบสังหารครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นผลงานของรัฐบาลส่งผลให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่

ความขัดแย้งภายในประเทศโดยเฉพาะในกองทัพของผู้สนับสนุนและไม่สนับสนุนมาร์กอส สิ้นสุดลงเมื่อมาร์กอสหนีออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 และลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับว่าเป็นการปิดฉากการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนที่ 10

การได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งของ บองบอง มาร์กอส เป็นที่น่าสนใจและติดตามต่อไปว่า เขาจะนำบทเรียนในสมัยที่พ่อของเขามาเรียนรู้ได้มากน้อยแค่ไหน และตระกูลการเมืองมาร์กอสจะกลับมาทรงอิทธิพลในฟิลิปปินส์อีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าติดตามดูต่อไป

 


อ้างอิง :

Britannica. Ferdinand Marcos ruler of Philippines. เข้าถึงได้จาก https://www.britannica.com/biography/Ferdinand-E-Marcos


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565