หมอ ซุนยัตเซ็น-เช เกวารา-เหล็ง ศรีจันทร์-ฯลฯ ลุกขึ้นปฏิวัติ

จากซ้าย เช เกวารา, ซุนยัตเซ็น, เหล็ง ศรีจันทร์

ซุนยัตเซ็น (ค.ศ. 1866-1925) เกิดในมณฑลกวางตุ้งของจีน เมื่ออายุ 12 ปี ออกเดินทางกับมารดาไปอยู่กับพี่ชายที่เมืองฮาวาย ที่นั่นนอกจากช่วยงานพี่ชาย เขายังได้มีโอกาสศึกษาและเห็นโลกกว้าง ทำให้หวนคิดถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมจีน ปี 1883 เมื่อซุนยัตเซ็นกลับประเทศจีนจึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาบ้านเกิดตน เขาพยายามปลุกระดมชาวบ้านให้เกิดสำนึกที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมโจมตีอำนาจมืด, ขุนนางชั่ว, ประเพณีอันล้าหลังงมงาย จนเกิดเป็นเรื่องวุ่นวายและทำให้ชาวบ้านโกรธแค้นอย่างมาก บิดาจึงส่งตัวเขาไปศึกษาต่อที่ฮ่องกง ซุนยัตเซ็นเข้าศึกษาในวิทยาลัยการแพทย์ตะวันตกของฮ่องกงจนจบ และถูกขนานนามว่า ดร.ซุนยัตเซ็น

อาชีพแพทย์ทำให้ซุนยัตเซ็นรับรู้ความทุกข์ของผู้คนที่มาให้รักษา ที่ต่างเป็นคนยากจน ไม่มีอนาคตในสังคมที่สิ้นหวัง การปกครองภายของราชสำนักชิงทำให้จีนก้าวไม่ทันความเจริญและการเปลี่ยนแปลงของโลก เขาเริ่มตระหนักว่าไม่ใช่แต่ร่างกายเท่านั้นที่ต้องการการรักษา ยังต้องรักษาความคิดและจิตใจของคนอีกด้วย ซึ่งประเทศจีนตอนนั้นก็เปรียบเสมือนคนป่วยคนหนึ่ง

ซุนยัตเซ็นจึงเริ่มบทบทของ “นักปฏิวัติ” และเป็นผู้นำในการ “การปฏิวัติซินไฮ่” โค่นล้มราชวงศ์ชิงลง ทำให้ระบอบการเมืองในรูปแบบศักดินาเผด็จการที่อยู่คู่กับประเทศจีนมาเป็นเวลายาวนานถึงกว่า 2,000 ปีสิ้นสุดลง

“หมอเหล็ง” หรือ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) (ค.ศ. 1882-1959/ พ.ศ. 2425-2502) เกิดที่ตำบลบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ธนบุรี สำเร็จวิชาแพทย์จากโรงเรียนแพทยาลัยในศิริราชพยาบาล จากนั้นก็เข้ารับราชการเป็นนายแพทย์ในกองทัพ จนได้ยศร้อยเอก (ค.ศ. 1908/พ.ศ. 2452) และได้บรรดาศักดิ์เป็นขุนทวยหาญพิทักษ์ (ค.ศ. 1909/พ.ศ. 2453) และยังเป็นแพทย์ส่วนพระองค์ของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

ต้นๆ เดือนมกราคม ร.ศ. 130 (ค.ศ. 1911/ พ.ศ. 2454) ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ และร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ไปพบหมอเหล็ง เพื่อเล่าถึงความประสงค์ของพวกเขา และเชิญมาเป็นหัวหน้าของกลุ่ม ซึ่งหมอเหล็งก็ตอบตกลงเข้า และบ้านของหมอเหล็งที่ถนนสาทร จึงเป็นที่ประชุมคณะพรรค ร.ศ. 130 ครั้งที่ 1

คณะปฏิวัติ ร.ศ. 130 จึงมี “หมอ” เป็น “หัวหน้า” เหมือนคณะปฏิวัติจีน มีหมอซุนยัตเซ็น

พ.ต.หลวงวิฆเนศประสิทธิวิทย์ (อัทย์ หะสิตะเวช) (ค.ศ. 1874-2506/ พ.ศ. 2417-2506) นักเรียนแพทย์เลขประจำตัวหมายเลข 1 ของราชแพทยาลัย เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของพระอาจวิทยาคม (นพ. ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์) นอกจากการรักษาผู้ป่วยแล้ว อัทย์ยังมีส่วนร่วมในการผลิตวัคซีนขึ้นครั้งแรกในไทย เมื่อกระทรวงธรรมการส่งพระบำบัดสรรพ (นพ. แฮนส์ อดัมเสน) โรคแพทย์ใหญ่ผู้ตรวจการในกรมพยาบาลและหมออัทย์-แพทย์ผู้ช่วยไปศึกษาวิธีผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดสัตว์พาหนะที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1903/ พ.ศ. 2446 ซึ่งทั้งสองท่านได้ไปเห็นวิธีการผลิต “พันธุ์บุพโพไข้ทรพิษ” จึงได้ศึกษาวิธีการผลิตมาด้วยจนนำมาสู่การจัดตั้งสถานผลิตวัคซีนขึ้นครั้งแรกในไทย

ค.ศ. 1911/ พ.ศ. 2454 นอกหมอเหล็ง อัทย์เป็น “หมอ” อีกท่านที่เข้าร่วมการปฏิวัติ ร.ศ. 130 ที่แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็น “อิฐก้อนแรก” ที่ทำให้เกิดระบบประชาธิปไตย ดังที่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์  พหลโยธิน) หัวหน้าคณะปฏิวัติ 2475 กล่าวว่า “ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม”

นอร์แมน เบทูน (ค.ศ. 1890-1939) นายแพทย์ชาวแคนาดา ผู้สนับสนุนยุคแรกของการแพทย์เพื่อสังคม เบทูนมักไปหาการักษาพยาบาลฟรีแก่ผู้ยากไร้ เขาเรียกร้องรัฐบาลแคนาดาและเพื่อนร่วมอาชีพให้ปฏิรูปบริการสุขภาพของแคนาดา

ค.ศ. 1936 เขาไปเป็นศัลยแพทย์บาดเจ็บแนวหน้าที่สนับสนุนรัฐบาลสาธารณรัฐในช่วงสงครามกลางเมืองในสเปน ค.ศ. 1938 พรรคคอมมิวนิสต์แคนาดาและสหรัฐอเมริกาส่งเบทูน แพทย์ศัลยกรรมทรวงอกชื่อดังเดินทางไปยังจีน เพื่อให้เป็นแพทย์แนวหน้าในสงครามต่อต้านญี่ปุ่น เบทูนเขียนจดหมายกล่าวลาภรรยาว่า “ผมจะไม่ยอมอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการเข่นฆ่าและโกหกโดยปราศจากการลุกขึ้นต่อสู้ ผมจะไปประเทศจีน ประเทศที่ผมสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้อย่างเต็มที่”

ที่โรงพยาบาลสนามของกองพลที่ 8 กองทัพปฏิวัติจีน ที่ขาดแคลนทั้งแพทย์ และอุปกรณ์ เบทูนยังเขียนรายงานถึงเหมาเจ๋อตุง เสนอให้สร้างโรงพยาบาลแนวหลังอย่างเป็นทางการ และได้รับการตอบรับอย่างเร่งด่วน ในการจัดสร้างโรงพยาบาลสาธิตซงเหยียนโข่วที่อู่ไถซาน ที่นี่เบทูนทำการผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตคนไข้มากกว่า 10 รายต่อวัน เพื่อแข่งกับเวลาในการรักษาแต่ละชีวิตที่ส่งมาหาเขา

แต่เมื่อสงครามมีความรุนแรงมากขึ้นเบทูนตระหนักว่า โรงพยาบาลถาวรไม่ใช่คำตอบที่ดีต่อไป เขากับคณะแพทย์จึงตัดสินใจให้บริการเคลื่อนไปตามสมรภูมิรบต่อต้านญี่ปุ่นทางภาคเหนือของจีน ช่วยรักษาและสร้างขวัญกำลังใจให้กับเหล่าทหารรบแนวหน้าได้เป็นอย่างมาก เพราะความรีบเร่งในการรักษาพยาบาลเบทูนได้รับบาดแผลที่มือ ก่อนจะติดเชื้อและเสียชีวิตในปี 1939 ที่หมู่บ้านหวงสือโข่ว มณฑลเหอเป่ย ทางการจีนจัดพิธีไว้อาลัยและบรรจุศพอย่างสมเกียรติ ปี 2009 นอร์แมน เบทูน ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน “มิตรชาวต่างชาติ 10 อันดับเเรกของจีน”

เออร์เนสโต เกวารา เดอ ลา เซอร์นา (Ernesto Guevara dela Serna) หรือ เช เกวารา (ค.ศ. 1928-1967) ครอบครัวชนชั้นกลางฐานะดี ในอาร์เจนตินา เขาเป็นนักทฤษฎีและนักวางแผนในสงครามกองโจร และเป็นคอมมิสต์ผู้โดดเด่นในการปฏิวัติคิวบา

เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาแพทย์ เกวาราและเพื่อนท่องเที่ยวไปทั่วอเมริกาใต้ ด้วยรถจักรยานยนต์เมื่อปี 1951 นั่นทำให้เขาได้เห็นและหันมาสนใจปัญหาทางสังคมในหลายพื้นที่ ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้เกวาราอุทิศตนให้กับอุดมการณ์มาร์กซิสต์

เกวาราเดินทางไปยังเม็กซิโกและได้พบกับ ฟิเดลและราอูล คาสโตร ซึ่งหลบหนีคดีการเมือง เกวาราได้เป็นมือขวาที่คาสโตรไว้วางใจ และทำงานจนสามารถปฏิวัติยึดอำนาจในคิวบาสำเร็จ แต่หลังเดือนเมษายน 1965 เกวาราลาออกจากตำแหน่งในคณะรัฐบาลคิวบา เดินทางไปคองโกเพื่อร่วมการปฏิวัติกับกองกำลังท้องถิ่น, ปี 1966 เดินทางไปโบลิเวียเพื่อสร้างหน่วยรบกองโจรต่อสู้กับกองทัพโบลิเวีย

9 ตุลาคม 1967 เกวาราถูกหน่วยรบพิเศษของโบลิเวียจับกุมและยิงเสียชีวิต ทันทีที่เกวาราเสียชีวิต เขาได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญในฐานะนักปฏิวัติผู้ได้รับความชื่นชมอย่างกว้างขวางจากกลุ่มวัยรุ่นฝ่ายซ้ายในยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือในยุค 60 ซึ่งเกิดกระแสปฏิวัติไปทั่ว

อะไรทำให้เกิด “หมอนักปฏิวัติ”

หลู่ซิ่น ชื่อจริงว่า โจวซู่เหริน (ค.ศ. 1881-1936) นักประพันธ์ที่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของจีนใหม่ เจ้าของผลงานเขียนโด่งดัง “ประวัติจริงของอาคิว” ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, ไทย ฯลฯ เมื่อหลู่ซิ่นอายุ 23 ปีได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น เขาเลือกเรียนวิชาการแพทย์ด้วยความหวังที่จะเป็นเครื่องมือ “กู้ชาติ”

แต่ภายหลังเขาก็เปลี่ยนมาศึกษาทางปรัชญาและวรรณคดี โดยให้เหตุผลว่า

“วิชาแพทย์ไม่มีความสำคัญอย่างที่คิดไว้เลย ในเมื่อประชาชนของประเทศที่อ่อนแอและล้าหลังแล้ว…ไม่ว่าจะตายลงไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บสักเพียงไรก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่น่าอนาถใจ และก็ไม่จำเป็นจะต้องถือว่าเป็นเรื่องเคราะห์กรรมอะไรเลยด้วยซ้ำไป เพราะเหตุนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงได้แก่ การเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเขา นับแต่นั้นเป็นต้นมาข้าพเจ้าก็มีความรู้สึกว่า วรรณคดีคือปัจจัยที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

“31 มีนาคม 1938 นายแพทย์นอร์แมน เบทูนเข้าร่วมสงครามต่อต้านญี่ปุ่น” จาก http://thai.cri.cn

14 มิถุนายน 1928 วันเกิด “เช เกวารา” นักปฏิวัติ, ฆาตกร, คอมมิวนิสต์, และตราสินค้ายอดนิยม

เสถียร จันทิมาธร. วิถีแห่งอำนาจ ซุนยัตเซ็น, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2562.

ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์. ปฏิวัติ ร.ศ. 130, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2556

ทวีปวร. กวีนิพนธ์หลู่ซิ่น, สำนักพิมพสุขภาพใจ, มิถุนายน 2543.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มกราคม 2566