“ห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ” แนวคิดรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อจีนหลังการปฏิวัติ

ห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ สาธารณรัฐจีน
ธงสาธารณรัฐจีน ระหว่างปี 1912-1928 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ในปัจจุบัน ประเทศจีนใช้ธงพื้นสีแดงและดาวสีเหลือง 5 ดวง เป็น ธงชาติ หมายถึง ความเป็นหนึ่งเดียวของชาวจีนทั้งประเทศภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งความพยายามในการรวบรวมผู้คนหลายชาติพันธุ์ในแผ่นดินจีนไม่เพียงปรากฏในจีนยุคคอมมิวนิสต์เท่านั้น แต่ยังเคยปรากฏให้เห็นในยุค สาธารณรัฐจีน ยุคแรก (ค.ศ. 1912-1928) บนผืนธง “ห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ” 

จากความเสื่อมถอยของราชวงศ์ชิง ซึ่งปกครองประเทศด้วยความล้มเหลว ซุน ยัตเซ็น ผู้นำสมาคมถงเหมิงฮุ่ย ขบวนการชาตินิยม ผู้พยายามเผยแพร่อุดมการณ์ให้กับชาวจีนทั้งภายในประเทศและชาวจีนโพ้นทะเลให้สนับสนุนการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง ส่งผลทำให้เกิด “การลุกขึ้นสู้ที่หวู่ชาง” ในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 และทำให้พื้นที่อื่น ๆ ของจีนต่างลุกฮือต่อต้านอำนาจราชวงศ์ชิงอย่างต่อเนื่อง

เหตุการณ์ข้างต้นนำไปสู่ “การปฏิวัติซินไฮ่” ใน ค.ศ. 1911 และการสถาปนา สาธารณรัฐจีน เมื่อ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 โดยมีเมืองนานกิงเป็นเมืองหลวงชั่วคราว และ ซุน ยัตเซ็น ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ

การปกครองของสาธารณรัฐจีน ภายใต้เจตนารมณ์ ซุน ยัตเซ็น คือ การปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชน ทว่า ประชาชนสำหรับ ซุน ยัตเซ็น ไม่ใช่เพียงแค่ ชาวฮั่น ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชากรทั้ง 56 ชาติพันธุ์ในแผ่นดินจีน และซุน ยัตเซ็น ต้องการให้แผ่นดินจีนที่มีผู้คนหลายชาติพันธุ์สามารถอยู่ร่วมกันภายใต้ระบอบสาธารณรัฐอย่างเป็นเอกภาพและมีสันติสุข

รัฐบาลสาธารณรัฐจีนจึงประกาศใช้ธง “ห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ” เป็นธงชาติเมื่อ 10 มกราคม ค.ศ. 1912

ลักษณะของธงเป็นธงแถบแนวนอน 5 สี สะท้อนหลักคิดความเสมอภาคของชนชาติต่าง ๆ 5 ชนชาติใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์จีน โดยสีแดง หมายถึง ชาวฮั่น, สีเหลือง หมายถึง ชาวแมนจู, สีน้ำเงิน หมายถึง ชาวมองโกล, สีขาว หมายถึง ชาวมุสลิม และสีดำ หมายถึง ชาวทิเบต 

แต่หลังการสถาปนาสาธารณรัฐจีน ประเทศยังไม่เป็นเอกภาพ ซุน ยัตเซ็น พยายามเจรจาโดยสันติวิธีกับฝ่ายราชสำนักผ่าน หยวนซื่อไข่ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ากองทัพเป่ยหยาง ซึ่ง ซุน ยัตเซ็น ยอมเสนอเงื่อนไขให้หยวนซื่อไข่ชักจูงจักรพรรดิผู่อี้ให้ยอมสละราชสมบัติ แลกกับตำแหน่งประธานาธิบดี

หยวนซื่อไข่จึงหักหลังราชสำนัก บีบให้จักรพรรดิผู่อี้สละราชสมบัติเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 การสละราชสมบัติครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของคณะปฏิวัติที่สถาปนาการปกครองในระบอบสาธารณรัฐขึ้นในจีนได้สำเร็จ

ความชอบธรรมของสาธารณรัฐจีนในฐานะรัฐสืบทอดอำนาจต่อจากราชวงศ์ชิงและแนวคิด “ห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ” ซึ่งยังคงให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในจีน ทำให้สาธารณรัฐจีนสามารถปกครองแผ่นดินจีนซึ่งครอบคลุมพื้นที่จงหยวนของชาวฮั่น แมนจูเรียของชาวแมนจู มองโกเลียของชาวมองโกล ซินเจียงของชาวอุยกูร์ (มุสลิม) และธิเบตของชาวธิเบต ซึ่งดินแดนเหล่านี้ล้วนเป็นดินแดนที่ราชวงศ์ชิงเคยปกครอง

เมื่อ ซุน ยัตเซ็น มอบอำนาจให้ หยวนซื่อไข่ ได้เป็นประธานาธิบดี หยวนซื่อไข่จึงสามารถตั้งรัฐบาลเป่ยหยาง โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงปักกิ่ง แต่ละเลยต่อหลักการของสาธารณรัฐตามเจตนารมณ์ของ ซุน ยัตเซ็น หยวนซื่อไข่ยังตั้งตนเป็นจักรพรรดิ และเปลี่ยนประเทศเป็น “จักรวรรดิจีน” ใน ค.ศ. 1915 ด้วย

การกระทำของหยวนซื่อไข่ทำให้แผ่นดินจีนเกิดความวุ่นวาย เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านทั่วแผ่นดินจักรวรรดิจีนของหยวนชื่อไข่ดำรงอยู่ได้ไม่นาน เพราะจักรพรรดิผู้ทรยศประชาชนได้เสียชีวิตใน ค.ศ. 1916 ถือเป็นการปิดฉากของระบอบจักรพรรดิของจีนอย่างถาวร

ภายหลังการตายของหยวนซื่อไข่ บรรดาขุนศึกทั่วแผ่นดินได้ประกาศตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาลเป่ยหยาง ทำให้ประเทศจีนเข้าสู่ยุคแห่งความแตกแยกที่เรียกว่า “ยุคขุนศึก”

พรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของ เจียง ไคเชก ซึ่งมีเจตนารมณ์รวมแผ่นดินจีนอีกครั้ง ได้จัดตั้งกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน ยกทัพรุกขึ้นภาคเหนือเพื่อปราบปรามเหล่าขุนศึก รวมประเทศจีนให้เป็นหนึ่งเดียวได้อีกครั้งใน ค.ศ. 1928 ถือเป็นการยุติความโกลาหลของยุคขุนศึก

เจียง ไคเชก ตั้งรัฐบาลใหม่แทนรัฐบาลเป่ยหยาง และย้ายเมืองหลวงมาที่กรุงนานกิง พร้อมประกาศให้ธง “ท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง ปฐพีแดง แผ่นดินอุดม” ธงผืนสีแดง ที่มีดวงอาทิตย์เปล่งรัศมีบนสีน้ำเงิน ซึ่งได้รับต้นแบบจากสัญลักษณ์ของพรรคก๊กมินตั๋ง เป็นธงชาติของ สาธารณรัฐจีน อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1928

ธง “ห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ” จึงถูกใช้งานเป็นธงชาติของประเทศจีนแค่ 16 ปี แม้ธงผืนนี้จะเป็นแนวคิดชาตินิยมในการหลอมชาติพันธุ์หลักทั้ง 5 ในแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่งเดียวตามเจตนารมณ์ของซุน ยัตเซ็น บิดาแห่งการปฏิวัติจีน แต่ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า ประเทศจีนภายใต้ธงผืนนี้กลับเป็นสิ่งตรงข้ามกับเจตนารมณ์ดังกล่าว เพราะประเทศจีนในสาธารณรัฐยุคแรกล้วนเต็มไปด้วยปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทำให้แนวคิดการสร้างชาติของ ซุน ยัตเซ็น ผ่านธงชาติผืนนี้ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ปรารถนา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์. (2565). ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : เสริมวิทย์บรรณาคาร.

ทวีป วรดิลก. (2547). ประวัติศาสตร์จีน. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2566