ผู้เขียน | ธงชัย อัชฌายกชาติ |
---|---|
เผยแพร่ |
“นอร์มังดี” เป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่ยกพลขึ้นบกวัน D-day ในปี 1944 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เพื่อการปลดปล่อยยุโรป โดยฝ่ายสัมพันธมิตร แต่รู้หรือไม่? เมื่อพันปีก่อนก็มีการยกพลขึ้นบกครั้งใหญ่ ที่ทำให้ดินแดนแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า “นอร์มังดี”
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ชาวนอร์สไวกิ้งรุกรานไปทั่วอาณาบริเวณชายฝั่งของยุโรป พื้นที่ของอาณาจักรแห่งแฟรงก์ซึ่งเป็นฝรั่งเศสในปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในจุดที่ถูกรุกรานบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นการรุกรานแบบบุกปล้นแล้วล่องเรือกลับ
ตั้งแต่ปี 845 เหล่าชาวนอร์สก็สามารถรุกคืบเข้ามาถึงแผ่นดินตอนในจนถึงเมืองปารีส และเคยมีกรณีที่ทำสงครามปิดล้อมในปี 885-886 ซึ่งชาวนอร์สก็ได้รับชัยชนะทุกครั้ง แต่ก็ไม่ได้ยึดเพื่อปกครอง เป็นเพียงการปล้นสะดม และรับสินบนจำนวนมากเพื่อจบการสงครามเท่านั้น
การรุกรานเพื่อปล้นสะดมของชาวนอร์สยิ่งตอกย้ำปัญหาความมั่นคงภายในของอาณาจักรแห่งแฟรงก์ จนทำให้เกิดสนธิสัญญาเซนต์แคลร์ซูเอปต์ (Treaty of St. Clair-sur-Epte) ในปี 911 ซึ่งเป็นการยกแผ่นดินในเมืองรูอ็องและปากแม่น้ำแซน (ซึ่งเป็นทางที่ชาวนอร์สเคยใช้เดินทางผ่านแม่น้ำสายนี้บุกเข้ามาจนถึงเมืองปารีส) ให้แก่ โรลโล (Rollo) หรือ โฮรลลุฟ (Hrólfr) ในภาษานอร์ส ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มนักรบซึ่งแยกตัวเป็นเอกเทศจากราชาชาวนอร์สแห่งนอร์เวย์
โรลโลและพรรคพวกจำนวนมากจึงย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยในบริเวณนี้ ทั้งยังรับเอาภาษา วัฒนธรรม และศาสนาของชาวแฟรงก์มาใช้อีกด้วย ภายหลังดินแดนนี้จึงถูกเรียกต่อ ๆ กันมาว่า “นอร์มังดี” มาจากคำว่า “นอร์แมน” (Norman) หรือ “นอร์สแมน” (Norse man) นั่นเอง
การทำสนธิสัญญามอบดินแดนให้แก่ชาวนอร์สกลุ่มนี้ ในแง่หนึ่งเป็นไปเพื่อเสริมความมั่นคงของอาณาจักรแฟรงก์ โดยปากแม่น้ำแซนเป็นทางเข้าออกของการรุกรานในหลาย ๆ ครั้ง การมีกลุ่มนักรบมากความสามารถและประสบการณ์มาอยู่อาศัยบริเวณนี้ ก็เสมือนสร้างแนวป้องกันการรุกรานอีกด้วย นอกจากนี้ โรลโลและพรรคพวกก็ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกษัตริย์แห่งไวกิ้ง ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการแทรกแซงทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม นอร์มังดีก็มิได้มีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแฟรงก์เสียทีเดียว ลูกหลานของโรลโลขยายอาณาเขตและอำนาจ ทั้งผ่านการทำสงคราม และการทำสัญญาต่าง ๆ จนในทางปฏิบัติ นอร์มังดีก็มิได้อยู่ใต้อำนาจของกษัตริย์แฟรงก์แต่อย่างใด
ในยุคต่อมา วิลเลียมที่ 2 (William II) ดยุคแห่งนอร์มังดี มีศักดิ์เป็นหลานห่าง ๆ ของโรลโล ได้ขยายอาณาเขตของนอร์มังดีออกไปไกลมากขึ้น จนในปี 1066 หลังราชาเอ็ดเวิร์ดแห่งอังกฤษ (Edward, King of England) สิ้นพระชนม์ นำมาสู่สงครามแย่งชิงบัลลังก์อังกฤษระหว่าง 3 ฝ่าย ได้แก่ ฮาราลด์ที่ 3 ราชาแห่งนอร์เวย์ (Harald III, King of Norway), ฮาราลด์ที่ 2 เอิร์ลแห่งเวสเซ็ก (Harald II, Earl of Wessex) และวิลเลียมที่ 2 ดยุคแห่งนอร์มังดี
วิลเลียมที่ 2 ช่วงชิงโอกาสในจังหวะที่เอิร์ลแห่งเวสเซ็กกำลังอ่อนแอจากการรบกับราชาแห่งนอร์เวย์ จึงบุกเข้าโจมตี และยึดเกาะอังกฤษมาอยู่ใต้อำนาจของตน จากนั้นสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์วิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ (William I of England) หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม “วิลเลียม ผู้พิชิต” (William the Conqueror) นั่นเอง
เมื่อวิลเลียม ผู้พิชิต สิ้นชีพ ก็เกิดการต่อสู้แย่งชิงบัลลังก์ระหว่างพี่น้อง ซึ่งจบลงโดยการที่นอร์มังดีตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของ เฮนรีที่ 1 (Henry I) กษัตริย์อังกฤษที่มีเชื้อสายไวกิ้ง เป็นเวลาราวๆ 40 ปี ก่อนที่จะตกไปอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิแอนเจอวิน (Angevin Empire)
นอร์มังดีเป็นเป้าหมายของการยึดดินแดนคืนของกษัตริย์แห่งแฟรงก์เสมอมา จนกระทั่งปี 1259 ฝรั่งเศสจึงได้ดินแดนคืนผ่านสนธิสัญญาแห่งปารีส แต่ก็สูญเสียนอร์มังดีให้อังกฤษอีกครั้งในสงครามร้อยปี และสามารถปกครองนอร์มังดีอย่างถาวรได้หลังการต่อสู้ที่ฟอร์มิกนี่ (Battle of Formigny) ในปี 1450
นอร์มังดีเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ ครั้งหนึ่งเป็นอาณาจักรของชาวนอร์ส ครั้งหนึ่งเป็นดินแดนของอังกฤษ และท้ายที่สุดเป็นดินแดนของฝรั่งเศส ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่เกิดจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน สรรค์สร้างความพิเศษให้แก่ “นอร์มังดี” ดินแดนที่ได้นามจากผู้รุกรานชาวนอร์ส
อ่านเพิ่มเติม :
- นักรบสาวชาวนอร์ส “ไวกิ้ง” ไม่ได้มีแค่ผู้ชาย
- “รัสเซีย” ถูกเรียกว่าดินแดนแห่งสลาฟ แต่ชื่อประเทศเป็นภาษาไวกิ้ง!!
- การปิดล้อมที่ดันเคิร์ก (Dunkirk) เยอรมันที่เคยปิดล้อมอังกฤษ-ฝรั่งเศส กลับโดนล้อมเสียเอง
อ้างอิง :
“Normandy | History, Geography, & Points of Interest | Britannica”, 6 มิถุนายน 2023. https://www.britannica.com/place/Normandy.
Normandy Tourism, France. “Discover Normandy in France”. สืบค้น 20 มิถุนายน 2023. https://en.normandie-tourisme.fr/discover/.
“Rollo | Duke of Normandy | Britannica”, 18 มิถุนายน 2023. https://www.britannica.com/biography/Rollo-duke-of-Normandy.
“William I | Biography, Reign, Achievements, Facts, & Death | Britannica”, 12 มิถุนายน 2023. https://www.britannica.com/biography/William-I-king-of-England.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2566